ทำความรู้จักกับขั้นตอนการทำงานของ Modular System ตัวช่วยในการก่อสร้าง “ระบบสำเร็จรูป”

การก่อสร้างระบบ Modular System หรือ “ระบบการก่อสร้างแบบโมดูลสำเร็จรูป” เป็นแนวคิดส่วนหนึ่งที่พัฒนามาจากระบบการก่อสร้างแบบ Prefabrication ซึ่งเป็น “กระบวนการลดการก่อสร้างอาคารที่หน้างาน” ซึ่งใช้แนวคิดระบบวิศวกรรมในการถอดแบบอาคารเป็น “Module” ต่าง ๆ โดยแต่ละ “Module” จะสมบูรณ์ได้จะต้องประกอบไปด้วยงาน 3 ส่วน ได้แก่ งานโครงสร้าง งานสถาปัตยกรรมและงานอินทีเรีย โดยทุกส่วนจะถูกผลิตภายในพื้นที่โรงงานก่อนที่จะขนย้าย Module ไปติดตั้งและเก็บงานต่อที่หน้างานอีกเพียงเล็กน้อย ระบบนี้จึงสามารถควบคุมคุณภาพงานได้เป็นอย่างดีจากการตรวจสอบภายในโรงงานอย่างเข้มงวด และผลิตได้รวดเร็วมากกว่าระบบอื่นๆ

เริ่มต้นกับ “งานโครงสร้าง”

ภายหลังจากการออกแบบ Module ให้เหมาะสมกับความต้องการและสำรวจพื้นที่หน้างานเรียบร้อยแล้ว จึงเริ่มต้นการผลิตโดยการทำงานและการประกอบทั้งหมดจะต้องทำให้เสร็จภายในโรงงานก่อนนำไปติดตั้ง ดังนั้นการเลือกใช้โครงสร้างที่เหมาะสมต่อการเคลื่อนย้ายจึงต้องเป็นโครงสร้างที่มีน้ำหนักเบาเหมาะกับการรับน้ำหนักของพื้นที่ตั้ง ซึ่งก็จะนิยมใช้เหล็กเอชบีม (H-Beam) เป็นโครงสร้างหลัก ประกอบด้วยโครงเสา-คาน เหล็ก งานเทพื้นคอนกรีตและโครงหลังคา ซึ่งมีความแข็งแรงตอบโจทย์ที่ผู้ออกแบบได้ออกแบบมา Module ในแต่ละ Module สามารถซ้อนกันได้หลายชั้นตามการออกแบบ สามารถยกและการเคลื่อนย้ายได้โดยรถยกหรือเครน

ติดตั้ง “งานสถาปัตยกรรม” ให้เรียบร้อย

ในส่วนของผนังอาคารจะเลือกใช้เป็นผนังเบาสองชั้นและมีฉนวนกันความร้อนและกันเสียงภายใน ซึ่งช่วยกันความร้อนและเสียงได้ดีกว่าผนังปกติ สามารถเจาะต่อเติมได้ (ตามจุดที่มีการคำนวนไว้สำหรับเจาะ) ซึ่งวัสดุภายในและภายนอกสามารถปรับเปลี่ยน Finishing ได้ตามงบประมาณและความต้องการของลูกค้า ทั้งในส่วนงานปูพื้น งานฝ้า งานประตู-หน้าต่างและงานหลังคาสามารถใช้วัสดุตกแต่งตามมาตรฐานเดียวกับงานก่อสร้างอาคารทั่วไป โดยในส่วนพื้นทางเข้าอาคารสามารถเลือกเป็นระเบียงที่มีบันไดหรือพื้นทางลาดก็ได้ เพื่อเหมาะกับการใช้งานแบบ Universal Design สะดวกต่อทุกเพศทุกวัย เรียกว่าเมื่อก่อสร้างเสร็จสามารถเข้าอยู่ใช้งานได้เลย

เติมแต่ง “งานอินทีเรียและงานระบบอาคาร” ให้สมบูรณ์

ในส่วนของงานตกแต่งภายในก็จะถูกทำให้เสร็จสมบูรณ์ในโรงงานเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นห้องน้ำที่มีการติดตั้งสุขภัณฑ์ และวางระบบท่อต่าง ๆ ห้องครัว ห้องนอน ห้องรับแขก รวมทั้งพื้นที่ใช้สอยอื่น ๆ ซึ่งต้องมีการ Built-In เฟอร์นิเจอร์หรือติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ให้เรียบร้อย ซึ่งข้อดีของขั้นตอนการทำงานทุกกระบวนการในโรงงานเช่นนี้ ก็จะสามารถควบคุมคุณภาพงานทุกส่วนได้เป็นอย่างดี มีการตรวจสอบและทดสอบการรั่วของน้ำทั้งพื้นห้องน้ำ หลังคาและท่อต่าง ๆ ซึ่งมักจะเป็นปัญหาหลักของการก่อสร้างทั่วไป รวมทั้งทดสอบการใช้งานของอุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้งไฟฟ้า แอร์ และเครื่องใช้อื่น ๆ และทดสอบการประกอบติดตั้งจนแน่ใจว่าไม่มีปัญหาใด ๆ ก่อนที่จะส่งไปติดตั้งในสถานที่ก่อสร้าง

ขนย้ายทั้ง Module นำไปติดตั้งที่หน้างาน

โดยเมื่อทำงานทั้ง 3 กระบวนการเสร็จเรียบร้อยในโรงงานแล้ว จะทำการยกทั้ง Module ไปติดตั้งที่สถานที่ก่อสร้างและประกอบแต่ละ Module เข้าด้วยกัน ด้วยการติดตั้งในระบบ Bolted Connection ตามหลักวิศวกรรม โดยการวางยึดบนฐานรากเหมือนการก่อสร้างทั่วไป ซึ่งด้วยน้ำหนักโครงสร้างที่เบา จึงสามารถออกแบบฐานรากรวมถึงเสาเข็มได้ประหยัดขึ้นตามไปด้วย และที่สำคัญยังจบการทำงานที่หน้างานได้รวดเร็วกว่าระบบอื่น ๆ เนื่องจากหน้างานสามารถเตรียมงานใต้ดินและงานฐานรากไปพร้อม ๆ กับการผลิตชิ้นงานทั้ง 3 กระบวนการข้างต้นได้ในเวลาเดียวกัน

การก่อสร้างในระบบ Modular System ซึ่งใช้ระบบสำเร็จรูป จึงเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับเจ้าของโครงการที่ต้องการก่อสร้างอาคารทางธุรกิจต่าง ๆ ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม รีสอร์ท อาคารสำนักงาน บ้าน หรือร้านค้า การใช้ระบบ “สำเร็จรูป” ก็จะเข้ามาช่วยทำให้การก่อสร้างต่าง ๆ เป็นเรื่องที่ง่ายดาย และควบคุมงบประมาณต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทาง SYS หวังว่าบทความนี้จะช่วยเสริมความรู้ที่น่าสนใจเกี่ยวกับขั้นตอนการทำงานก่อสร้างในระบบ Modular System กันได้มากขึ้น โดยในบทความหน้าเราจะพาไปชมโครงการก่อสร้างจริงที่ใช้ระบบ Modular System กับโครงการ NIMANO SUITES ที่ออกแบบและก่อสร้างโดยบริษัท ME DESIGN AND I จำกัดภายใต้แบรนด์ Medular ซึ่งจะมีความน่าสนใจอย่างไร รอติดตามกันได้เลย!