เชื่อมท่าราบ VS เชื่อมท่าตั้ง เทคนิคไหนงานเชื่อมสวยเนี้ยบโดนใจ

สำหรับการเชื่อมชิ้นงานเหล็กในรอยต่อชนิดต่าง ๆ ตามมาตรฐาน AWS ซึ่งกำหนดรอยต่อและชนิดรอยต่อไว้เป็น 5 ชนิด ได้แก่ รอยต่อชน รอยต่อเกย รอยต่อขอบ รอยต่อมุม และรอยต่อตัวที ซึ่งไม่ว่าช่างจะเลือกวิธีการเชื่อมชิ้นงานด้วยรอยต่อชนิดใด เพื่อให้สามารถเชื่อมชิ้นงานเป็นไปได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ การเลือกท่าทางในการทำงานที่เหมาะสมย่อมมีผลต่อคุณภาพชิ้นงานเชื่อมแน่นอน


2 ท่าเชื่อม วิธีการต่างกันอย่างไร?

การเชื่อมท่าราบ เป็นการเชื่อมที่ลวดเชื่อมจะทำมุมกับงาน (มุมเดิน) ประมาณ 67-75 องศา และทำมุมกับชิ้นงานด้านข้าง (มุมงาน) 90 องศา โดยเป็นการเชื่อมโดยวางชิ้นงานราบจึงสามารถควบคุมการเชื่อมได้ง่าย

การเชื่อมท่าตั้ง เป็นการเชื่อมชิ้นงานในแนวตั้งพบในการเชื่อมหน้างาน ลวดเชื่อมจะทำมุมกับงาน (มุมเดิน) ประมาณ 70-80 องศา และทำมุมกับชิ้นงาน (มุมงาน) ประมาณ 45 องศา ดังนั้นจะเกิดน้ำโลหะไหลย้อยได้จึงต้องมีเทคนิคในการเชื่อมให้น้ำโลหะไหลย้อยน้อยลง ขณะเคลื่อนส่ายลวดเชื่อมควรหยุดบริเวณขอบของรอยต่อชั่วขณะหนึ่ง เพื่อให้แนวเชื่อมตรงกลางแข็งตัวและลดการย้อยของน้ำโลหะได้


ท่าทางการเชื่อม ส่งผลต่อคุณภาพชิ้นงาน

แน่นอนว่าการทำงานบนพื้นราบย่อมดีกว่าการทำงานตั้งฉากกับพื้นโลก เพราะเราสามารถที่จะใช้วิธีการยกย้าย ขยับ หมุน ชิ้นงานได้ตามท่าทางการทำงานที่สะดวกสบายแบบท่าทางพื้นฐาน สามารถควบคุมบ่อหลอมละลายได้ง่ายกว่าจากแรงโน้มถ่วง การเชื่อมงานในท่าราบอย่างการทำในโรงงานจึงเป็นท่าที่ง่ายต่อการทำงานและการควบคุมคุณภาพได้ดีกว่าการไปเชื่อมหน้างานที่ต้องใช้การเชื่อมท่าตั้งหรือท่าอื่น ๆ ตามบริบทที่จะส่งผลให้ชิ้นงานไม่เรียบร้อยเท่าที่ควร


เชื่อมท่าตั้งต้องใช้ช่างที่มีทักษะสูง

เพราะการเชื่อมท่าราบช่างทำงานได้สะดวกมากกว่า ดังนั้นช่างเชื่อมจึงไม่ต้องเป็นช่างเชื่อมที่มีทักษะเฉพาะทาง ช่างเชื่อมทั่ว ๆ ไปก็สามารถเชื่อมงานได้สะดวก แต่การเชื่อมท่าตั้งควรเลือกช่างที่เชื่อมท่ายากได้ ซึ่งต้องเป็นช่างที่ผ่านการสอบท่าเชื่อมเฉพาะ หากจำเป็นต้องเชื่อมหน้างานผู้รับเหมาจึงต้องตรวจสอบช่างว่ามีใบรับรอง (Certificate) หรือไม่ เพื่อเป็นการการันตีระดับความสามารถของช่างเชื่อมว่าสามารถปฏิบัติงานได้ตามมาตรฐานการควบคุมระบบงานเชื่อม ซึ่งจะมีผลต่อค่าแรงงานของช่างที่สูงกว่าตามความยากง่ายของแต่ละกระบวนการเชื่อมอีกด้วย


หลีกเลี่ยงการทำงานยาก ด้วยการเลือกท่าเชื่อมที่ถนัด

สำหรับช่างเชื่อมที่ยังไม่เชี่ยวชาญในการเชื่อมทุกรูปแบบ สามารถแก้ปัญหาโดยการประกอบชิ้นงานที่พื้นดินอย่างการทำงานเชื่อมให้เสร็จในโรงงาน ซึ่งสามารถจัดตำแหน่งจุดเชื่อมให้มาอยู่ในตำแหน่งท่าเชื่อมที่ถนัดมากที่สุด เพื่อเชื่อมชิ้นงานให้เรียบร้อย แล้วค่อยยกชิ้นงานขึ้นไปติดตั้งที่หน้างานด้วยระบบ Bolted Connection เพื่อให้ได้งานเชื่อมที่สวยเนี้ยบมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญการทำงานในโรงงานยังมีสภาพแวดล้อมที่ครบครันไปด้วยอุปกรณ์และการควบคุมความเสถียรของกระแสไฟที่คงที่มากกว่าอีกด้วย