จูน เซคิโน แห่ง JUNSEKINO A+D สถาปนิกผู้ให้ความสำคัญกับคุณภาพ ความตรงไปตรงมา และการทำงานอย่างฉันมิตร

หลังจากทีมงาน SYS ได้คิวทองเข้าไปพบและพูดคุยกับคุณ จูน เซคิโน แห่ง JUNSEKINO ARCHITECT AND DESIGN บทสนทนาอันอบอุ่นได้ถูกเปิดด้วยประเด็นของการถามไถ่ว่า วันนี้เป็นอย่างไร มาอย่างไร การสั่งสินค้าหรือการทำงานโครงสร้างเหล็กที่ผ่านมาพบเจอกับปัญหาอะไรบ้างไหม ซึ่งคำถามเหล่านี้ทำให้พบว่า SYS และคุณจูน อาจไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้ผลิตกับลูกค้าเท่านั้น แต่เปรียบเป็นเพื่อนร่วมงานที่ดีและห่วงใยกันอยู่เสมอมา

 

ระหว่างการพูดคุยตลอดบทสนทนาคุณจูนเล่าถึงโปรเจกต์โครงสร้างเหล็กต่างๆ ทั้งที่ผ่านมา กำลังก่อสร้าง ไปจนถึงโปรเจกต์ที่แล้วเสร็จว่า “จริงๆ คนรอบตัวเลือกใช้เหล็กของ SYS เยอะเหมือนกันนะ ส่วนตัวผมเองก็เลือกโครงสร้างเหล็กมาใช้งานอยู่เรื่อยๆ เช่นกัน อาจไม่ได้ใช้ทั้งหมดหรือใช้เป็นเพียงบางส่วน แต่ก็ชอบที่จะเลือกใช้โครงสร้างเหล็กมาเป็นส่วนประกอบในงาน เพราะมองว่ามันค่อนข้างง่ายต่อการทำงานในหลายๆ ประเด็น ”

“ผมมักนำโครงสร้างเหล็กเข้ามาจัดการกับงานรีโนเวทอยู่เสมอ”

คุณจูน ค่อยๆ ขยายความถึงแต่ละประเด็นโครงสร้างเหล็กที่กล่าวไปข้างต้น ด้วยประเด็นแรกกับการตอบโจทย์โครงสร้างงานรีโนเวท  อย่างโปรเจกต์ BAAN38 หรือ บ้านโนบิตะ ที่เป็นบ้านไม้เก่าอายุราว 80 ปี โดยคุณจูนได้นำโครงสร้างเหล็กเข้าไปช่วยเสริมความแข็งแรง และปรับระดับของหลังคาจากที่เป็นหลังคาเตี้ยให้ดีดตัวสูงขึ้น ผ่านการใช้โครงสร้างเหล็กในการต่อความสูงขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง อีกทั้งคุณจูนยังเล่าว่าในโปรเจกต์นี้ ไม้ทุกชิ้นยังคงถูกเก็บมาใช้งานและร้อยเรียงขึ้นใหม่เป็นบ้านลูกผสมที่พอดิบพอดี

“Dry process และ Micro Process สำหรับผมมันลงตัวมาก” 

“อย่างโปรเจกต์รีโนเวทฟาซาด ของ WURKON ผมก็นำเหล็กเข้ามาจัดการเหมือนกัน เพราะอย่างที่รู้ว่าเหล็กค่อนข้างเบา รับน้ำหนักได้มาก และยังเป็น Dry Process ที่ดูแลจัดการง่าย ถึงยุคก่อนจะราคาสูงก็จริงอยู่แต่ในปัจจุบันราคาค่าแรงถีบตัวขึ้นมามาก เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วก็ดูจะราคาพอกัน ขณะที่โครงสร้างเหล็กสามารถประหยัดได้ทั้งเวลา และคน เราสามารถเชื่อม โบวท์ ประกอบเป็นส่วนๆ มาจากโรงงานได้เลย ทำให้ไม่มีเศษเหล็กเหลือทิ้ง อีกทั้งพอขนมาถึงไซต์ก็ขึ้นงานได้เร็ว เป็น Micro Process ที่ผมมองว่าลงตัวมากๆ”

“ผมมองว่าการผสมผสานวัสดุอย่างเหล็กกับงานคราฟท์เข้าด้วยกันก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ”             

โปรเจกต์ MTL ก็เป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์ที่น่าสนใจด้วยฟาซาด หรือเปลือกอาคารที่มีรูปลักษณ์ดูแปลกตาและมีลูกเล่นของฟังก์ชันการใช้งานที่สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบของฟาซาดได้ตลอดเวลา เพราะเป็นเพียงการแขวนอิฐมอญที่ทำการคว้านเป็นร่องให้สามารถวางลงไปที่โครงสร้างเหล็กได้ ซึ่งเป็นการผสมผสานและทำงานร่วมกันระหว่างวัสดุเหล็กและงานคราฟท์ได้อย่างเป็นอย่างดี

“เหล็กสามารถช่วยลดโครงสร้างได้ดี Span ก็กว้าง เสาก็น้อย และยังยื่นได้มากกว่า”               

“ข้อดีที่ผมชอบใช้เหล็ก หลักๆ เพราะโครงสร้างเหล็กจะมีความบางกว่าปกติแต่แข็งแรง ทำให้เราลดโครงสร้างอื่นๆ ลงได้ จะออกแบบ Span ให้กว้างก็สามารถทำได้ขณะที่เสาก็ยังลดลงด้วย การยื่นก็ได้เปรียบมากกว่า อย่างบ้านอีกหลังหนึ่งชื่อว่าบ้านโดเรม่อน หรือบ้านของคุณไอสึ ก็สร้างคู่กันกับบ้านโนบิตะข้างต้น โครงสร้างด้านบน ก็เป็นเหล็กหมดเลย คล้ายกับบ้านไทยสมัยก่อนที่ด้านล่างเป็นปูน ด้านบนเป็นเหล็ก ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Long Span เสาน้อยเพิ่มพื้นที่ใช้สอย หรือคานยื่นยาว โครงสร้างเหล็กก็ตอบโจทย์ได้หมด จบงานง่ายและรวดเร็ว”

คุณจูนยังได้เสริมด้วยว่า บ้านโดเรม่อนหลังนี้ถูกออกแบบให้เหมือนกับบ้านในการ์ตูน และมีฟังก์ชันภายในบ้านที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตของแมวโดยเฉพาะ เพื่อไม่ให้เกิดการรบกวนซึ่งกันและกันระหว่างมนุษย์และสัตว์เลี้ยง

“เพราะเหล็กถูก QC มาจากโรงงานแล้วทุกชิ้น เวลาเข้าไปตรวจงานก็รู้สึกสบายใจระดับหนึ่ง”               

“ผมให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพมากนะ พอเราใช้เหล็กเราก็มั่นใจได้ระดับหนึ่ง เพราะเหล็กจะมีความตรงไปตรงมาและ Error น้อยกว่าวัสดุอื่นๆ วัสดุมันโกงมันโก่งไม่ได้ เวลาไปตรวจหน้างานก็รู้สึกสบายใจเสมอ มันอาจไม่ได้ตอบโจทย์ทุกเรื่อง แต่มันตอบโจทย์บางเรื่องได้ดีมากๆ เหล็กไม่ดีเราก็เห็นได้เลยว่ามันไม่ดี งานโบวท์หรืองานเชื่อมจาก SYS มันไม่ใช่งานทำมืออย่างที่เราเห็นทั่วไปแต่เค้าทำมาจากโรงงานที่ได้มาตรฐาน ผู้รับเหมาก็รู้สึกชอบ เพราะลดค่าดำเนินการไปได้ในตัว เรียกได้ว่าเหล็กก็ช่วยให้เพื่อนร่วมงานทุกฝ่ายแฮปปี้ไปพร้อมๆ กัน”

หลังจากบทสนทนาจบลง สิ่งที่ทีมงาน SYS กลับมาขบคิดคือหลายๆ ประโยคบอกเล่าของคุณจูน ที่เมื่อได้ฟังแล้วก็รู้สึกดีไปตามๆ กันว่า เหล็กของเรานั้นนอกจากจะช่วยตอบโจทย์งานออกแบบได้เป็นอย่างดีแล้ว ก็ยังช่วยให้การทำงานร่วมกับฝ่ายอื่นๆ เป็นไปได้อย่างฉันมิตร