รวมทริค! วิธีการติดตั้งเสาในงานเหล็ก

เพราะงานฐานรากของโครงสร้างอาคารคือส่วนสำคัญที่จะช่วยรับน้ำหนักอาคารทั้งหลังให้มั่นคงแข็งแรง หากก่อสร้างหรือติดตั้งฐานรากได้ไม่ดีเท่าที่ควร แน่นอนว่าก็อาจส่งผลให้เกิดการรับแรงที่ไม่ได้ประสิทธิภาพ ไปจนถึงอาจเกิดอันตรายจากโครงสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานตามมาในภายหลัง ฉะนั้นการเลือกวิธีการติดตั้งให้เหมาะสมกับประเภทอาคาร และการก่อสร้างติดตั้งฐานรากด้วยวิธีที่แม่นยำจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรละเลย


 

เลือกวีธีการติดตั้งฐานรากให้เหมาะสม

แม้ว่าการเตรียมฐานรากและการติดตั้งเสาในงานก่อสร้างจะสามารถทำได้หลายวิธี หรือที่คุ้นชินกันดีคือ 3 วิธี ได้แก่ การติดตั้งแบบระบบเชื่อมโดยการเสียบเหล็กในตอม่อ (Inserted Plate) ซึ่งเป็นการติดตั้งที่เหมาะกับอาคารขนาดเหล็ก, การติดตั้งแบบโช้โบลท์เคมี (Chemical Stud Bolt) วิธีที่คล้ายกับระบบเชื่อมซึ่งเหมาะกับอาคารขนาดเล็กถึงกลางเช่นกัน, และการติดตั้งแบบใช้โบลท์ตัวเจ (J Bolt) ที่เหมาะกับการติดตั้งงานฐานรากสำหรับทุกขนาดโดยเฉพาะอาคารขนาดใหญ่ อีกทั้งยังเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการติดตั้งอีกด้วย เพราะวิธีนี้จะเป็นการฝังเกลียวรูปตัวเจในแบบหล่อตอม่อ ก่อนจะทำการบ่มคอนกรีตและนำเหล็กแผ่นเจาะรูมาติดตั้ง ใส่แหวน ขันนอต พร้อมกับเทคอนกรีตเข้าไปเติมใต้แผ่นเหล็กจนเต็ม ซึ่งเป็นกรรมวิธีที่หลายขั้นตอนแต่แข็งแรงแม่นยำและได้มาตรฐานกว่าวิธีการติดตั้งอื่นๆ


การกำหนดตำแหน่งและทิศทางการตั้งเสา

แน่นอนว่าหากขั้นตอนที่หนึ่งมีการเตรียมฐานรากได้เป็นอย่างดี ขั้นตอนของการตั้งเสาก็จะแม่นยำตามไปด้วย สำคัญคือนอกจากการตั้งเสาจะต้องปรับระดับให้ได้แนวดิ่งทั้งสองด้านแล้ว ทิศทางของการตั้งเสานั้นควรจะต้องวางในทิศทางที่ถูกต้องเพื่อให้การรับแรงเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยควรวางเสาในทิศทางตั้งให้อยู่ตามด้านกว้างของอาคาร ซึ่งเป็นทิศทางที่เสาจะแข็งแรงมากที่สุด


การค้ำยันเสาก่อนเชื่อมแข็ง

ขณะทำการติดตั้งก่อสร้างทั้งเสาและคานโดยทั่วไปแล้วมักจะยังไม่ได้มีการเชื่อมแข็งโดยทันที สิ่งสำคัญคือควรระมัดระวังไม่ให้เสาล้มเอียงลงมาเสียก่อน การค้ำยันเสาให้อยู่ในแนวดิ่งเสมอและไม่นำวัสดุใดๆ มาวางพิงโครงสร้างจริงเป็นวิธีที่เหมาะสมระหว่างการติดตั้ง สำคัญคือควรตั้งเสาติดคานให้ครบทุกจุดเสียก่อนหรืออย่างน้อย 1 ห้อง เพื่อป้องกันการวางเสาผิดแนวจากนั้นจึงทำการเชื่อมและขั้นตอนต่อๆ ไปในงานก่อสร้าง