เมื่อการใช้งานอาคารเปลี่ยนไป รวมไปถึงมีการศึกษาและสำรวจลักษณะการรับแรงของโครงสร้างอาคารตามจริง ทำให้บทบัญญัติเรื่องน้ำหนักบรรทุกในกฎกระทรวงฉบับที่ 6 ที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 ต้องอัปเดตใหม่ให้เนื้อหา ข้อบังคับต่าง ๆ ทันสมัย ละเอียดและครอบคลุมมากขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประเภทอาคารที่ถูกจัดหมวดหมู่ชัดเจน แยกย่อยตามการใช้งานมากขึ้น หรือการเพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับแรงลมที่มากระทำต่ออาคาร ไปจนถึงการทนไฟในอาคารโครงสร้างเหล็กด้วย
เป็นที่มาของการเปลี่ยนแปลงของกฎกระทรวงฉบับใหม่ เป็นฉบับปี พ.ศ.2566 นี้ จะช่วยให้วิศวกรโครงสร้างสามารถออกแบบโครงสร้างได้ตอบโจทย์การใช้งานมากขึ้น ลดความเสี่ยงที่โครงสร้างจะเกิดปัญหาจากการใช้งานที่ซับซ้อนไปตามยุคสมัยได้ ส่งผลให้อาคารมีความแข็งแรงเพียงพอ ใช้งานได้มั่นใจกว่าเดิม
กฎกระทรวงฉบับใหม่ กับการแบ่งประเภทอาคารอย่างละเอียดและเจาะจง
ในกฎกระทรวงฉบับที่ 6 พ.ศ. 2527 มีเนื้อหากำหนดลักษณะแรง ประเภท ขนาดและความสามารถในการรับแรงของวัสดุก่อสร้าง รวมไปถึงน้ำหนักบรรทุกจรสำหรับอาคารประเภทต่าง ๆ
ซึ่งเนื้อหาในส่วนของน้ำหนักบรรทุกจรนี้ในกฎกระทรวงฉบับเดิม มีการแยกประเภทไว้หลวม ๆ และอาคารบางชนิดก็ไม่ได้ถูกจัดประเภทด้วย ทำให้ในการคำนวณการรับแรงของโครงสร้างอาจเกิดการคลาดเคลื่อน หรือไม่ตรงตามการใช้งานจริงที่เกิดขึ้นได้
ยกตัวอย่างในฉบับเก่าพูดถึงพื้นที่ของสถานพยาบาลหรือโรงเรียนในภาพรวม แต่ในฉนับใหม่มีการเจาะจงลักษณะพื้นที่ลงไปเพิ่มเติม หรือในอาคารตึกแถว ห้องแถวที่แบ่งน้ำหนักบรรทุกจรตามลักษณะการใช้งานสำหรับค้าขาย เก็บของและอยู่อาศัยที่ละเอียดขึ้น
รวมไปถึงบ้านพักอาศัยที่เคยเป็นประเภทเดียวกับโรงเรียนอนุบาล ห้องน้ำ ห้องส้วม ก็ถูกแยกออกมาให้เป็นหัวข้อของตัวเองอย่างชัดเจนมากขึ้นด้วย
กฎกระทรวงฉบับใหม่ กับเกณฑ์มาตรฐานโครงสร้างที่ปลอดภัยตามความเป็นจริง
ในกฎกระทรวงฉบับใหม่ ปี 2566 นี้ไม่ได้มีเพียงแค่การจัดกลุ่มประเภทอาคารที่ละเอียดชัดเจนเท่านั้น แต่ในหลาย ๆ ประเภทยังมีการเพิ่มน้ำหนักบรรทุกจรมากขึ้นจากฉบับเดิมด้วย
เช่น บ้านพักอาศัยเปลี่ยนเกณฑ์น้ำหนักบรรทุกจรจาก 150 กก/ตร.ม. เป็น 200 กก./ตร.ม. หรือพื้นที่ให้บริการของโรงแรม อาคารชุดหรือห้องพักเปลี่ยนเกณฑ์น้ำหนักบรรทุกจรจาก 300 กก./ตร.ม. เป็น 400 กก./ตร.ม. ฯลฯ
เกณฑ์น้ำหนักบรรทุกจรที่เปลี่ยนไปนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการศึกษาและอ้างอิงจากการใช้งานในปัจจุบันของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ความนิยมในการสร้างบ้านเป็น Home Office โครงสร้างจึงต้องรับน้ำหนักทั้งการเป็นที่อยู่อาศัยและการเป็นกึ่งสำนักงาน เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการใช้งานอาคารมากยิ่งขึ้น
อีกทั้งยังมีการปรับเกณฑ์ในการรับแรงลมของอาคารด้วย จากเดิมที่กำหนดความสามารถในการรับแรงลมของอาคารในภาพรวมโดยแบ่งเป็นเพียง อาคารสูงไม่เกิน 10 ม. รับแรงลมที่ 50 กก./ตร.ม. และอาคารสูง 10 – 20 ม. รับแรงลมที่ 80 กก./ตร.ม. ในขณะที่เกณฑ์ของ กฎกระทรวงฉบับใหม่ มีการระบุชัดเจนมากขึ้น ว่าเป็นอาคารที่ตั้งอยู่ในเขตชานเมืองหรือชายฝั่ง เพราะทั้ง 2 พื้นที่นี้มีแรงลมที่มากระทำต่อโครงสร้างแตกต่างกัน
ซึ่งการที่กฎกระทรวงฉบับใหม่กำหนดเกณฑ์อย่างชัดเจน ทำให้วิศวกรโครงสร้างสามารถคำนวณรูปแบบโครงสร้างที่เหมาะสมต่อการใช้งานและสภาพที่ตั้งได้อย่างแท้จริง ทำให้อาคารแข็งแรง มีอายุใช้งานนาน ไม่มีปัญหาโครงสร้างก่อนเวลาอันควร
กฎกระทรวงฉบับใหม่ กับโครงสร้างเหล็กที่แข็งแรงเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือต้นทุนทาสีกันไฟลดลง
จากเดิมที่กฎกระทรวงฉบับเก่าได้กำหนดอัตราการทนไฟของโครงสร้างอาคารเอาไว้ในภาพรวม คือโครงสร้างหลักของอาคารสาธารณะประเภทต่างๆตามที่กำหนดในทุก ๆ ความสูงให้ทนไฟได้อย่างน้อย 3 ชม. แต่ในกฎกระทรวงฉบับปี 2566 ได้แยกรายละเอียดการทนไฟของแต่ละชั้นเพิ่มเติม
โดย ชั้น 1 – 4 จากชั้นบนสุดให้มีอัตราทนไฟอย่างน้อย 1 ชม. ชั้น 5 – 14 จากชั้นบนสุดให้มีอัตราทนไฟอย่างน้อย 2 ชม. และชั้น 15 จากชั้นบนสุด รวมถึงชั้นใต้ดินให้มีอัตราทนไฟอย่างน้อย 3 ชม. นอกจากนี้ส่วนของหลังคาและเสาคานก็มีข้อมูลกำหนดออกมาใหม่ด้วยเช่นกัน
ผลจากการเปลี่ยนแปลงอัตราทนไฟของโครงสร้างที่ละเอียดขึ้นนี้ ทำให้การทาสีกันไฟในโครงสร้างเหล็กประหยัดจากเดิมได้มากขึ้น จากเดิมที่ไม่ว่าอาคารจะสูงกี่ชั้น ทุกชั้นต้องทนไฟได้อย่างน้อย 3 ชั่วโมง เปลี่ยนแปลงมาเป็นในแต่ละชั้นมีการทนไฟมากน้อยต่างกัน ส่งผลโครงสร้างมีพื้นผิวที่ต้องทาสีกันไฟน้อยลง ต้นทุนจึงลดลงตามไปด้วย ในขณะเดียวกันโครงสร้างแข็งแรงเช่นเดิม
การศึกษาข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไปของกฎกระทรวงฉบับใหม่ที่ส่งผลต่อโครงสร้างอาคารโดยตรงนี้ เป็นเรื่องสำคัญที่วิศวกรโครงสร้างจำเป็นที่จะต้องอัปเดตและนำมาใช้อ้างอิงในการออกแบบนับจากนี้ไป เพื่อให้โครงสร้างอาคารสามารถรับน้ำหนักและรับแรงกระทำตามจริงได้อย่างมั่นคง แข็งแรง ถูกต้องตามกฎหมายและให้ผู้คนใช้งานได้อย่างปลอดภัยที่สุดนั่นเอง