บ้านเหล็ก สั่นไหม

คุณสมบัติของเหล็กที่นำมาเป็นส่วนประกอบหลักในการทำโครงสร้างนั้นเป็นที่ทราบกันดีถึงความแข็งแรง ยืดหยุ่นและที่สำคัญ คือ ก่อสร้างได้รวดเร็วกว่าคอนกรีตหลายเท่า แต่ในบางกรณีผู้ใช้อาคารอาจพบว่าอาคารนั้นเกิดการ ‘สั่น’ ขึ้นมา จึงเกิดความกังวลและสงสัยถึงเหล็กที่เป็นโครงสร้างหลักนั้นอาจเป็นสาเหตุของการสั่น วันนี้เราจึงขอมาไขข้อข้องใจว่าที่จริงแล้วเมื่อคุณรู้สึกถึงการสั่นสะเทือนในบ้านเหล็กนั้น ‘เหล็ก’ ใช่สาเหตุที่แท้จริงหรือไม่

1. บริเวณสร้างบ้าน

ถ้าบ้านที่สร้างจากเหล็กของคุณเกิดอาการสั่น ประการแรกที่ควรพิจารณา คือการดูตำแหน่งบ้านของคุณว่าอยู่ในพื้นที่ทางสัญจรหลักๆ หรือไม่ เช่น ทางรถไฟ ทางด่วน รถไฟฟ้าหรือแม้แต่ตำแหน่งของบ้านในซอย ซึ่งเป็นปกติที่บ้านหลังแรกของซอยจะมีรถผ่านไปผ่านมามากกว่าบ้านที่อยู่ท้ายซอย การที่บ้านสั่นอาจมีสาเหตุมาจากการสัญจรของการคมนาคมต่างๆ ได้เป็นเรื่องปกติ

2. คุณสมบัติของเหล็ก

อย่างที่ทราบกันดีว่าคุณสมบัติของเหล็กนั้น คือ มีความยืดหยุ่นตัวไปพร้อมๆ กับความแข็งแรงที่เป็นคุณสมบัติเด่น ซึ่งหมายถึงว่าการที่เหล็กสั่นนั่นไม่ได้แปลว่าบ้านไม่แข็งแรงหรือกำลังจะถล่ม อย่างเช่นในหลายๆ กรณีที่เลือกใช้เหล็กเป็นโครงสร้างสำคัญของอาคารในเขตพื้นที่ที่มักจะเกิดแผ่นดินไหว นั่นเพราะคุณสมบัติที่สามารถยืดหยุ่นได้ของเหล็กในขณะแผ่นดินไหว ทำให้ลดการพังและแตกร้าวของอาคารไปได้มาก

3. ตรวจสอบโครงสร้างอื่นๆ ของบ้าน

แน่นอนว่าเหล็กมีความยืดหยุ่นสูงแต่ก็อย่าลืมว่าเหล็กก็มีความแข็งแรงมากเช่นกัน การสั่นของตัวบ้านสามารถมาจากส่วนอื่นๆ ของบ้านได้ เช่น วัสดุปูพื้นไม่แน่นไม่แข็งแรงตามมาตรฐาน หรือบางบ้านที่เป็นบ้านกึ่งคอนกรีตกึ่งเหล็ก ส่วนโครงสร้างที่เป็นคอนกรีตอาจเกิดการแตกร้าวหรือจุดรอยต่อระหว่างโครงสร้างต่างวัสดุไม่ได้มาตรฐาน เนื่องจากความไม่ชำนาญของช่างก็ป็นสาเหตุทำให้รู้สึกว่าบ้านเกิดอาการสั่นได้เช่นกัน

4. คานยื่น (Cantilever Beam)

คานยื่น คือ คานที่มีปลายด้านหนึ่งเป็นอิสระ ส่วนปลายอีกด้านหนึ่งมีจุดรองรับแบบฝังแน่น ซึ่งคานประเภทนี้โดยส่วนใหญ่มักจะทำด้วยโครงสร้างเหล็ก และเป็นปกติเมื่อคานเหล็กถูกยื่นออกไปมากๆ การเกิดการสั่นไหวเพียงเล็กน้อยนั้นจึงเป็นเรื่องปกติ เพราะการเลือกขนาดเหล็กมาทำคานเพื่อรองรับน้ำหนักนั้น วิศวกรโครงสร้างจะทำการคำนวนเอาไว้แล้ว คุณจึงมั่นใจได้ถึงความปลอดภัย

5. ดินอ่อนตัว  

เป็นเรื่องสำคัญเป็นอย่างมากในการออกแบบโครงสร้างที่ต้องให้วิศวกรโครงสร้างและสถาปนิกมาช่วยออกแบบและสำรวจพื้นที่โครงการก่อนที่จะทำการออกแบบและก่อสร้าง โดยเฉพาะที่ดินในหลายพื้นที่นั้นจะมีลักษณะเป็นดินเหนียวอ่อนที่มีโอกาสทำให้อาคารนั้นทรุดตัวลงไปได้หากเสาเข็มและฐานรากนั้นไม่ได้มาตรฐาน การที่รู้สึกว่าอาคารสั่นไหวนั้นเป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากการค่อยๆ ทรุดตัวลงของดินซึ่งไม่เกี่ยวกับเหล็กที่ใช้เป็นโครงสร้างหลักของบ้านแต่อย่างใด

6. อาคารรีโนเวท  

ปัจจุบันมีคนไม่น้อยที่นิยมซื้อบ้านเก่าแล้วนำมารีโนเวทใหม่เนื่องจากประหยัดกว่าซื้อบ้านหลังใหม่จากโครงการ และปัญหาที่มักพบเจอเป็นประจำคือ โครงสร้างเดิมไม่แข็งแรงพอ ทำให้เมื่อถึงขั้นตอนการก่อสร้างผู้รับเหมาจึงเลือกเหล็กมาเพื่อเสริมโครงสร้างเก่า ในกรณีนี้การสั่นไหวของบ้านอาจเกิดจากการที่โครงสร้างเดิมไม่สามารถรองรับฟังก์ชั่นใหม่ของส่วนต่อเติมได้นั่นเอง