อาคารสีเขียวที่ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง นอกจากจะต้องเป็น Green Building ที่มีขั้นตอนในการก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงผลกระทบต่อบริบทรอบ ๆ ตามเกณฑ์การก่อสร้าง เช่น TREEs หรือ LEED แล้ว อีกหนึ่งส่วนที่ต้องให้ความสำคัญไม่แพ้กัน คือ ดีเทลการวางแผนและการออกแบบที่ต้องเอื้อต่อการใช้งานของผู้คนหรือ Well-Being ด้วย
สิ่งหนึ่งที่เราสามารถผนวกให้ทั้ง 2 ส่วนสอดคล้องกันอย่างกลมกลืน คือการเลือกใช้วัสดุที่ตอบโจทย์ได้ทั้งการก่อสร้างอาคารสีเขียวและการออกแบบพื้นที่อย่างอิสระ เช่น โครงสร้างเหล็ก ซึ่งช่วยให้การก่อสร้างเข้าเกณฑ์ประเมินทั้ง TREEs และ LEED อีกทั้งโครงสร้างเหล็กยังช่วยให้ภายในอาคารมีพื้นที่ใช้งานโปร่งโล่งและนอกกรอบมากขึ้นได้ เมื่อพื้นที่อาคารมีข้อจำกัดเรื่องโครงสร้างที่น้อยลง ดีไซน์เนอร์ก็สามารถออกแบบพื้นที่ใช้งานให้มีสภาพแวดล้อมผ่อนคลายได้ง่ายขึ้น
การวางแผนและคำนึงถึงความสำคัญของทั้ง 2 ส่วนนี้ รวมถึงการเลือกใช้วัสดุที่สอดคล้องทั้งการเป็น Green Building และสร้าง Well-Being ได้พร้อมกัน ถือเป็นแนวทางที่จะช่วยส่งเสริมให้ได้อาคารรักษ์โลกที่เป็นมิตรกับการใช้งานของผู้คนได้อย่างยั่งยืนครบทุกมุมมอง
(ที่มาภาพ Kampung Admiralty- WOHA: https://www.archdaily.com/904646/kampung-admiralty-woha?ad_medium=office_landing&ad_name=article )
อาคารสีเขียวแบบครบสูตร ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและผู้ใช้งาน
การก่อสร้างอาคารในปัจจุบันนี้ ไม่ใช่เพียงแค่สร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการในการใช้งานแล้วจบไป แต่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของผู้ใช้งานด้วย ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยเองจึงได้ตั้งเกณฑ์ประเมินการออกแบบและก่อสร้างอาคารรักษ์โลกขึ้นมาเพื่อให้การก่อสร้างอาคารลดการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวลง
โดยเราสามารถแบ่งลักษณะอาคารสีเขียวที่มีประสิทธิภาพที่ดีออกได้ 2 ส่วน ส่วนแรก คือในขั้นตอนก่อนหรือระหว่างการก่อสร้างที่เน้นไปที่ตัวอาคาร โดยจะวางแผนและจัดการทั้งวิธีการก่อสร้าง การจัดการพื้นที่ การใช้ทรัพยากรและวัสดุให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ซึ่งจะสัมพันธ์กับเกณฑ์ประเมินอาคารสีเขียว
ต่อมา คือส่วนหลังจากเปิดใช้งานอาคารแล้ว ส่วนนี้จะเกี่ยวข้องกับผู้ใช้งานโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการออกแบบเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมหรือระบบนิเวศที่เหมาะกับการใช้งาน การจัดฟังก์ชัน ระบบควบคุมและจัดการอาคารที่อำนวยความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้งาน เหล่านี้จะส่งเสริมให้เกิดการใช้งานที่เต็มประสิทธิภาพ สร้างสุขภาวะทางกายและใจของผู้ใช้งานให้แข็งแรงได้
ขั้นตอนก่อสร้างที่ต้องดีไซน์เป็น Green Building
ขั้นแรกสุดในการสร้างอาคารให้เป็นอาคารสีเขียวหรือ Green Building ต้องวางแผนตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบและก่อสร้างแล้วว่า จะจัดการพื้นที่หน้างานอย่างไร จัดการทรัพยากรอย่างไร รวมถึงข้อสำคัญ คือจะใช้วัสดุประเภทไหนในการก่อสร้างอาคาร หรือหลังก่อสร้างเสร็จแล้วมีวิธีการจัดการขยะอย่างไร เพื่อให้โครงสร้างและรายละเอียดต่าง ๆ ของอาคารตรงตามเกณฑ์อาคารเขียวที่กำหนดเอาไว้ได้ครบถ้วน ยิ่งทำได้ตรงตามเกณฑ์ จะยิ่งได้คะแนนประเมินสูง แสดงให้เห็นว่าเป็น Green Building ที่มีประสิทธิภาพ
(ที่มาภาพจาก Pan Pacific Orchard Hotel-WOHA: https://www.archdaily.com/1008122/pan-pacific-orchard-hotel-woha?ad_medium=office-landing&ad_name=featured-image )
ขั้นตอนใช้งานอาคารที่ต้องใส่ใจใน Well Being
เพราะผู้ใช้งานอยู่ในอาคารมากกว่า 80% ของเวลาใช้งานทั้งหมด ดังนั้นส่วนที่ต้องใส่ใจต่อเนื่องจากอาคารสีเขียวก่อสร้างเสร็จแล้ว คือ การออกแบบสภาพแวดล้อมในอาคารให้เหมาะกับการอยู่อาศัยหรือใช้งาน ซึ่งอาคารในปัจจุบันนี้นิยมที่จะเพิ่มสวนหรือเปิดพื้นที่เชื่อมกับพื้นที่สีเขียวและสิ่งแวดล้อมภายนอกอาคารมากขึ้น เพื่อลดความเครียดและบรรยากาศอุดอู้ในอาคารลง
ซึ่งการออกแบบพื้นที่จะเป็นการสร้าง Well-Being ให้กับผู้ใช้งาน เช่น การวางระบบประหยัดพลังงาน เลี่ยงการใช้วัสดุที่มีสารระเหยอันตรายต่อร่างกาย การลดความร้อนเข้าสู่อาคารแต่ยังได้แสงธรรมชาติที่เพียงพอ การถ่ายเทอากาศ สร้างระบบนิเวศ พื้นที่สีเขียวให้รู้สึกสดชื่นผ่อนคลาย หรือ Lighting Design ช่วยสร้างบรรยากาศดี ๆ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ใช้งานได้อยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตร ช่วยให้มีความสุขมากขึ้นได้
หากจะยกตัวอย่างสิ่งที่สามารถเชื่อมโยงเรื่องของ Green Building ที่เป็นขั้นตอนออกแบบและก่อสร้าง เข้ากับเรื่อง Well-Being ที่เป็นเรื่องการใช้งานอาคาร โครงสร้างเหล็กถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนตัวอย่างหนึ่ง
เพราะโครงสร้างเหล็กเป็นวัสดุที่เข้าเกณฑ์อาคารเขียวได้ดีเยี่ยม ไม่ว่าจะเป็นการผลิตที่ใช้วัสดุรีไซเคิลมาผลิต ขั้นตอนการผลิตที่ประหยัดพลังงาน และการก่อสร้างที่ไม่กระทบต่อพื้นที่รอบข้าง ฯลฯ ทั้งยังเป็นวัสดุที่ช่วยทลายข้อจำกัดในการออกแบบและจัดการพื้นที่ใช้งานด้วย เช่น ช่วยให้อาคารโปร่งโล่งขึ้นได้ ยกเพดานสูงขึ้นได้ รวมถึงมีพื้นที่ใช้งานที่กว้างขึ้น ให้จัดวางฟังก์ชันได้ตามต้องการ โครงสร้างเหล็กจึงเป็นตัวช่วยในการก่อสร้างอาคารยุคปัจจุบัน ที่ต้องการเป็นทั้งอาคารที่รักษ์โลกและเป็นมิตรต่อผู้คนอย่างยั่งยืน