เทคนิคการเสริมกำลังแบบถูกจุด ให้โครงสร้างเหล็กแข็งแรง แกร่งยิ่งกว่าเดิม

เราสามารถทำให้โครงสร้างเหล็กแข็งแรงและแกร่งได้มากขึ้น โดยที่มีขนาดโครงสร้างเท่าเดิมหรืออาจจะเล็กลงกว่าเดิม โดยการเสริมกำลังเหล็กผ่านชิ้นส่วน หรือ Stiffener เข้าไปตามจุดต่าง ๆ ของโครงสร้างเหล็กที่ทำหน้าที่รับแรงเป็นพิเศษมากกว่าส่วนอื่น ๆ เช่น จุดรอยต่อเสา – คาน โครงหลังคา หรือที่รูของ Cellular Beam ฯลฯ เพื่อให้ชิ้นส่วนโครงสร้างมีความแข็งแรง แน่นและแกร่งมากขึ้น ทำหน้าที่รับถ่ายแรง รับแรงได้ดีขึ้นในทุกทิศทาง 

แม้เราจะรู้กันว่าโครงสร้างเหล็กนั้นแข็งแรงแบบเต็ม 100% อยู่แล้ว ส่วนของการเสริมกำลังเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้จึงถูกมองข้ามไปในบางที แต่ขอบอกเลยว่าถ้าอยากให้โครงการสร้างเหล็กแข็งแรงในทุกจุดแบบถูกต้องตามเทคนิคก่อสร้าง การเสริมกำลังเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็น ไม่ใช่เพราะเหล็กไม่แข็งแรงจึงต้องเสริมกำลังเพิ่ม แต่เป็นเพราะการเสริมกำลังตามแนวโครงสร้าง เป็นหลักการที่ทำให้โครงสร้างรับน้ำหนักได้อย่างปลอดภัย สามารถทำหน้าที่ได้เต็มประสิทธิภาพขึ้นไปได้อีกขั้น แบบที่ไม่มีปัญหาอะไรให้ผู้ใช้งานกังวลใจภายหลัง

 

เสริมโครงสร้างให้แกร่งยิ่งขึ้น แบบถูกจุด

การก่อสร้างอาคารโครงสร้างเหล็ก เป็นการก่อสร้างที่แข็งแรงและจบในตัวอยู่แล้ว ผู้ใช้งานจึงสามารถใช้งานอาคารได้แบบสบายใจ แต่ในบางกรณีจำเป็นจะต้องมีการเสริมกำลังให้กับเหล็กเพื่อให้มีความแกร่ง สามารถรับ Load ตามการใช้งานนั้น ๆ ได้ดีขึ้น 

หรือในบางโครงการที่โครงสร้างสามารถรับน้ำหนักได้ดีอยู่แล้ว แต่อยากเสริมกำลังเพิ่มก็สามารถทำได้เช่นกัน รวมไปถึงในโครงการที่อยู่ในพื้นที่ที่มีข้อต้องคำนึง เช่น ลมแรง แผ่นดินไหว ฯลฯ การเสริมกำลังเหล็กเข้าไปเพิ่มเติมจะช่วยให้โครงสร้างที่แข็งแรงอยู่แล้ว สามารถรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างมั่นคงมากขึ้นได้ แถมยังเป็นการก่อสร้างให้อาคารมีรูปแบบถูกต้องตามหลักการทางวิศวกรรมด้วย

ซึ่งการเสริมกำลังเพื่อเพิ่มความแกร่งให้กับโครงสร้างเหล็ก จะต้องจัดการและติดตั้งให้ถูกจุด โดยในโครงสร้างเหล็กแต่ละรูปแบบ เช่น โครงสร้างเสาคานเหล็ก H-BEAM, โครง Truss จาก H-BEAM, Cellular Beam หรือโครงเฟรมหลังคา ก็จะมีรูปแบบและเทคนิควิธีการที่แตกต่างกันไป

 

เสริมกำลังให้เสาและคานเหล็กแข็งแรงทนทานทุกทิศทาง

ถ้ามองในส่วนของโครงสร้างเสาและคานในอาคารโครงสร้างเหล็กแบบทั่วไป ส่วนที่จะต้องทำการออกแบบและเสริมกำลังเพิ่มเติมคือส่วนรอยต่อของเสากับคาน คานกับคาน หรือคานหลักกับคานซอย ซึ่งเป็นจุดที่รับ Load เยอะ แถมยังต้องส่งต่อน้ำหนักเหล่านี้ไปยังโครงสร้างที่อยู่ถัดลงไปอีก จึงต้องมีความแข็งแรงมาก ๆ  โดยจะทำการเสริมเพลทเหล็กแบบตั้งฉากเข้ากับปีกของเหล็ก เพื่อช่วยให้โครงสร้างรับน้ำหนักที่กระทำเฉพาะจุดได้ดีขึ้น ถ่ายแรงได้ดีขึ้น

อีกรูปแบบคือการนำ Cellular Beam ไปทำเป็นคานรับพื้นชั้น 2 ของอาคาร ที่ต้องรับน้ำหนักกดจากเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ที่มีน้ำหนักมาก ๆ สามารถนำแผ่นเหล็กตัดเป็นวงกลมเข้ามาเสริมตามรูของ Cellular Beam ในจุดที่รับน้ำหนักมาก ๆ เหล่านี้เพิ่มเติมได้ จะช่วยให้การรับแรงจุดนั้นดีขึ้น ในขณะที่ยังสามารถโชว์โครงสร้าง Cellular Beam สวย ๆ ได้อยู่เหมือนเดิม ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้โครงสร้างเหล็กแบบอื่นที่อาจจะมีดีไซน์ความสวยงามไม่ตรงใจ

 

เสริมโครงสร้างหลังคา ให้อาคารทนทานในทุกสถานการณ์

ส่วนของโครงสร้างหลังคา จะแบ่งแยกย่อยออกเป็นหลายแบบ โดยแบบแรกคือ โครงสร้างโครง Truss ที่มี Member ชิ้นส่วนมาประกอบกันหลาย ๆ ชิ้น ซึ่งผู้รับเหมาหรือผู้ออกแบบอาจจะเจอปัญหาที่ว่า ไม่สามารถทำให้แรงถ่ายรวมกันลงตรงจุดรับแรงที่ศูนย์กลางได้ แต่เราแก้ไขปัญหานี้ได้ด้วยการเพิ่ม Gusset Plate เข้าไปเพื่อเพิ่มระยะชิ้นส่วน ให้สามารถถ่ายแรงลงตรงจุดศูนย์กลางได้ ซึ่งการเสริม Gusset  Plate นี้สามารถทำได้ง่ายกับ Truss ที่เป็นเหล็ก H-BEAM เพราะ H-BEAM มีเหลี่ยมมุมของหน้าตัดที่ประกบเข้ากับ Gusset Plate ได้พอดี

แบบต่อมาคือการเสริมโครงสร้าง Frame หลังคา โดยจะเป็นการเสริมข้อต่อรูปแบบ Haunch ให้กับโครงสร้าง เช่น ข้อต่อเสากับโครงหลังคา หรือบริเวณกลางจั่วหลังคา จะเป็นการทำให้โครงสร้างโดยเฉพาะตรงจุดเหล่านี้รับแรงได้ดีขึ้น มากขึ้น โดยที่ไม่ต้องเปลี่ยนไปใช้เหล็กหน้าตัดใหญ่ 

สำหรับการก่อสร้างด้วยโครงสร้างเหล็ก เหล็ก H-BEAM จาก SYS สามารถตอบโจทย์ได้ทุกรูปแบบการก่อสร้าง ทั้งยังตอบโจทย์ความแข็งแรง และความแกร่งได้ดีอีกด้วย และเมื่อนำเหล็ก H-BEAM ไปใช้พร้อมกับทำการเสริมกำลังเพิ่มเติมให้ถูกต้องตามหลักการออกแบบแล้ว ก็จะยิ่งทำให้อาคารแข็งแรงขึ้นได้อีกเป็นเท่าตัว