หลักการออกแบบอาคารป้องกันแผ่นดินไหวเบื้องต้น

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในช่วงที่ผ่านมาทำให้ผู้คนตื่นตัวและให้ความสนใจเกี่ยวกับมาตรฐานการก่อสร้างอาคารป้องกันแผ่นดินไหวมากขึ้น

แม้ประเทศไทยจะไม่ได้อยู่ในบริเวณจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวโดยตรงแต่ก็มีสิทธิ์ได้รับผลกระทบเช่นกัน ดังนั้นการออกแบบโครงสร้างอาคารให้สามารถแข็งแรง ทนทานต่อแรงแผ่นดินไหวได้ดี จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม โดยสามารถออกแบบเบื้องต้นได้ดังนี้

  1. ออกแบบโครงสร้างหลักอย่างเสาและคานให้แข็งแรง รับแรงกระทำได้ดี โดยเฉพาะส่วนของเสาที่ต้องแข็งแรงเปรียบเสมือนเป็นแกนพยุงไม่ให้อาคารพังถล่มลงมาเมื่อเกิดแรงแผ่นดินไหว
  1. ออกแบบจุดต่อโครงสร้าง เช่น จุดต่อระหว่างเสาและคานให้แข็งแรง เพราะเป็นจุดที่ถ้าเสียหาย จะทำให้อาคารพังลงมาได้
  1. เสริมโครงสร้างรับแรงเฉือนหรือค้ำยันด้านข้าง (Bracing) เพื่อช่วยรับแรงแผ่นดินไหวที่มากระทำด้านข้าง และช่วยรักษาให้โครงสร้างอาคารไม่เสียรูปจากการสั่นหรือโยกไปมา โดยเสริมบริเวณจุดที่ต้องการเพิ่มความยืดหยุ่นหรือจุดที่ต้องการป้องกันโครงสร้างเสียรูป เช่น ขอบอาคาร กลางอาคาร
  1. กรุงเทพฯ อยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวทำให้ได้รับผลกระทบเป็นคลื่นความถี่ต่ำซึ่งจะมีช่วงการสั่นที่ช้าแต่ยาว ซึ่งพ้องกับชั้นดินอ่อนของกรุงเทพฯ อาคารสูงจึงมีการโยกตัว การเสริมอุปกรณ์ เช่น Damper หรือตัวช่วยดูดซับแรงไว้ในอาคารจะช่วยลดการสั่นหรือโยกตัวของอาคาร และไม่ทำให้โครงสร้างเสียหายได้
  1. อาคารที่น้ำหนักโครงสร้างน้อยจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าอาคารที่น้ำหนักโครงสร้างมาก ดังนั้นหากต้องการลดน้ำหนักโครงสร้างลง สามารถเลือกใช้วัสดุโครงสร้าง เช่น เหล็ก H-BEAM หรือเลือกโครงสร้างแบบผสม ที่ให้ความแข็งแรงทนทานเหมือนเดิม แต่มีน้ำหนักน้อยลงได้
  1. ในภาพรวม อาคารสูงที่ออกแบบและก่อสร้างตามกฎหมายในพื้นที่กรุงเทพฯ ต้องสามารถทนต่อแรงสั่นสะเทือนจากแรงแผ่นดินไหวได้ โดยหากเกิดเหตุการณ์โครงสร้างอาจมีการเสียหายได้บางส่วน แต่ต้องแข็งแรงเพียงพอต่อการให้เวลาผู้ใช้งานอาคารสามารถอพยพออกมาได้ทัน

ในการออกแบบและก่อสร้างอาคารสูงต้องผ่านการออกแบบ ตรวจสอบ และคำนวณอย่างถูกต้องโดยวิศวกรโครงสร้างผู้เชี่ยวชาญโดยละเอียด เพื่อให้ได้โครงสร้างที่แข็งแรงสมบูรณ์ รับแรงต่าง ๆ ได้ดี และมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งานในทุก กรณี