ถ้าต้องการให้การก่อสร้างทำได้สะดวกรวดเร็วตรงตามเวลาที่กำหนดไว้และแก้ไขปัญหาในหลาย ๆ ด้านได้จบในตัวโครงสร้าง Cellular Beam ถือเป็นโครงสร้างหนึ่งที่ตอบโจทย์นี้ได้เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับที่ทางโรงเรียนอัสสัมชัญ ลำปาง ได้เลือกใช้ Cellular Beam มาเป็นโครงสร้างหลักให้กับลานอเนกประสงค์แห่งใหม่ในโรงเรียน เพราะ Cellular Beam เป็นโครงสร้างที่ช่วยลดน้ำหนักและขนาดของโครงสร้างช่วงยาวลงได้ อาคารจึงดูโปร่งโล่งและเบาได้มากขึ้น นอกจากนี้ด้วยการเป็นชิ้นส่วนโครงสร้างแบบสำเร็จรูป คือผ่านการ เตรียมการและดัดแปลงรูปทรงมาเรียบร้อยแล้วจากในโรงงาน ยิ่งช่วยให้การก่อสร้างที่หน้างานสะดวกขึ้น ไม่ว่าหน้างานจะเล็กแคบหรืออยู่ระหว่างอาคารเรียน 2 ฝั่ง Cellular Beam ก็สามารถติดตั้งได้อย่างแม่นยำ
และยิ่งในพื้นที่โรงเรียนที่รายล้อมด้วยอาคารเรียนหลังเก่า และรายล้อมไปด้วยกิจกรรมการเรียนการสอนของทั้งครูและนักเรียนอย่างอัสสัมชัญ ลำปาง โครงสร้าง Cellular Beam พร้อมการติดตั้งแบบ Bolted Connection ก็ยิ่งตอบโจทย์ เพราะสามารถควบคุมให้งานก่อสร้างเสร็จได้รวดเร็ว การติดตั้งไม่กระทบการเรียนการสอน และยังสามารถออกแบบให้โครงสร้างมีความสวยงามจบในตัวได้เลย โดยไม่ต้องดีไซน์ส่วนตกแต่งเพิ่มเติม การเลือกใช้ Cellular Beam มาเป็นโครงสร้างอาคาร จึงช่วยจบได้ทุกปัญหาการก่อสร้าง และช่วยให้การก่อสร้างคุ้มค่าได้มากกว่าเดิมด้วย
ลานอเนกประสงค์แห่งใหม่ บนพื้นที่เก่าระหว่างอาคารเรียน
ทางผู้บริหารของโรงเรียนอัสสัมชัญ ลำปาง มีความต้องการก่อสร้างพื้นที่ลานอเนกประสงค์แบบ Outdoor ขึ้นมาเพิ่มเติม เพื่อเป็นพื้นที่ให้กับนักเรียน คุณครูและบุคลากรในโรงเรียนได้ใช้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้สะดวกมากขึ้น แต่เพราะว่าการใช้งานแบบ Outdoor ที่ไม่มีหลังคาคลุม อาจทำให้การใช้งานต้องตากแดดตากฝนและไม่สะดวกใช้งาน ทาง อาจารย์ตุ๊ คุณธนารัฏช์ วิเชียรทัศนา จาก บริษัท กรีนไลน์ สถาปนิก ผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างที่เชี่ยวชาญการออกแบบอาคาร ด้วยรูปแบบโครงสร้าง Cellular Beam จึงได้มีแนวคิดเริ่มต้นด้วยการออกแบบเป็น Sun Shade หรือกันสาดบังแดดขึ้นมา ก่อนจะพัฒนาแบบจนกลายมาเป็นลานอเนกประสงค์ในร่ม ด้วยโครงสร้างเหล็ก Cellular Beam ที่มีพื้นที่ใช้สอยกว่า 6,000 ตารางเมตร มีส่วนสูงที่สุดที่ 11 เมตร และมีช่วงพาดยาวกว่า 45 เมตร
ปัจจัยที่ทำให้อาจารย์ตุ๊ เลือกทำเป็นลานในร่มที่มีหลังคาคลุมทั้งหมด เป็นเพราะว่า ต้องการให้ลานนี้สามารถใช้งานได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะมีสภาพอากาศแบบไหน หรืออยู่ในฤดูไหนก็ตาม และต้องการให้พื้นที่ระหว่างอาคารเรียน 2 หลังนี้ สามารถรองรับกิจกรรมได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การเล่นกีฬาอย่างวอลเล่ย์บอล บาสเกตบอล การจัดกิจกรรมนันทนาการ หรือการจัดงานด้านดนตรี โดยที่สร้างเสียงรบกวนให้กับอาคารเรียนด้านข้างน้อยที่สุด ดีไซน์ของอาคารจึงออกมาเป็นหลังคาทรงโค้งยกสูงและบีบให้ด้านข้างแคบลง เพื่อให้มีลักษณะเหมือนโดม ทั้งยังมีการออกแบบชิ้นส่วนโครงสร้างให้เป็นชุด และมีความสูงต่างกัน ทำให้ตอนที่นำมาติดตั้ง เกิดเป็นช่องว่าง (Gap) ตรงหลังคา ที่ช่วยให้แสงธรรมชาติเข้ามาและช่วยระบายอากาศให้พื้นที่ โดยไม่มีปัญหาเรื่องฝนสาด เพราะมีชายคาซ้อนทับกันยาวถึง 2 เมตรในแต่ละด้าน
ทางด้านอาจารย์ตุ๊ ได้เล่าว่า รูปแบบโครงสร้างที่เราเห็นนี้ ได้มาจากการวิเคราะห์และออกแบบให้ตัวโครงสร้างแก้ไขปัญหาในทุกจุดจบในตัว เพื่อให้เป็นไปตามแนวคิด Basic Design ที่ออกแบบโครงสร้างให้ตอบโจทย์การใช้งานในตัวเลย โดยไม่ต้องตกแต่งเพิ่มเติมให้มากมาย ซึ่งโครงสร้างของลานอเนกประสงค์นี้ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ ทั้งการรับแสงธรรมชาติ การระบายอากาศ การ กระจายเสียง การลดเสียงรบกวน การต้านทานแรงลม ไปจนถึงดีไซน์ที่สวยงาม
อีกจุดหนึ่งที่เป็นจุดเด่นของโครงการนี้คือรูปทรงโค้งหรือ Curve ของโครงสร้าง ที่แปลกตาและดูสวยงาม แต่มีที่มาที่ไม่ธรรมดา เพราะไม่ได้ออกแบบเพื่อให้มีความสวยงามเท่านั้น แต่เป็นการออกแบบโดยใช้ Cellular Beam ให้มีองศาคล้ายกับเส้นสายตกท้องช้างที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งเมื่อเราพลิกกลับด้าน เราจะได้ทรงโค้งที่สวยงาม รับแรงได้ดี ช่วยให้ตัว Cellular Beam สามารถยื่น Span ได้ยาวมากขึ้นกว่าเดิม และที่สำคัญเลยคือ เมื่อใช้เหล็กแบบ Built-up มาดัดโค้งและต่อเข้ากับ Cellular Beam แทนการดัดโค้งเหล็กทั้งท่อน ซึ่งทั้งโครงการนี้มีงบประมาณอยู่ที่ 15 ล้านบาท ตกตารางเมตรละ 3,000 บาทเท่านั้นเอง
(ที่มาภาพเพิ่มเติม จากเว็บไซต์โรงเรียน : https://www.acl.ac.th/index.html )
ส่วนของเสายังมีลูกเล่นการดีไซน์เท่ ๆ จากการออกแบบองศาเสาให้เป็นโครงสร้างแบบพาราเมติก (Parametric Structure) คือมองจากด้านหน้าอาคารจะเห็นการเหลื่อมซ้อนกันไปเรื่อย ๆ นอกจากจะได้เรื่องการรับแรงแล้วยังช่วยให้อาคารสวยงามขึ้นด้วย
นอกจากการออกแบบทั้งหมดที่ได้เล่ามา ทางอาจารย์ตุ๊ ผู้ออกแบบยังมีไอเดียน่าสนใจอีกจุดหนึ่งที่ซ่อนเอาไว้คือ มีการนำชิ้นส่วนที่เหลือจากการเจาะเหล็กให้เป็น Cellular Beam มาใช้ตกแต่งตามแนวโครงสร้างเพิ่มเติม ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเชื่อมโยงความเกี่ยวข้องของการตกแต่งและโครงสร้างได้ ถือเป็นการตกแต่งที่นำวัสดุมาใช้งานได้อย่างคุ้มค่า โดยไม่ต้องทิ้งชิ้นส่วนไปโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์
ที่ตั้งและเวลา เงื่อนไขสำคัญในการเลือกใช้ Cellular Beam
ถ้าเรามองความต้องการด้านการออกแบบต่าง ๆ ที่ทางอาจารย์วางแผนเอาไว้ จะเห็นว่าวัสดุที่ถูกเลือกมาใช้งานจะต้องรองรับความต้องการเหล่านี้ได้ครบ คือต้องมีความแข็งแรงและต้องมีความยืดหยุ่นในการใช้งาน ที่สำคัญคือต้องเป็นวัสดุที่สำเร็จรูปมาแล้วพร้อมติดตั้งทันที เพื่อลดผลกระทบต่อกิจกรรมของนักเรียน
นอกจากปัจจัยด้านความต้องการของทางผู้ออกแบบแล้ว ยังมีปัจจัยเรื่องเวลาและที่ตั้งเข้ามาเป็นเงื่อนไขในการเลือกวัสดุก่อสร้างด้วย เพราะจะต้องก่อสร้างให้เร็วในเวลาประมาณ 2 – 3 เดือนเพื่อให้ทันช่วงเปิดเทอม และต้องขนย้าย กองเก็บและติดตั้งในหน้างานที่ถูกขนาบด้วยอาคารเรียนได้สะดวกด้วย ทางผู้ออกแบบจึงได้เลือกใช้เหล็กโครงสร้างจาก SYS เกรด SM520 มาแปรรูปเป็น Cellular Beam เพื่อใช้เป็นโครงสร้างหลักของการก่อสร้าง เพราะตัวเหล็กมีขนาดมาตรฐาน สามารถออกแบบและคำนวณระยะได้แม่นยำ ทั้งยังสามารถเตรียมการชิ้นส่วนทั้งหมดได้ภายในโรงงาน จึงไม่มีปัญหาในการติดตั้งแม้ว่าหน้างานจะมีพื้นที่จำกัด
Cellular Beam ถูกเลือกมาใช้งานเป็นโครงสร้างหลักของลานอเนกประสงค์ เมื่อรวมเข้ากับการควบคุมและดูแลการก่อสร้างที่รัดกุม ทำให้ใช้เวลาทั้งหมดตั้งแต่เริ่มเข้าพื้นที่ ลงฐานรากและติดตั้งชิ้นส่วนด้วยระบบ Bolted Connection ใช้เวลาไปเพียงแค่ 2 เดือนเท่านั้น โดย 1 เดือนแรกเป็นการก่อสร้างส่วนฐานราก และอีก 1 เดือนเป็นการยกชิ้นส่วนขึ้นติดตั้ง ที่ทำงานได้รวดเร็วเป็นเพราะ ชิ้นส่วนทั้งหมดถูกทำขึ้นในโรงงาน ทำให้วางประกอบเช็คระยะทั้งหมดในโรงงานได้ ก่อนนำมาติดตั้งที่หน้างาน ซึ่งขั้นตอนนี้สามารถเตรียมการไปพร้อมกับการทำฐานรากที่หน้างานได้เลย
การก่อสร้างทั้งหมดเมื่อเทียบกับการใช้โครงสร้างถัก (Truss) จึงเร็วขึ้นได้มากว่าถึง 20 – 30% เลยทีเดียว เพราะไม่ต้องเสียเวลามาเชื่อมชิ้นส่วนแต่ละชิ้นเข้าด้วยกัน Cellular Beam จึงเหมาะกับการก่อสร้างโครงการนี้มากที่สุด
Cellular Beam จาก SYS โครงสร้างสำหรับอาคารขนาดใหญ่ ที่ช่วยจบได้ทุกปัญหาการก่อสร้าง
นอกจากนี้ การเลือกใช้ Cellular Beam ที่เป็นหนึ่งในประเภทของโครงสร้างเหล็ก ยังช่วยตอบโจทย์เชื่อมต่อ Joint แต่ละชิ้นส่วนได้ง่ายและแข็งแรง อาคารจากโครงสร้างเหล็กจึงทนทานและทนแรงสั่นสะเทือนได้ดีกว่า เมื่อเทียบกับการก่อสร้างด้วยโครงสร้างอื่น ๆ
และจากการพูดคุยถึงเรื่องราวความเป็นมาของลานอเนกประสงค์ของโรงเรีนอัสสัมชัญ ลำปางแห่งนี้ ที่มีทั้งอุปสรรคในการก่อสร้างและโจทย์ความต้องการที่หลากหลาย เราจะเห็นได้ว่า Cellular Beam ที่ทางผู้ออกแบบเลือกมาใช้งานนั้น สามารถตอบโจทย์และทำหน้าที่เป็นทั้งโครงสร้างที่แข็งแรงและเป็นทั้งอาคารที่สวยงามได้เป็นอย่างดี
รวมถึงเป็นโครงสร้างที่ช่วยลดทั้งระยะเวลาในการติดตั้งและค่าใช้จ่ายในภาพรวม แต่ยังคงคุณภาพของโครงการเอาไว้ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ในอาคารขนาดใหญ่ที่มีข้อจำกัด มีอุปสรรคในการก่อสร้าง หรือมีโจทย์ความต้องการอันหลากหลาย การเลือกใช้โครงสร้าง Cellular Beam ที่มีคุณภาพจาก SYS จึงถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้เราได้อาคารที่ตรงใจ และจบทุกปัญหาการก่อสร้างได้ในอย่างมีประสิทธิภาพ
ขอขอบคุณภาพจาก https://www.facebook.com/ACL2501/?locale=th_TH