Cellular Beam เหมาะกับการใช้เป็นโครงสร้างอาคารแบบไหน?

ความรวดเร็วในการก่อสร้าง ความสะดวกในการประกอบใช้ หรือการรับน้ำหนักได้มากโดยคงโครงสร้างขนาดเล็ก ล้วนเป็นข้อดีของเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนที่รู้จักกันดีในการเลือกใช้เหล็กในการก่อสร้าง แต่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน รวมถึงผลักดันศักยภาพของโครงสร้าง

เหล็ก “Cellular Beam” ถูกผลิตขึ้นเพื่อเสริมทางเลือกของชิ้นส่วนเหล็กที่แข็งแรงขึ้น รับช่วงเสาได้กว้างขึ้น แต่น้ำหนักของชิ้นส่วนยังเท่าเดิม โดยหลักการแล้ว Cellular Beam คือการแปรรูปคานเหล็ก ด้วยการผ่าบริเวณเอว (Web) ให้เป็นทรงโค้งหรือเหลี่ยม ก่อนจะยกขึ้นแล้วเชื่อมประกอบกลับเข้าไปใหม่ ซึ่งจะทำให้ได้คานเหล็กที่มีหน้าตัดลึกขึ้น และเสมือนว่ามีช่องเปิดอยู่เป็นระยะๆ ตลอดช่วงคาน หรือกล่าวในทางกลับกัน คือจะทำให้ได้คานที่มีหน้าตัดคานสูงขึ้น รับแรงได้มากขึ้น แต่ใช้เนื้อวัสดุเท่าเดิมนั่นเอง

โดยนวัตกรรมการผลิตชิ้นส่วนเหล็กแบบนี้ มีทั้งแบบแปรรูปทำช่องเปิดเป็นวงกลมซึ่งจะเรียกว่า Cellular Beam  หรือ “Circular Opening Beam” กับแบบแปรรูปทำช่องเปิดเป็นลักษณะเหลี่ยม ซึ่งจะเรียกว่า Castellated Beam หรือ “Hexagonal Opening Beam” ซึ่งทั้งหมดจะช่วยเพิ่มความสามารถในการรับน้ำหนักของคาน เพิ่มระยะช่วงเสา โดยยังคงน้ำหนักเท่าเดิม Cellular Beam นั้นใช้กันอย่างแพร่หลาย และเหมาะกับอาคารหลายรูปแบบ พอจะยกตัวอย่างได้ดังต่อไปนี้


1. สำนักงาน

เราสามารถใช้คาน Cellular Beam ทำเป็นพื้นที่สำนักงานได้ดี เพราะช่วยเอื้ออิสระในการใช้พื้นที่ได้มากขึ้น โดยมีเสากั้นขวางในพื้นที่น้อย


2. โชว์รูม

คาน Cellular Beam ช่วยสร้างพื้นที่ใช้สอยได้มาก ซึ่งเหมาะสมกับการใช้เป็นพื้นที่แสดงสินค้าหรือโชว์รูมอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะช่วยเปิดมุมมองกว้างขวาง และขนส่งสินค้าทั้งชิ้นใหญ่และเล็กได้ง่ายด้วย


3. อาคารจอดรถ

พื้นที่ใช้สอยกว้างขวางจากการใช้คาน Cellular Beam ทำให้เหมาะกับการทำเป็นที่จอดรถหรืออาคารจอดรถ และคุณสมบัติของ Cellular Beam ยังเอื้อให้ใช้ประโยชน์จากช่องเปิดบนคานร้อยงานระบบผ่านได้ด้วย


4. โถงอเนกประสงค์ 

โถงอเนกประสงค์ในโรงเรียน สำนักงาน หรืออาคารราชการใดๆ ย่อมต้องการพื้นที่โถงโล่งกว้างเพื่อจุดประสงค์หลากหลาย คาน Cellular Beam ก็เอื้อให้การสร้างพื้นที่นั้นเป็นไปได้อย่างเหมาะสม