Solar Rooftop โซลูชั่นพลังงานสะอาดสู่ภาคอุตสาหกรรมยุคใหม่

ทำความรู้จักกับ Solar Rooftop

ระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบเชื่อมต่อสายส่ง หรือ Solar Rooftop เป็นระบบผลิตไฟฟ้าที่สามารถติดตั้งได้ทั้งสำหรับบ้านพักอาศัย สำนักงาน และอาคารโรงงาน โดยระบบจะผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ร่วมกับระบบจำหน่ายของการไฟฟ้า จึงเป็นตัวช่วยลดค่าไฟฟ้ารายเดือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดย Solar Rooftop จะเปลี่ยนไฟฟ้ากระแสตรงที่ได้จากระบบการผลิตไฟฟ้าของโซลาร์เซลล์ ให้เป็นไฟฟ้ากระแสสลับด้วยอุปกรณ์อินเวอร์เตอร์ (Inverter) แล้วไปเชื่อมต่อเข้ากับระบบจำหน่ายไฟของการไฟฟ้าฯ ข้อดีของการติดตั้ง Solar Rooftop นอกจากจะได้ไฟฟ้าที่จะนำมาใช้งานเพื่อลดค่าใช้จ่าย ยังสามารถนำกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ขายคืนให้กับการไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อีกด้วย

ศูนย์กระจายสินค้าบ้านบึง

ศูนย์กระจายสินค้าของ SYS ถือได้ว่าเป็นตัวอย่างที่ดีในการให้ความสำคัญกับการประหยัดพลังงาน โดยมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ บริเวณออฟฟิศ,ที่จอดรถ และ เครื่องชั่ง เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า 240 KW นำไปใช้ในการทำงานของเครื่องจักรต่างๆ เช่น เครน เครื่องตัด ทำให้ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าไปได้ถึง 800-1,000 kwh หรือ ประมาณ 3,000 บาทต่อวัน  โดยที่การลดใช้พลังงานไฟฟ้านี้ ในอีกแง่ก็คือเป็นการช่วยลด การปล่อย Carbon จากกระบวนการผลิตไฟฟ้าขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศได้ถึง 138,000 kg.CO2/yr.หรือเทียบเท่าได้กับใช้ต้นไม้ถึง 15,000 ต้น ในการดูดซับปริมาณ Carbon ดังกล่าวเรียกได้ว่านอกจากจะประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่ายแล้ว ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดอีกด้วย

เลือกระบบโซลาร์ ให้เหมาะกับการใช้งาน

ระบบการทำงานของ Solar Rooftop จะแบ่งออกเป็น 3 ระบบ

1. ระบบออนกริด (On-Grid System) เป็นระบบที่ต่อเชื่อมสายส่งการไฟฟ้า ซึ่งแผงโซลาร์เซลล์จะต่อเข้ากับกริดไทอินเวอร์เตอร์ (Grid-Tie Inverter) จากนั้นเปลี่ยนไฟฟ้ากระแสตรงมาเป็นกระแสสลับให้ใช้งานในอาคารได้ โดยระบบนี้จะเชื่อมต่อกับระบบจำหน่ายไฟของการไฟฟ้าฯ จึงเป็นระบบที่มักนิยมติดตั้ง เพราะสามารถขายคืนให้กับการไฟฟ้าฯ ได้ ซึ่งการติดตั้งต้องขออนุญาตก่อนเสมอ

2. ระบบไฮบริด (Hybrid) เป็นระบบที่มี “แบตเตอรี่” สำหรับสำรองพลังงาน เพื่อการใช้งานในเวลาที่ไม่มีแสงอาทิตย์ ซึ่งเมื่อผลิตปริมาณกระแสไฟฟ้ามากเกินกว่าการใช้งานแล้ว ระบบจะชาร์จกระแสไฟฟ้าเข้าแบตเตอรี่เพื่อเก็บไว้ใช้งานต่อไป จึงมีประโยชน์สำหรับอาคารที่ไฟตกบ่อย เพราะสามารถดึงไฟฟ้าในแบตเตอรี่มาใช้งานได้ยามฉุกเฉิน

3. ระบบออฟกริด (Off-Grid System) การทำงานจะเหมือนกับ ‘ออนกริด’ และ ‘ไฮบริด’ คือจะรับพลังงานเข้าอินเวอร์เตอร์ (Inverter) แล้วเปลี่ยนไฟฟ้ากระแสตรงเป็นไฟฟ้ากระแสสลับมาใช้งานในอาคารได้ และชาร์จไว้ในแบตเตอรี่ด้วย แต่ระบบนี้จะไม่ได้เชื่อมต่อเข้ากับระบบจำหน่ายของการไฟฟ้าฯ จึงไม่ต้องขออนุญาตติดตั้ง ซึ่งเหมาะสำหรับบ้านที่กระแสไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง

โดยการติดตั้ง Solar Rooftop จะเหมาะมากสำหรับโรงงานที่มีค่าไฟฟ้าตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป ซึ่งมีการใช้โหลดการใช้งานช่วงกลางวันเยอะ ๆ ดังนั้นหากลงทุนติดตั้งเองก็จะมีโอกาสคืนทุนภายใน 6-7 ปี หรือสามารถที่จะเช่า (Leasing) แทนการลงทุนเองก็ได้

Structure Steel for Solar Rooftop

ไม่ว่าจะเป็นหลังคา Metal Sheet หรือ Roof slab ก็สามารถที่จะรองรับการติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ได้ ซึ่งอุปกรณ์แผงโซล่าร์ที่ติดตั้งบนหลังคาจะมีน้ำหนักอยู่ที่ 10-12 กก. /ตรม. ในการติดตั้งจึงต้องพิจารณาร่วมกับวัสดุโครงสร้างหลังคา และอายุของการใช้งาน จึงต้องปรึกษาวิศวกรโครงสร้างเพื่อตรวจสอบโครงสร้างหลังคาเดิมก่อนว่าสามารถรับโหลดได้หรือไม่ สำหรับการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) ในโรงงานขนาดใหญ่ ที่ต้องรองรับแผงโซลาร์ (Solar Panel) ที่มีจำนวนมากและมีโหลดเยอะ โครงสร้างหลังคาที่รองรับจึงต้องคำนึงถึงความแข็งแรงเป็นพิเศษ ดังนั้นโครงสร้างเหล็ก H-BEAM จึงเหมาะสำหรับการดีไซน์หลังคาสำหรับโรงงานที่ต้องการเพิ่มแผงโซลาร์บนหลังคา เพราะสามารถรับกำลังได้ดีมากขึ้น

ในปัจจุบัน เจ้าของโรงงานที่อยากจะประหยัดพลังงานด้วยการใช้พลังงานสะอาดทดแทนซึ่งจะมาช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในชั้นบรรยากาศ การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) จึงเป็นหนึ่งในระบบการใช้พลังงานทดแทนจากธรรมชาติที่น่าสนใจ เพราะติดตั้งสะดวก คุ้มค่า และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม