Project : Tin Home Toy
Owner : คุณสุรัฐชัย และคุณนุตร์ เชนยะวณิช
Architect : คุณนุตร์ เชนยะวณิช และคุณจิรายุทธ ชัยจำรูญผล
Photo : Dsign Something
บ้านไซส์ใหญ่สบายตัวบนพื้นที่กว่า 1600 ตารางเมตร ย่านวิภาวดีรังสิต ที่ประยุกต์รูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ให้กลมกลืนกับสภาพอากาศร้อนชื้นของไทยได้อย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นชายคายื่นยาวช่วยบดบังแสงแดดและลมฝน หลังคาทรงจั่วสูงโล่งเป็นช่องทางไหลให้ลมพัดผ่าน จับคู่โทนสีของวัสดุ “เหล็ก ปูนเปลือย อิฐและไม้” ให้เข้ากัน พร้อมปรับฟังก์ชั่นให้ตอบรับกับพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัยจริง

ของแต่งบ้านจากแบรนด์ Tin Home Toy
Tin Home Toy คือ แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ของแต่งบ้านที่โดดเด่นด้วยการใช้วัสดุสังกะสีที่หลายคนคุ้นเคย นำมาเพิ่มมูลค่าด้วยไอเดียการออกแบบเป็นของตกแต่งในบ้าน อาทิ กระถางต้นไม้ ที่รดน้ำต้นไม้ กล่องเก็บของ สไตล์ดิบเท่มีเสน่ห์เฉพาะตัว และเมื่อความชอบเหล่านั้นขยายตัวมาสู่การออกแบบบ้านของตัวเอง คุณนุตร์ เชนยะวณิช ที่เป็นทั้งผู้ออกแบบ และเจ้าของแบรนด์ Tin Home Toy คุณนุตร์ก็ไม่รอช้าที่จะใส่ไอเดียการออกแบบบ้านในรูปแบบที่ตนเองรัก โดยบ้านหลังนี้ถูกสร้างติดกับสำนักงานที่ทำการเดิมของ Tim Home Toy โดยอยากจะคงตัวตนความชัดเจนเอาไว้ ทั้งในอาคารสำนักงานและบ้าน รักษาสไตล์ที่สอดคล้องกันระหว่างสิ่งของที่มีอยู่ก่อนและหลังไว้ให้มากที่สุด
Design Concept
โครงสร้างหลักที่เลือกใช้ คือ โครงสร้างเหล็กรูปพรรณรีดร้อนผสานกับคอนกรีตเสริมเหล็ก เพราะเป็นวัสดุที่เจ้าของชื่นชอบในความดิบเท่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ออกแบบโดยเน้นความเรียบง่าย ดูทันสมัย และยังตั้งใจให้มีกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมแบบ Modern Tropical ที่เหมาะกับสภาพอากาศร้อนชื้นแบบไทย มีการใช้หลังคาจั่วทรงสูง ยื่นชายยาว มีส่วนของชานและระเบียงขนาดใหญ่ ที่แปลงมาจากรูปแบบของบ้านเรือนไทยสมัยโบราณนั่นเอง หรือการยกฝ้าเพดานที่ชั้นล่างสูงถึง 3.2 เมตร และเพิ่มขึ้นเป็นอีกเท่าตัวในโซนห้องนั่งเล่น เพราะต้องการพื้นที่ที่เปิดโล่งเพื่อพักผ่อนสำหรับคนในบ้าน เจ้าของบ้านยังเพิ่มความนุ่มนวลให้บ้านด้วยวัสดุอื่นๆที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือวัสดุอิฐและไม้ สอดแทรกไปในส่วนต่างๆของบ้าน เพิ่มความน่าอยู่และลดทอนความดิบลงได้มากทีเดียว

Structural Concept
บ้าน 2 ชั้นหลังนี้ จัดวางห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร ครัว ส่วนบริการซักล้าง ไว้ที่ชั้นล่าง และส่วนไฮไลท์ก็คือ ห้องนั่งเล่นฝ้าเพดานสูงโล่ง โชว์โครงสร้างเสาคานเหล็กรูปพรรณรีดร้อนที่ใช้เหล็กรูปตัว H ทาสีดำตัดกับสีน้ำตาลของไม้ที่นำมาทำเป็นฝ้าเพดาน เชื่อมต่อพื้นที่ทางตั้งสู่ชั้นบนด้วยบันไดโครงสร้างเหล็ก วิวจากห้องนั่งเล่นนี้ สามารถมองออกไปเห็นบรรยากาศความร่มรื่นของสวนภายนอก ผ่านหน้าต่างบานสูงจากพื้นถึงฝ้าเพดาน พร้อมพลิกเปิดรับลมพัดผ่านเข้ามาในห้องนั่งเล่นให้เย็นสบาย



ส่วนชั้นบนเป็นห้องนอนและห้องทำงานที่ฝ้าเพดานสูงต่ำตามสโลปหลังคาจั่ว ภายในมีการแบ่งสัดส่วนให้สามารถเชื่อมถึงกันอย่างต่อเนื่อง จากห้องแต่งตัวไปห้องน้ำ จากห้องน้ำไปห้องนอนโดยการเจาะช่องหน้าต่าง และสร้างบรรยากาศในห้องน้ำด้วยโทนสีขาวสะอาด เป็นมุมส่วนตัวที่ดูนุ่มนวล และเจ้าของบ้านยังลงทุนออกแบบลายของกระเบื้องห้องน้ำเองด้วย เรียกได้ว่าสร้างบ้านหลังนี้ด้วยความรักและความตั้งใจจริงๆ

นำประโยชน์จากความแข็งแรงของโครงสร้างเหล็ก มาใช้กับหลังคาทรงจั่วที่ยื่นชายคายาว เสาเล็กบางลอยตัว ไปจนถึงส่วนโครงสร้างหลังคาจอดรถลอยตัวไร้เสารับ ทั้งหมดได้เหล็กรูปพรรณรีดร้อนที่มีความแข็งแรงสามารถยื่นจากจุดรับน้ำหนักได้มาก
เสาคอนกรีตที่ล้อเลียนภาษาของเสาเหล็ก โดยการเว้นร่องตรงกลางเสา ทำให้เกิดความน่าสนใจในวัสดุธรรมดามากขึ้น





Tip : ข้อดีของเหล็กรูปพรรณที่คุณอาจยังไม่รู้
นอกจากความน่าสนใจที่ได้กล่าวไปแล้วนั้น ประโยชน์จากการใช้โครงสร้างเหล็กรูปพรรณรีดร้อนคือ
- สามารถก่อสร้างได้สะดวกรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการใช้กับโครงสร้างพื้น เสา คาน ขึ้นไปถึงหลังคา ทำให้ประกอบเชื่อมยึดติดชิ้นส่วนได้รวดเร็ว งานเสร็จตรงตามเวลา แถมลดเวลาและปัญหารบกวนอาคารที่อยู่รอบข้างได้มาก เพราะเหล็กรูปพรรณรีดร้อนจะมีการผลิตจากโรงงานที่สามารถควบคุมคุณภาพของชิ้นงานได้ ตัดยกติดตั้งได้เลย ไม่ต้องรอคอนกรีตแห้งและฝุ่นน้อย
- ช่วยให้อาคารดูเบาลอย ไม่ทึบตัน ด้วยโครงสร้างหน้าตัดเหล็กที่บางกว่าคอนกรีต แต่ยังคงแข็งแรงไร้กังวล
- เหล็กขายคืนได้ ใช่แล้วครับ เมื่อเราไม่ต้องการแล้ว เหล็กเหล่านี้ยังสามารถขายคืนเพื่อนำกลับไปหลอมใหม่ได้ ได้เงินกลับมาจากเหล็กเหล่านี้ต่างจากคอนกรีตที่จะกลายเป็นขยะต่อไป
โครงสร้างเหล็กที่เป็นวัสดุสมัยใหม่ก็สามารถปรับตัวผ่านกระบวนการออกแบบให้เข้ากับสภาพอากาศเมืองร้อนแบบไทยได้อย่างดี ขอเพียงเรารู้จักเรียนรู้และทำความเข้าใจ ผสมผสานวัสดุหลายๆ ชนิดมาไว้ด้วยกัน การสร้างสภาวะน่าอยู่ในบ้านดีไซน์เรียบเท่ก็จะไม่ใช่เรื่องยากเกินฝันอีกต่อไปครับ
ขอขอบคุณ
ข้อมูลและภาพ : เจ้าของบ้าน คุณสุรัฐชัย และคุณนุตร์ เชนยะวณิช และ SiamYamato Steel (SYS)
ที่มา : dsignsomething.com