สร้างที่อยู่อาศัยแนวใหม่ ให้ตอบโจทย์เทรนด์ Aging Society

ตั้งแต่ปี 2564 ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ คือมีสัดส่วนผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) อยู่ที่ 20% ของประชากรทั้งหมด นอกจากนี้ทางสำนักงานสถิติแห่งชาติ ยังคาดการณ์ไว้อีกว่าภายในปี 2574 ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์  

การเปลี่ยนแปลงนี้นำอะไรมาสู่สังคมของเราบ้าง? นอกจากเรื่องของการใช้ชีวิตประจำวันที่ต้องออกแบบมาให้เหมาะกับการใช้งาน กับอาหารการกินที่ต้องมีประโยชน์และสะอาดมากขึ้นแล้ว เรื่องของที่อยู่อาศัยก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพราะที่อยู่อาศัยหรือบ้านเป็นสถานที่ที่เราใช้ชีวิตและใช้เวลาพักผ่อนหลายชั่วโมงในแต่ละวัน ยิ่งในวัยสูงอายุที่ไม่ได้ออกไปทำงานข้างนอกแล้วยิ่งใช้ชีวิตอยู่ในบ้านมากขึ้น ดังนั้นการปรับพื้นที่ใช้งานภายในตลอดจนภายนอกให้สอดคล้องกับการใช้งานของผู้สูงอายุตั้งแต่วันนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสภาพแวดล้อมหรือระยะการใช้งานต่าง ๆ จะช่วยให้เรามีพื้นที่ใช้งานที่พร้อมรองรับวัยสูงอายุในอนาคตได้อย่างทันท่วงที และการสร้างที่อยู่อาศัยที่ตอบโจทย์เรื่องนี้ ยังช่วยส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้นได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ

 

ระยะใช้งานต้องเหมาะสมกับสุขภาพกาย

การเปลี่ยนแปลงข้อแรก ที่จะทำให้งานออกแบบและก่อสร้างตอบโจทย์ Aging Society คือ เรื่องของระยะการใช้งาน เพราะว่าร่างกายของผู้สูงอายุออกแรงได้น้อยลง มีระยะในการหยิบจับหรือก้าวเดินที่เปลี่ยนไป รวมไปถึงในบางคนมีการใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ เข้ามาเพิ่มเติม เช่น ไม้เท้า หรือวีลแชร์ ดังนั้นระยะการออกแบบที่เคยมี อาจจะต้องขยายใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับอุปกรณ์เหล่านี้ เช่น จากขนาดทางเดินกว้าง 1 เมตร ต้องเปลี่ยนเป็นทางเดินกว้าง 1.5 เมตร เพื่อรองรับการกลับตัวของรถวีลแชร์ หรือที่จอดรถที่เคยกว้าง 2.4 – 2.5 เมตร ต้องปรับให้กว้างอย่างน้อย 3 เมตร เพื่อให้การขึ้นลงรถ และกางอุปกรณ์ช่วยเหลือทำได้สะดวกขึ้น

นอกจากนี้ ในส่วนของงานออกแบบ ยังมีเรื่องของช่องเปิดที่ถูกปรับลดความสูงลง เพื่อให้ผู้สูงอายุมองเห็นวิวภายนอกได้ในขณะที่นั่งอยู่ และระยะบันไดที่มีความเหมาะสมมากขึ้น โดยระยะที่เหมาะกับผู้สูงอายุควรมีลูกนอนกว้าง 25 – 30 เซนติเมตร และมีลูกตั้ง 15 – 17 เซนติเมตร เป็นระยะที่ผู้สูงอายุจะเดินได้สะดวก ใช้แรงในการเดินน้อย แถมยังลดการบาดเจ็บที่ข้อเข่าด้วย เรื่องของระยะการใช้งานไม่ควรแคบเกินไปจนอึดอัด และไม่ควรกว้างเกินไปจนเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุอย่างการหกล้ม แต่ควรจะมีระยะที่ใช้งานง่าย ให้ผู้สูงอายุได้ขยับเขยื้อนร่างกายอย่างพอดีในแต่ละวัน ถือเป็นการสร้างเสริมสุขภาพที่ดีไปในตัวด้วย

 

สภาพแวดล้อมต้องพร้อมบำรุงสุขภาพใจ

Aging Society เป็นสังคมที่ผู้คนต้องการใกล้ชิดและใช้ชีวิตกับธรรมชาติมากขึ้น รวมไปถึงต้องการพบปะคนในสังคมเดียวกัน เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนหรือทำกิจกรรมที่สนใจไปด้วยกัน ซึ่งเรื่องของสภาพแวดล้อมนี้ครอบคลุมตั้งแต่ ทำเลที่ตั้ง บริบท สภาพอากาศ ไปจนถึงพื้นที่สีเขียว ทั้งหมดนี้ส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพใจ และยังส่งผลต่อสุขภาพกายในบางครั้งด้วย 

ดังนั้นการออกแบบที่อยู่อาศัยเพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพใจที่แข็งแรง จนส่งผลให้สุขภาพกายแข็งแรงตามไปด้วยนั้น จะต้องออกแบบสภาพแวดล้อมให้เหมาะต่อการอยู่อาศัย เช่น ส่วนด้านนอกอาคารทำการปลูกต้นไม้ใหญ่ใบหนา เพื่อดักฝุ่นและลดมลภาวะที่จะเข้ามา หรือการใช้น้ำเข้ามาตกแต่งเพื่อสร้างความรู้สึกสดชื่น ผ่อนคลาย ไปจนถึงการสร้างพื้นที่พบปะระหว่างเพื่อนในวัยเดียวกันและคนในวัยอื่น ๆ อย่างเช่น ศาลานั่งเล่น ลานอเนกประสงค์ ในขณะที่ภายในอาคาร ออกแบบ ตกแต่งและจัดวางองค์ประกอบที่ช่วยสร้างบรรยากาศอันผ่อนคลายการมีสภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกอาคารที่ดี จะเป็นสิ่งที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้สูงอายุและคนในวัยอื่น ๆ ที่ได้เข้ามาใช้งาน มีความสุขกายสบายใจ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

ปลอดภัยในทุกพื้นที่การใช้งาน

ข้อสุดท้ายที่ขาดไม่ได้เลยคือ ที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุจะต้องมีความปลอดภัย ยิ่งปลอดภัยได้มากเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะวัยสูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปี จะเริ่มมีสภาพร่างกายที่เสื่อมลง ไม่แข็งแรงเหมือนเดิม ป่วยง่ายขึ้น และเกิดการบาดเจ็บได้มากขึ้นด้วย ดังนั้นการออกแบบจะต้องมั่นใจว่าผู้สูงอายุจะสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย หรือหากเกิดอุบัติเหตุจะมีการบาดเจ็บที่ไม่รุนแรง หรือไม่อันตราย 

การออกแบบให้ที่อยู่อาศัยปลอดภัยนี้สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การเลือกวัสดุที่ช่วยซับพอร์ตแรงกระแทก การติดตั้งอุปกรณ์ทุ่นแรงตามจุดต่าง ๆ ทั้งราวจับในห้องน้ำหรือลิฟต์โดยสารในอาคาร รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีควบคุมระยะไกล อย่าง Smart Home เข้ามา จะช่วยให้สมาชิกในครอบครัวสามารถสอดส่องดูแลผู้สูงอายุได้ดีขึ้น ในขณะเดียวกันผู้สูงอายุก็สามารถใช้ชีวิตประจำวันด้วยตัวเองได้ง่ายและปลอดภัยขึ้นด้วย

ถึงแม้รอบตัวเราจะไม่มีผู้สูงอายุที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ และญาติผู้ใหญ่ยังสามารถใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้อย่างแข็งแรง แต่ในทุก ๆ ปีที่ผ่านไป อายุของคนเราก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เราเข้าใกล้สังคมผู้สูงอายุแบบที่ไม่ทันได้ตั้งตัว ดังนั้นการออกแบบและปรับใช้ที่อยู่อาศัยตอบโจทย์เทรนด์ Aging Society ได้ตั้งแต่วันนี้ จึงเป็นการวางแผนล่วงหน้าที่ช่วยให้ที่อยู่อาศัยของเราพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ดีที่สุด

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

http://www.constructionthailand.net/property/property-for-aging-society/

https://theurbanis.com/public-realm/17/06/2023/14637