Harudot by NANA Roaster Coffee

Harudot by Nana Coffee Roasters ร้านกาแฟในแบรนด์ลูกของ Nana Coffee Roasters กับการปักหมุดในหัวเมืองหลักอย่างชลบุรีครั้งแรก นอกจากจะเป็นการขยับขยายเพื่อรองรับการเติบโตทางธุรกิจของแบรนด์แล้ว ยังเป็นการขยับขยายให้ผู้คนเข้าถึงคุณภาพกาแฟของ Nana Coffee Roasters ได้ง่ายมากขึ้นด้วย โดยในครั้งนี้ทางคุณกุ้ง วรงค์ ชลานุชพงศ์ หนึ่งในเจ้าของ Harudot Chonburi by Nana Coffee Roasters ได้ร่วมกับหุ้นส่วน ส่งต่อโจทย์ร้านกาแฟให้คุณเป้ จีรเวช หงสกุล แห่ง IDIN Architects เป็นผู้ออกแบบ ซึ่งแม้จะมีที่มาจากที่เดียวกันแต่ Harudot by Nana Coffee Roasters กลับแตกต่างจาก Nana Coffee Roasters สาขาบางนาอย่างชัดเจน

Harudot by Nana Coffee Roasters มีดีไซน์ที่ผู้คนถูกโอบล้อมเข้ามาหากัน เพื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์และการแลกเปลี่ยนกันอย่างอิสระ ตัวสถาปัตยกรรมถูกยกขึ้นมาเป็นพระเอกเพื่อให้เกิดการจดจำและกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวไปในตัว ส่วนกาแฟยังคงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเติมเต็มช่วงเวลาในการใช้งานของผู้คน 

และด้วยฟอร์มอาคารที่มีการโป่งพอง บิดแกนในหลายมิติ รวมถึงระยะเวลาในการดำเนินการที่มีจำกัด ทางสถาปนิกจึงเลือกใช้เหล็ก H-BEAM จาก SYS มาเป็นโครงสร้างหลักของอาคารที่รับน้ำหนักจั่วทั้งหลังที่ทำหน้าที่เป็นทั้งหลังคาและผนัง รวมถึงกรุปิดผิวด้วยไม้สนธรรมชาติที่ภายในและภายนอกมีสีสันต่างกัน เพื่อให้เกิดเป็นอาคารที่ถ่อมตัว เรียบง่ายมีกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่นเบา ๆ แต่ก็มีดีเทลที่น่าสนใจอัดแน่นอยู่ในพื้นที่ที่รอให้ทุกคนได้มาสัมผัส

 

จาก Nana Coffee Roasters สู่ Harudot by Nana Coffee Roasters คาเฟ่แรกนอกพื้นที่ กทม.

Harudot by Nana Coffee Roasters เป็นแบรนด์ย่อยภายใต้การดูแลของ Nana Coffee Roasters ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่คุณกุ้ง วรงค์ ชลานุชพงศ์ ได้วางแผนที่จะขยายรัศมีในการให้บริการ Nana Coffee Roasters ทั้งในด้านเดลิเวอรี และร้านกาแฟสาขาย่อยที่กระจายตัวสู่พื้นที่หัวเมืองใหญ่นอกกรุงเทพมหานคร จึงเกิดเป็นแบรนด์ลูกที่ชื่อว่า Harudot ขึ้น

โดยที่แรกที่ Harudot by Nana Coffee Roasters ได้ปักหมุดลงไปคือจังหวัดชลบุรี ซึ่งได้ทางคุณเป้ จีรเวช หงสกุล สถาปนิกผู้ออกแบบ จากบริษัท สถาปนิก ไอดิน จำกัด (IDIN Architects) กลับมาเป็นผู้ออกแบบสถาปัตยกรรมและออกแบบ CI (Corporate Identity)ของแบรนด์ให้ หลังจากที่เคยออกแบบโครงการ Nana Coffee Roasters ที่บางนาไปแล้วก่อนหน้านั้น

โจทย์ที่ทางคุณกุ้ง เจ้าของโครงการตั้งเอาไว้ให้กับทางทีมออกแบบของไอดินคือ ทำอย่างไรก็ได้ให้อาคารออกมาสวยที่สุด ให้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ทุกคนต้องมาเยือน ซึ่งทางคุณเป้ได้เล่าให้ฟังว่า แม้ Harudot by Nana Coffee Roasters จะเป็นการต่อยอดมาจาก Nana Coffee Roasters ที่บางนา แต่ด้วยตำแหน่งที่ตั้งและโจทย์ที่มี ตัวอาคารจึงมีคอนเซ็ปต์รวมถึงรูปลักษณ์ที่ต่างจากงานที่แล้วมาอย่างสิ้นเชิง

อาคารในครั้งนี้จะมีฟอร์มที่หวือหวา โดดเด่นสะดุดตา เพื่อเป็นจุดสังเกตและกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ผู้คนสามารถจดจำรูปลักษณ์หน้าตาของสถาปัตยกรรมได้ และเนื่องจากผู้ใช้งานส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่มาเป็นกลุ่ม เช่น กลุ่มเพื่อนหรือครอบครัว พื้นที่ 100 – 150 ที่นั่งภายในร้านจึงถูกหันเข้าหากัน ให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากการออกแบบร้านที่สาขาบางนา ที่จะเน้นกาแฟและการจดจ่ออยู่ที่แก้วกาแฟตรงหน้าเป็นหลัก พื้นที่นั่งจึงบังคับให้ผู้คนแยกตัวและลดปฏิสัมพันธ์ในพื้นที่ลง

 

อาคารจากการทดลอง ที่ BLEND พื้นที่และบรรยากาศให้เป็นหนึ่งเดียว 

ที่มาของดีไซน์คือการที่ทีมออกแบบนำความหมายของชื่อแบรนด์ Harudot มาตีความเพิ่มเติม โดย Haru ในภาษาญี่ปุ่นหมายถึงฤดูใบไม้ผลิ เป็นฤดูการของการงอกเงยเติบโต ในขณะที่ Dot ก็มีความหมายถึงการเป็นจุดเริ่มต้นขององค์ประกอบต่าง ๆ ในทางศิลปะและสถาปัตยกรรม เกิดเป็นคอนเซ็ปต์ที่เกี่ยวกับการเริ่มต้น เติบโต งอกเงย ขึ้นมา

บวกกับทางคุณกุ้งมีหุ้นส่วนที่เชี่ยวชาญด้านต้นไม้ จึงต้องการใช้ต้นเบาบับ ที่มีฟอร์มแปลกตาเข้ามาตกแต่งภายในร้านด้วย เมื่อรวมเข้ากับไอเดียที่ทีมออกแบบมี จึงเกิดเป็นอาคารทรงจั่ว 3 หลังดูเรียบง่าย เป็นเสมือนคลื่นที่มีการโป่งพองออกด้านข้าง จากการเติบโตทะลุอาคารออกมาของต้นไม้ที่อยู่ด้านใน ผนังของอาคารเป็นไม้สนธรรมชาติ ด้านนอกทาสีดำเพื่อให้ดูนิ่งสุขุม ถ่อมตัว ส่วนด้านในใช้เป็นสีธรรมชาติของไม้ให้บรรยากาศที่อบอุ่นและพื้นที่ใช้งานมีดีเทลที่น่าสนใจ พื้นที่ภายนอก ภายใน สถาปัตยกรรมและแลนด์สเคปถูกเบลนและเบลอให้กลายเป็นเรื่องเดียวกันอย่างกลมกลืน

อาคารทรงจั่ว 3 หลังนี้กว้าประมาณ 5 – 6.50 ม. และสูงไม่เกิน 8 ม. แบ่งออกตามฟังก์ชันการใช้งาน คือหลังที่หนึ่งจะเป็นส่วนต้อนรับและ Station ในการชงกาแฟ หลังต่อมาจะเป็นพื้นที่นั่งหลายแบบเพื่อให้เกิดความสนุกในการใช้งาน เช่น ดีไซน์ที่นั่งแบบริบบิ้นที่เลื้อยในระดับต่างกัน เกิดเป็นเก้าอี้ โต๊ะ หรือชั้นวางของบนผนัง หรือรูปแบบเฟอร์นิเจอร์ที่หลากหลายทั้งภายในและภายนอกอาคาร ส่วนสุดท้ายคืออาคารเซอร์วิส ห้องประชุมและห้องน้ำ การแบ่งพื้นที่ให้อยู่ภายใต้จั่วเล็ก ๆ 3 ชิ้น เป็นการย่อยให้ขนาดอาคารเล็กลงและเป็น Human Scale ที่คนคุ้นเคย

 

กาแฟ คอนเซ็ปต์ ดีไซน์ และโครงสร้าง ที่ “ไปสุด” ในทุกทาง

นอกจากเรื่องความเข้มข้นของคุณภาพกาแฟภายใต้ลายเซ็นต์ของ Nana Coffee Roasters และคอนเซ็ปต์ที่โดดเด่นสะดุดตาแล้ว เรื่องที่ไปสุดไม่แพ้กันเลยก็คือโครงสร้างอาคาร จะเห็นได้ว่าโครงสร้างของอาคาร แม้จะเป็นทรงจั่วดูเรียบง่าย แต่ในบางช่วงกลับมีฟอร์มที่ป่องออกด้านข้าง มีการบิดตัวใน 2 – 3 แกน ด้วยฟอร์มอาคารที่แตกต่างจากอาคารทั่วไปนี้ ทำให้ทางสถาปนิกเลือกใช้เป็นโครงสร้างเหล็ก H-BEAM ที่นำไปดัดโค้งให้ได้องศาก่อนนำมาเชื่อมติดตั้งที่หน้างาน เข้ามาเป็นโครงสร้างหลักของอาคาร และปิดผิวด้วยไม้สนธรรมชาติเพื่อให้สามารถใส่ไม้ให้ล้อไปกับองศาของโครงสร้างได้

การเลือกใช้เหล็ก H-BEAM มาเป็นโครงสร้างหลักของอาคารและเลือกไม้จริงมาปิดผิว เป็นเพราะจั่วของอาคารที่ดูเหมือนเป็นหลังคานี้จริง ๆ ทำหน้าที่เป็นผนังของอาคารด้วย ผู้คนจึงสามารถสัมผัสและเข้าใกล้ได้มาก การเลือกใช้วัสดุที่มาจากธรรมชาติจึงช่วยให้อาคารดูจริงมากขึ้น ในขณะที่เหล็ก H-BEAM ทำหน้าที่รับน้ำหนักอาคารทั้งหลังให้สามารถตั้งอยู่ได้อย่างมั่นคง ด้านในผนังยังเกิดเป็นช่องว่างที่สามารถซ่อนงานระบบเอาไว้ภายในได้ด้วย เมื่อรวมเข้ากับ Lighting Design ที่ใช้เป็นไฟ Up-light ส่องจากพื้นขึ้นไปกระทบบนฝ้าบารีซอล แสงในร้านจึงมีความฟุ้งละมุนให้บรรยากาศที่สบายตา 

คุณเป้เล่าว่าโครงการนี้ใช้เวลาในการก่อสร้างรวมกันไม่เกิน 6 – 7 เดือน หนึ่งเหตุผลที่ทำให้การก่อสร้างเร็วขึ้นได้มากขนาดนี้เป็นเพราะเหล็ก H-BEAM ด้วย เพราะพอโครงสร้างเป็นเหล็กรูปพรรณรีดร้อน ก็สามารถออกแบบ เคลียร์แบบร่วมกับทางผู้รับเหมาและนำไปดัดโค้งตามองศาที่วางแผนไว้ได้เลย ข้อผิดพลาดของโครงสร้างจึงแทบจะไม่เกิดขึ้นเมื่อนำมาติดตั้ง และใช้เวลาในการเตรียมการไปจนถึงติดตั้งโครงสร้างเหล็กอยู่ที่ 1 – 2 เดือนเท่านั้นเอง

โครงสร้างเหล็กมีข้อดีหลาย ๆ ข้อที่เหมาะกับการนำมาใช้งาน ทั้งการเป็นวัสดุที่นำไปแปรรูปได้อย่างอิสระ มีความเบา บาง และก่อสร้างได้รวดเร็วมาก การเลือกมาใช้ในงานประเภท Commercial ที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องเวลาเป็นอันดับหนึ่ง เมื่อใช้เหล็กโครงสร้างร่วมกับการวางแผนงานที่ดี ก็ช่วยให้งานเสร็จเร็วขึ้น ต้นทุนของเจ้าของโครงการก็จะลดน้อยลงได้ นอกจากนี้ยังมีข้อดีเรื่องของการเป็นวัสดุที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะนานแค่ไหนก็ยังมีมูลค่าในตัวเองและนำกลับมาใช้ใหม่ได้เสมอ 

 

Harudot by Nana Coffee Roasters จึงกลายเป็นร้านกาแฟที่ก่อสร้างได้ตรงตามภาพไอเดียที่ทางทีมสถาปนิกวางแผนไว้ และก่อสร้างได้เร็วตามกำหนดการเปิดของเจ้าของโครงการ ในบทบาทของการเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ ที่พร้อมเปิดรับให้ผู้คนทุกกลุ่มทุกสังคมได้เข้ามาสัมผัสดีเทลงานออกแบบและความใส่ใจในทุกจุดตั้งแต่คอนเซ็ปต์ร้าน การให้บริการไปจนถึงคุณภาพของกาแฟ