ข้อดีหนึ่งที่หลายท่านน่าจะรู้จักกันดีเกี่ยวกับงานก่อสร้างอาคารด้วยเหล็ก คือความรวดเร็วในการก่อสร้าง ทว่าความเร็วที่ว่านั้น แค่ไหนกันที่เรียกว่าเร็ว การใช้เหล็กในการก่อสร้าง จะช่วยให้สร้างอาคารได้เร็วอย่างมีนัยสำคัญแค่ไหนและอย่างไร
บนที่ดินผืนหนึ่งในพื้นที่ของเมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี มหาวิทยาลัยศิลปากรเพิ่งจะได้ขยายขอบเขตของมหาวิทยาลัยด้วยการย้ายบางคณะและบางภาควิชาออกไปในบริเวณนี้ และเพิ่งได้สร้างอาคารเรียน Silpakorn City Campus เมืองทองธานี หรือ Silpakorn Flagship Building ซึ่งออกแบบโดย Geodesic Design Studio เป็นอาคารเรียนนำร่อง เมื่อไม่นานมานี้
ที่ตั้งเดิมนั้นเป็นพื้นที่โล่ง แลนด์สเคปมีเพียงบ่อน้ำขนาดใหญ่ ประโยชน์จากพื้นที่ตั้ง เช่น ร่มเงาจากต้นไม้ที่จะให้กับตัวอาคารนั้นจึงหาได้ยาก ดังนั้น สถาปนิกจึงเลือกที่จะออกแบบอาคารให้เอื้อให้เกิดความสบายให้มากที่สุดด้วยตัวอาคารเอง สถาปนิกเลือกใช้ข้อดีในที่ดินที่ยังมีอยู่คือเลือกตั้งตัวอาคารไว้ใกล้บ่อน้ำเดิมเพื่อรับประโยชน์ด้านการระบายอากาศด้วยความเย็นของน้ำ นอกจากนั้น เราจะพบว่าการออกแบบอาคารนั้นใช้การออกแบบองค์ประกอบต่างๆ ให้เกิดสภาวะสบายด้วยตัวอาคารเอง แบบที่สถาปนิกกล่าวไว้ว่า ใช้หลักการไม่ต่างจาก “เรือนไทย” ในอดีต
โดยเฉพาะ การยกอาคารให้สูงโปร่งขึ้นเหนือพื้นดินและผืนน้ำ ให้อากาศได้มีโอกาสไหลเวียนผ่านได้ทั่ว พื้นที่บนชั้น 1 ของอาคารจึงถูกปล่อยให้เป็นพื้นที่เอนกประสงค์โล่งกว้าง เพื่อให้นักศึกษาอาศัยร่มเงาใต้อาคารใช้เป็นที่ทำกิจกรรมต่างๆ คล้ายพื้นที่ใต้ถุนของเรือนใต้ถุนสูง นอกจากนั้น ในบริเวณกึ่งกลางอาคารยังถูกเว้นที่ไว้เป็นปล่องบันไดขนาดใหญ่ที่โล่งทะลุตลอดตั้งแต่ชั้น 1 ถึงชั้น 5 เพื่อเอื้อให้เกิดการถ่ายเทอากาศภายในอาคาร ซึ่งสัมพันธ์กับเปลือกนอกของอาคารที่เป็นกึ่งทางเดินกลางแจ้ง (อยู่ใต้ร่มเงา กันฝน แต่สัมผัสอากาศภายนอก) ที่ก็ออกแบบผนังให้อากาศไหลเวียนเข้าออกได้โดยตลอด ที่สำคัญ แนวคิดการถ่ายเทอากาศดังที่ว่านี้ ยังสัมพันธ์กับการเลือกใช้วัสดุในการก่อสร้างอาคารอีกด้วย
สถาปนิกเลือกใช้เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนเป็นโครงสร้างเสา-คานหลักของอาคาร ซึ่งเอื้อให้สามารถสร้างอาคารได้สูง มีสแปนกว้าง โดยยังคงขนาดของชิ้นส่วนโครงสร้างได้บางและเล็กกว่าระบบโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก สอดคล้องกับการสร้างอาคารให้โปร่งเบา นอกจากนั้น ระบบโครงสร้างนี้ยังสอดคล้องไปกับการออกแบบเปลือกอาคารด้วยการกรุแผงโพลีคาร์บอเนตลงไปบนโครงสร้างเหล็ก ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เกิดการถ่ายเทอากาศ ยังช่วยให้อาคารได้รับแสงธรรมชาติตลอดวันจากคุณสมบัติความโปร่งแสงของวัสดุโพลีคาร์บอเนตเอง
แต่ที่สำคัญที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการเลือกใช้โครงสร้างเหล็กก็ดี หรือการใช้แผงโพลีคาร์บอเนตเป็นวัสดุหลักในการกรุผิวอาคารก็ดี ทั้งหมดสืบเนื่องมาจากการตอบเงื่อนไขของระยะเวลาการก่อสร้างอาคารที่มีอยู่อย่างจำกัดยิ่ง ด้วยการเป็นอาคารเรียน อาคาร Silpakorn Flagship Building จึงถูกบังคับด้วยวันและเวลาการเปิดภาคเรียนอันแน่นอนที่กำลังใกล้เข้ามา อาคารขนาดพื้นที่ใช้สอยกว่า 4,000 ตารางเมตร ถูกบีบด้วยระยะเวลารวมการออกแบบและก่อสร้างเพียงไม่ถึง 1 ปีเท่านั้น เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน การใช้ระบบแผ่นพื้นสำเร็จรูป Hollow Core รวมไปถึงการใช้แผ่นคาร์บอเนต เป็นวัสดุที่เข้ามาช่วยให้สถาปนิกสามารถออกแบบและก่อสร้างอาคารได้ทันในกำหนดเวลา ด้วยทั้งหมดเป็นวัสดุสำเร็จรูปที่ถูกผลิตสำเร็จจากโรงงาน มีระยะ ขนาด และน้ำหนักที่แน่นอน ทำให้สามารถออกแบบตัวอาคาร ที่จะสอดคล้องไปกับการวางแผนการก่อสร้างได้ทันตามกำหนดเวลา การเลือกใช้เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนจึงเป็นวัสดุอันแสดงให้เห็นจุดร่วมที่ลงตัวระหว่างความงามและการออกแบบหน้าที่ใช้สอยที่เหมาะสมในการทำงานเชิงสถาปัตยกรรม และความเป็นไปได้รวมถึงการบรรลุการก่อสร้างให้สำเร็จด้วยดีในการทำงานเชิงวิศวกรรม
เพราะระบบโครงสร้างเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนนั้น ได้รับการเปรียบเทียบว่า สามารถช่วยประหยัดระยะเวลาในการก่อสร้างได้มากกว่าระบบโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กทั่วไปถึงราว 20 – 30 เปอร์เซ็นต์ โครงสร้างเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนจึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจอย่างยิ่งกับงานที่มีระยะเวลากำหนดที่ตายตัว และความเรียบร้อยรวดเร็วในการก่อสร้างนั้นจำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างอาคารให้ลุล่วงสมบูรณ์
ขอบคุณภาพจาก BeerSingnoi