กว่าจะเป็นอาคาร 1 หลัง ต้องผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง?

ในการก่อสร้างอาคารสักหลังให้สวย ให้แข็งแรงและคุ้มค่าที่สุด ไม่ใช่การตัดสินใจวันนี้แล้วพรุ่งนี้ดำเนินการได้เลย แต่จะต้องผ่านขั้นตอนต่าง ๆ และผ่านการทำงานของผู้เชี่ยวชาญด้านนั้น ๆ ก่อน ทั้งการวิเคราะห์และออกแบบของสถาปนิกและวิศวกรโครงสร้าง ไปจนถึงการควบคุมการก่อสร้างของผู้รับเหมา เพื่อให้งานออกแบบและก่อสร้างสามารถทำได้อย่างมีมาตรฐานที่สุด 

ถ้าหากเจ้าของโครงการละเลยความสำคัญของขั้นตอนเหล่านี้ อาจส่งผลให้เกิดปัญหาขึ้นได้ ทั้งปัญหาในการออกแบบที่ไม่ตรงใจ ปัญหาในการก่อสร้างที่ไม่เหมาะกับพื้นที่หรือคุณภาพวัสดุที่ไม่ตอบโจทย์ ไปจนถึงปัญหาการใช้งาน และอาจทำให้เจ้าของโครงการเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเพิ่มขึ้นไปอีก

ดังนั้นการจะก่อสร้างอาคารที่ต้องการสักหลัง จึงต้องวางแผนและวิเคราะห์ข้อมูลให้ครบทุกด้านก่อน เพื่อส่งต่อให้ขั้นตอนต่อจากนี้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด และเมื่อขั้นตอนต่าง ๆ มีประสิทธิภาพ อาคารที่ได้ก็จะมีประสิทธิภาพที่ดีตามไปด้วย

 

ขั้นตอนที่ 1 : เริ่มวางแผนและวิเคราะห์ข้อมูล

ก่อนที่อาคารที่เราต้องการจะเสร็จสิ้นเป็นอาคาร 1 หลัง ให้เราได้เข้าไปใช้งาน ควรมีการวางแผนงานให้รัดกุม เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการก่อสร้าง โดยส่วนใหญ่หน้าที่นี้จะเป็นการทำงานของทางสถาปนิกและวิศวกรโครงสร้างเป็นหลักเพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการออกแบบรูปลักษณ์และโครงสร้างของอาคาร รวมถึงใช้เป็นเกณฑ์ในการเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งข้อมูลที่สำคัญจะเป็นข้อมูลประเภทลักษณะที่ตั้งที่จะทำการก่อสร้างว่ามีการเข้าออก มีความกว้างถนนเป็นอย่างไร ชั้นดินเป็นดินประเภทไหน ไปจนถึงมีข้อจำกัดหรือจุดเด่นต่าง ๆ อย่างไรบ้าง เพื่อนำมาใช้ในการออกแบบ เลือกวัสดุ รูปแบบการขนส่งและการก่อสร้างในขั้นตอนต่อ ๆ ไป

โดยการปรึกษาและพูดคุยกับทั้งสถาปนิกและวิศวกรโครงสร้างถึงรายละเอียดทั้งหมดของอาคารนี้ จะช่วยให้ผู้ที่เชี่ยวชาญช่วยดูแลขั้นตอนการทำงานและช่วยจัดการงานออกแบบให้ตรงกับความต้องการของเจ้าของโครงการให้ได้มากที่สุด เมื่อการวางแผนรัดกุมสมบูรณ์ ก็สามารถส่งต่อไปที่ขั้นตอนการออกแบบและก่อสร้างให้ทำงานได้ง่ายและเป็นระบบมากขึ้นได้ การวิเคราะห์ข้อมูลจึงถือเป็นขั้นตอนเริ่มต้นที่สำคัญมาก ๆ และเจ้าของโครงการไม่ควรมองข้ามไป

 

ขั้นตอนที่ 2 : จัดการงานออกแบบให้สวยและแข็งแรง

ขั้นตอนต่อมาก่อนที่จะไปถึงขั้นตอนการก่อสร้าง คือการออกแบบ เป็นขั้นตอนที่สถาปนิก นักออกแบบ และ   วิศวกรโครงสร้างจะนำข้อมูลและความต้องการของเจ้าของโครงการที่ได้มาเปลี่ยนให้อยู่ในรูปแบบของตัวอาคาร ไม่ว่าจะเป็นดีไซน์รูปทรง พื้นที่การใช้งาน สีสัน วัสดุ และโครงสร้างอาคาร 

ดังนั้นถ้าเจ้าของโครงการอยากได้อาคารตามที่ต้องการและมีความแข็งแรงได้มาตรฐาน การเริ่มต้นออกแบบอาคารให้ดีจึงเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นให้การก่อสร้างต่อจากนี้สามารถทำได้สะดวก ละเอียด ไร้ข้อผิดพลาดได้มากขึ้น ยิ่งในอาคารที่มีดีไซน์หรือโครงสร้างที่ซับซ้อนและพิเศษกว่าโครงสร้างอื่น ๆ การคุยเรื่องแบบกับสถาปนิกและวิศวกรโครงสร้างให้ชัดเจนตั้งแต่ต้น จะช่วยให้การออกแบบและการก่อสร้างสอดคล้องกันได้มากกว่าเดิม

 

ขั้นตอนที่ 3 : ควบคุมงานก่อสร้างให้มีคุณภาพ

และขั้นตอนสุดท้ายที่ต้องเจอ ก่อนที่อาคารจะเสร็จสมบูรณ์ออกมาให้เราได้ใช้งาน คือ ขั้นตอนการก่อสร้าง ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนในการดูแลของผู้รับเหมา หรือผู้ควบคุมการก่อสร้างอื่น ๆ มีหน้าที่ในการนำแบบก่อสร้างและรายละเอียดประกอบแบบต่างๆ ที่สถาปนิก  และ  วิศวกรก่อสร้างได้ทำขึ้นมา มาใช้จัดการ รวมถึงควบคุมให้งานก่อสร้างเป็นไปตามที่วางแผนไว้ โดยต้องบริหารทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นเวลา ค่าใช้จ่ายและคุณภาพของงาน เพื่อให้ได้งานที่ดี ตรงใจเจ้าของและงบไม่บานปลาย และขั้นตอนสุดท้ายเมื่อการก่อสร้างเสร็จสิ้น จำเป็นที่จะต้องมีการตรวจสอบความเรียบร้อยของทั้งรอยต่อ โครงสร้างและงานระบบต่าง ๆ ก่อน เพื่อเช็คความเรียบร้อยก่อนส่งมอบอาคารและเข้ามาใช้งานจริง

กว่าจะได้อาคารตามที่ตั้งใจไว้นั้น เราจะเห็นได้ว่าต้องผ่านขั้นตอนใหญ่ ๆ และขั้นตอนเล็ก ๆ ยิบย่อยมากมาย นั่นเพื่อให้อาคารถูกก่อสร้างออกมาได้ดีที่สุด เหมาะที่สุด และใช้งานได้เต็มที่ที่สุด การจะให้ทุกขั้นตอนเป็นไปได้อย่างราบรื่นและมีคุณภาพ ขั้นตอนการวางแผนและออกแบบจึงเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยให้งานก่อสร้างสามารถทำได้อย่างไร้ข้อผิดพลาด ดังนั้นในทุกการก่อสร้าง เจ้าของโครงการจึงควรปรึกษาและพูดคุยรายละเอียดกับทางสถาปนิกและวิศวกรโครงสร้างก่อนทุกครั้ง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการออกแบบอาคารอย่างเพียงพอ และยังถือเป็นการเตรียมข้อมูลแบบก่อสร้างต่าง ๆ ที่ช่วยให้การก่อสร้างพร้อมดำเนินการได้มากขึ้นด้วย