Project: iCanteen
Owner: คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
Architect: Normal Studio โดย วีระนิตย์ อมรประเสริฐศรี
Photo: ศุภกร ศรีสกุล
เห็นอาคารโครงสร้างเหล็กที่ดูเรียบง่ายและน่าใช้งานนี้มาแล้วไม่มากก็น้อย ความลงตัวของงานโครงสร้างและพื้นที่การใช้งาน ถูกคิดมาอย่างแยบยล เพื่อให้ผู้ใช้งานอาคารรู้สึกสะดวกสบายและมีความสุขในการใช้งานอาคารนี้มากที่สุด แม้อาคารนี้จะสร้างเสร็จและใช้งานมาหลายปีแล้ว แต่การออกแบบที่ดี ย่อมชนะกาลเวลา จะไม่มีคำว่าเชยหรือล้าสมัย เพราะความเรียบง่ายที่เน้นประโยชน์ใช้สอย ย่อมชนะทุกสิ่ง
ความเป็นมาของโครงการนี้คือ เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว โรงอาหารหลังเก่าของคณะวศิวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มมีสภาพทรุดโทรม ใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ ด้วยการออกแบบอาคารแบบเก่า ที่มีความทึบตัน แสงสว่างเข้าถึงภายในอาคารได้น้อย คณะวศิวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงมีความคิดที่จะปรับปรุงโรงอาหารครั้งใหญ่ โดยร่วมกับ บริษัท เหล็กสยามยามาโตะ จำกัด (SYS) จึงจัดการประกวดออกแบบโรงอาหารโครงสร้างเหล็กหลังใหม่ ซึ่งจะถูกสร้างในสถานที่แห่งเดิมนี้ขึ้น ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้สถาปนิกที่มีความสนใจทุกคนได้ร่วมส่งผลงาน และมีคณะกรรมการคัดเลือกในขั้นต้น หลักจากนั้นจะมีการส่งแบบอีกครั้งเพื่อตัดสินผู้ชนะ และนำแบบนั้นมาพัฒนาเพื่อก่อสร้างจริงต่อไป ต่างจากการก่อสร้างอาคารของรัฐแบบเดิมๆ ที่จะใช้ลักษณะของการ Turn Key (ออกแบบพร้อมก่อสร้าง) ไม่ได้มีการคัดเลือกแบบหรือสถาปนิกอย่างจริงจัง ฉะนั้นโครงการนี้จึงได้แบบอาคารที่หลากหลาย น่าสนใจ ก่อนพิจารณาเลือกแบบที่ดีที่สุดเป็นผู้ชนะเลิศ ซึ่งเป็นผลงานของคุณ วีระนิตย์ อมรประเสริฐศรี จาก Normal Studio นั่นเอง

จากแบบร่างบนกระดาษในวันนั้น จนถึงวันนี้ โรงอาหารโครงสร้างเหล็กที่ตอบโจทย์เรื่องข้อจำกัดของพื้นที่ และบริบทโดยรอบก็เสร็จสมบรูณ์พร้อมใช้งาน ทั้งยังใช้เป็นต้นแบบของงานอาคารโครงสร้างเหล็ก สำหรับให้นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ได้ศึกษาไปด้วยในตัว ส่วนแนวคิดในการออกแบบ ของสถาปนิกและงานโครงสร้างของอาคารจะมีความน่าสนใจ อย่างไรมาดูกันครับ

Design Concept
ด้วยความหลากหลายของอาคารข้างเคียงทั้งเรื่องของรูปแบบและประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน 2 อาคาร ประกอบกับข้อจำกัดของสถานที่ตั้ง สถาปนิกจึงเลือกใช้อาคารที่มีรูปทรงเรียบง่ายที่สุด เพื่อลดความแปลกแยก และไม่โดดเด่นเกินไปเมื่อวางคู่กับกลุ่มอาคารโดยรวม โดยออกแบบให้ผนังของโถงรับประทานอาหารที่ชั้นล่าง มีเส้นสายเอียงเปิดมุมมองและทานสัญจรให้กว้างขึ้น จึงเกิดเป็นพื้นที่ชานสามเหลี่ยมซึ่งจะเป็นตัวเชื่อมระหว่างลานอเนกประสงค์หลักของคณะวิศวกรรมศาตร์ (ลานเกียร์) กับพื้นที่สาธารณะของมหาวิทยาลัย และเพื่อใช้เป็นทางสัญจรสำหรับบุคคลทั่วไปด้วยเช่นกัน

สถาปนิกยังคิดถึงต้นไม้โดยรอบอาคาร โดยเก็บรักษาต้นไม้ใหญ่ไว้ทั้งหมด โดยมีแนวคิดที่ว่า ต้นไม้ก็คือส่วนประกอบสำคัญหนึ่งของงานสถาปัตยกรรม ทั้งยังให้ร่มเงากรองแสงแดดที่จะเข้ามาภายในไม่ให้มากเกินไป ส่วนในแง่ความงาม ต้นไม้ก็เป็น Feature ที่มีรูปฟอร์มที่งดงาม เมื่อตัดกับโครงสร้างอาคารที่เป็นเส้นตรง ก็จะเกิดความแตกต่างที่ช่วยลดความแข็งกระด้างให้กับภาพรวมได้เป็นอย่างดี
ภาพบรรยากาศภายนอกที่ดูกลมกลืนกับบริบท
โรงอาหาร 2 ชั้นนี้ มีส่วนประตูทางเข้าหลัก ที่จัดวางให้สัมพันธ์กับทางเข้าของอาคารสมาคมนิสิตเก่าซึ่งเป็นอาคารสัญลักษณ์และประวัติศาสตร์สำคัญของคณะที่อยู่ข้างเคียงกัน โดยการเปิดมุมมองที่ทำให้เกิดเส้นทางการสัญจรที่ลื่นไหล ไม่แออัด และยังเป็นการเว้นพื้นที่เพื่อทำการเคารพสิ่งก่อสร้างที่มีอยู่เดิมได้อย่างแยบยลด้วย


ด้วยความที่อาคารนี้เป็นอาคารโรงอาหาร มีการประกอบอาหารอยู่ตลอดเวลาที่ใช้งาน จึงจำเป็นที่จะต้องมีระบบการถ่ายเทอากาศที่ดี รวมถึงเรื่องของแสงแดด ที่ส่งผลถึงเรื่องความสะอาดภายในโรงอาหาร สถาปนิกจึงเลือกใช้เทคนิคในอาคารเน้นการระบายอากาศโดยออกแบบผนังทั้งหมดให้สามารถระบายอากาศได้ ไม่ว่าจะเป็นส่วนของการใช้บานเกล็ด การออกแบบความสูงของฝ้าเพดานที่มากกว่าปกติ การใช้ผนังอิฐช่องลมที่มีคุณสมบัติในการให้ลมและแสงสว่างผ่านได้ แต่ยังคงความเป็นส่วนตัวแทนผนังทึบ รวมถึงการเว้นช่องที่พื้นบริเวณขอบของอาคาร และทำการติดตั้งตะแกรงเหล็กเพื่อให้อากาศสามารถหมุนเวียนถ่ายเทได้ดี และการให้แสงสว่างด้วยวิธีธรรมชาติที่เข้ามาทางผนังกระจกซึ่งหันไปในทิศทางที่เหมาะสม และยังมีช่องแสงจากด้านหลังคา เพื่อให้ได้รับแสงธรรมชาติในเวลากลางวัน ไม่จำเป็นต้องเปิดไฟทั้งวัน เป็นการประหยัดพลังงานไปในตัวด้วย


Structural Concept
สำหรับส่วนของโครงสร้างหลัก ซึ่งได้ถูกกำหนดเป็นเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน นั้นมีความเหมาะสมกับการออกแบบอาคารที่มีช่วงพาดกว้าง และต้องการความโปร่งสบาย ไม่มีเสาปรากฏที่กลางห้อง ในขณะที่เมื่อเทียบกับโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก จะมีความหนาของโครงสร้างมากกว่า แต่เหล็กจะยังมีความบางเบาของโครงสร้าง ไม่ดูหนาเทอะทะ เพราะเหล็กสามารถรับแรงได้มากกว่าคอนกรีตในขนาดหน้าตัดโครงสร้างที่เท่ากัน โดยสถาปนิกเลือกใช้เหล็กรูปพรรณในทุกๆส่วนของอาคาร ไม่ว่าจะเป็นเสา คาน พื้น และโครงสร้างผนัง

อีกทั้งเรื่องของรูปแบบรอยต่อของโครงสร้างเหล็กที่เลือกใช้ มีความแม่นยำในการทำงานสูง ทั้งจากมาตรฐานของกระบวนการผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน และทักษะของช่างฝีมือก่อสร้าง ให้ผลลัพท์คือ งานสถาปัตยกรรมที่ประกอบขึ้นจากความชัดเจน ตรงไปตรงมาของระบบโครงสร้าง สะท้อนแนวคิดพื้นฐานของศาสตร์ทางด้านวิศวกรรมได้เป็นอย่างดี

เหตุผลอีกประการหนึ่งที่เหล็กมีความเหมาะสมกับอาคารประเภทนี้คือ ความรวดเร็วในการก่อสร้าง เพราะงานเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน สามารถควบคุมระยะเวลาในการก่อสร้างได้แม่นยำ ไม่ต้องรอเวลาเช่นการรอคอนกรีตแห้งและเซ็ทตัว ไม่มีฝุ่นหรือมลพิษจากการก่อสร้างมากเท่างานคอนกรีต งานเหล็กจึงสามารถวางแผนการก่อสร้างได้แม่นยำกว่า อีกทั้งเรื่องของที่ตั้ง เป็นสถานศึกษาที่มีผู้ใช้งานโดยรอบคับคั่ง จึงต้องใช้เวลาในการก่อสร้างน้อยที่สุด และก่อมลพิษน้อยที่สุดด้วย

มาถึงตรงนี้ เราคงจะพอเห็นภาพแล้วว่า การออกแบบที่ดี ช่วยให้ชีวิตดีขึ้น น่าอยู่ขึ้นได้อย่างไรบ้าง… เราหวังว่าจะมีอาคารดีๆแบบนี้มากขึ้น อาคารที่มีการออกแบบโดยเข้าใจบริบท ความเป็นมา และคิดถึงผู้ใช้งานเป็นสำคัญ อาคารที่เลือกใช้วัสดุได้อย่างเหมาะสม เพราะอาคารหลังหนึ่ง ไม่ได้มีอายุเพียง 5 หรือ 10 ปี แต่มันจะอยู่ไปตราบชั่วชีวิตคนคนหนึ่งเลยก็ว่าได้ และผู้ใช้งานจะมีความสุขที่ได้ใช้อาคารนั้น และจดจำเรื่องดีๆที่จะเกิดขึ้นในสถานที่นี้ได้ ตราบนานเท่านาน เช่นเดียวกับอาคารนี้… iCanteen
ขอบคุณ
ข้อมูลและภาพ : Normal Studio โดย วีระนิตย์ อมรประเสริฐศรี
ร้าน : dsignsomething.com และ Siam Yamato Steel (SYS)
ที่มา : dsignsomething.com