ความเป็นไทยในงานสถาปัตยกรรมที่นำเสนอ โดยคุณศุภชัย ชัยจันทร์ และคุณดวงนภา ศิลปสาย จาก TH Studio Architects เป็นการถอดแบบและตีความ “ความเป็นไทย” ให้กลายเป็นองค์ประกอบใหม่ที่ถูกผสมผสานเข้ากับแนวคิดงานสไตล์สากลที่เน้นความอิสระของรูปทรง (Freeform)
ซึ่งทั้ง 2 ท่านใช้กระบวนการคิด วิเคราะห์ข้อมูล รวมเข้ากับการทดลองต่าง ๆ จนได้ออกมาเป็นแนวทางการออกแบบอย่างไทยแต่ทันสมัย ผ่านการใช้โครงสร้างเหล็กและเทคโนโลยี BIM ที่เข้ามาลดข้อจำกัดในงานดีไซน์ให้อิสระ แข็งแรง และจัดการประสานงานฝ่ายต่าง ๆ ได้ถูกต้องแม่นยำขึ้น
การเลือกใช้เหล็กโครงสร้างและเทคโนโลยี BIM ของสถาปนิกทั้งสองท่าน ได้แสดงถึงความสามารถในการปรับตัวในทำงานให้เข้ากับยุคสมัย รวมถึงก้าวตามเทรนด์สากล แสดงถึงความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยและตามทันเทรนด์ พร้อมพิสูจน์ว่าสถาปนิกไทยสามารถสร้างผลงานที่ล้ำสมัยและมีคุณภาพสูงได้ โดยยังคงกลิ่นอายและความกลมกลืนกับบริบทแบบไทยไว้ได้อย่างลงตัว
“ไทยใหม่ อย่างไรดี?” จุดเริ่มต้นของสตูดิโอออกแบบที่เล่าเรื่องไทย ๆ ให้ดูสากล
คุณศุภชัย ชัยจันทร์ และคุณดวงนภา ศิลปสาย เล่าถึงที่มาของสตูดิโอแห่งนี้ว่า เดิมทีเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยเรียนที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และได้ลงประกวดแบบในโครงการต่าง ๆ มากมาย ซึ่งมีโครงการหนึ่งที่มีโจทย์ คือ “ไทยใหม่อย่างไรดี?” เป็นคำถามที่ชวนให้คิดและหาคำตอบว่างานสถาปัตยกรรมแบบไทยนั้น แบบไหนที่เรียกว่าไทย
ก่อนหน้านี้ทั้ง 2 ท่านเปิดสตูดิโอออกแบบที่กรุงเทพฯ ก่อนจะย้ายมาที่จังหวัดนครราชสีมา โดยเปิดสตูดิโอชื่อว่า TH Studio Architects โดย TH ย่อมาจาก Thai โดยมีความตั้งใจให้เป็นองค์กรที่รวมสถาปนิกรุ่นใหม่ที่ร่วมสร้างสรรค์งานดีไซน์สากลที่มีองค์ประกอบของความเป็นไทยซ่อนอยู่
การที่สตูดิโอให้ความสำคัญและหยิบความเป็นไทยเข้ามาใช้ในงานสถาปัตยกรรมนั้น เป็นเพราะในโลกการทำงาน แม้สถาปนิกจะอยากดีไซน์ให้สุดขั้นแค่ไหน แต่สุดท้ายก็หนีความเป็นไทยทั้งเรื่องดีไซน์พื้นที่ ฟังก์ชัน และการเชื่อมต่อกับบริบทไม่พ้น สถาปนิกจึงต้องดีไซน์ให้อาคารสามารถตั้งอยู่และใช้งานได้ดีในบริบทของสังคมไทย
ทั้ง 2 ท่านสรุปจากประสบการณ์ที่ได้พบมา ว่างานสถาปัตยกรรมสไตล์ไทย คือการนำความเป็นไทยที่มีอยู่มาตีความและต่อยอดในแนวทางใหม่ สิ่งนี้ทำให้งานดีไซน์สถาปัตยกรรมในประเทศไทยมีความโดดเด่น มีกลิ่นอายของงานดั้งเดิมแต่ก็มีเส้นสายสมัยใหม่ เป็นเอกลักษณ์ที่น่าสนใจไม่แพ้ชาติอื่น ๆ
Research – Design – Practice คำนิยามตัวตนและคาแรกเตอร์งานของ TH Studio Architects
คุณศุภชัยและคุณดวงนภาไม่ได้มีบทบาทเป็นสถาปนิกออกแบบสถาปัตยกรรมแต่เพียงเท่านั้น ยังมีบทบาทของการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ รวมถึงรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านงานดีไซน์ จึงทำให้ได้เรียนรู้องค์ความรู้ใหม่จากมุมมองใหม่ ๆ เสมอ ไม่ว่าจากนักศึกษาหรือทีมที่ทำงานร่วมกัน
การทำงานของ TH Studio Architects จึงเป็นการ Research ค้นคว้าข้อมูลอย่างหนัก เช่น พฤติกรรมการใช้งานหรือการวิเคราะห์ว่าอาคารแบบนี้ใช้โครงสร้างแบบไหนถึงเหมาะ เพื่อให้ได้ฐานข้อมูลที่สามารถนำมาพูดคุย ตอบคำถามลูกค้าได้ครบทุกประเด็น
รวมไปถึงการดีไซน์งานให้ออกมาสวยงามตามความต้องการ และ Practice ให้เห็นว่าการนำวัสดุหรือขั้นตอนการทำงานมาลงมือทำจริง ๆ ให้ผลลัพธ์อย่างไรบ้าง
ทั้ง 3 อย่างนี้ได้กลายมาเป็นตัวตนและวิธีการทำงานของสตูดิโอ ที่นอกจากจะสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการออกแบบอาคารแล้ว ยังมีส่วนของการ Showcase แสดงให้เห็นข้อดีของการออกแบบหรือการใช้วัสดุตามที่สถาปนิกแนะนำในงานจริงด้วย เช่น สถาปนิกแนะนำโครงสร้างเหล็กและเลือกสร้างสตูดิโอด้วยโครงสร้างเหล็ก เพื่อให้เจ้าของโครงการเห็นถึงข้อดีในสเกลจริง
เหล็ก + BIM จุดเปลี่ยนที่ช่วยให้งานเหล็กละเอียด เนี้ยบ และแม่นยำ
ในการทำงาน ทั้ง 2 ท่านเลือกใช้เหล็กโครงสร้าง H-BEAM เสมอ เพราะมีข้อดีที่สามารถตอบโจทย์งานดีไซน์ได้ครบ ทั้งเรื่อง Wide Span ทำโครงสร้างโปร่งโล่งได้โดยไม่มีเสามาคั่น การยื่นคานออกไปมาก ๆ และการดีไซน์อาคารฟรีฟอร์มที่โครงสร้างอื่นอาจมีข้อจำกัดไม่สามารถก่อสร้างได้
และเมื่อใช้เหล็กโครงสร้างมาออกแบบอาคารที่มีความซับซ้อน มีการพับหรือพลิ้วพื้นผิวไปมา การสเก็ตช์มือหรือเขียนแบบด้วยโปรแกรมที่แสดงภาพ 2 มิติ 3 มิติแยกจากกัน อาจทำให้เกิดข้อผิดพลาด ความคลาดเคลื่อน และมีปัญหาไม่ลงตัวในตอนที่คุยงานกับฝ่ายอื่นได้
TH Studio Architects จึงนำเทคโนโลยี BIM เข้ามาใช้จัดการงานดีไซน์ทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อให้ความซับซ้อนของอาคารถูกขยายให้เห็นรายละเอียดต่าง ๆ ชัดเจนขึ้น และช่วยให้การประชุมกับทีมหาข้อสรุปร่วมกันได้ง่ายขึ้น
อีกทั้งยังเลือกใช้โครงสร้างเหล็ก H-BEAM จาก SYS สถาปนิกจึงสามารถดาวน์โหลด SYS BIM Object Family ที่มีการออกแบบและใส่ข้อมูลต่าง ๆ ตรงตามวัสดุจริงเอาไว้เรียบร้อยแล้ว ช่วยให้งานออกแบบและงานก่อสร้างจริง ถูกต้องแม่นยำสอดคล้องกันได้ทั้งหมด
ความต้องการเป็นไปได้ทุกอย่าง ตั้งแต่ตัดสินใจใช้เหล็กเป็นโครงสร้าง
จากการพูดคุยพบว่าเหล็กโครงสร้างเป็นวัสดุก่อสร้างอันดับหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ออกแบบและก่อสร้างอาคารในทุกประเภทของทางสตูดิโอ โดยคุณศุภชัยและคุณดวงนภาได้ยกตัวอย่างอาคาร 3 ประเภท คือ บ้านพักอาศัย อาคาร Commercial และอาคารสาธารณะ
อาคารทั้ง 3 ประเภทมีสิ่งที่แตกต่างกัน คือ ขนาดพื้นที่ใช้สอยและความซับซ้อนของานดีไซน์ แต่สิ่งที่ต้องการเหมือนกัน คือความแข็งแรงทนทาน ใช้งานได้โดยไร้กังวล
ในงานบ้านพักอาศัยเป็นการออกแบบบ้านขนาดประมาณ 800 ตร.ม. ของเจ้าของโครงการที่มีธุรกิจค้าขายวัสดุก่อสร้างพื้นฐาน ซึ่งเหล็กโครงสร้างตอบโจทย์เรื่องงานดีไซน์ที่ซับซ้อน และ Wide Span ได้ดี ทำให้บ้านโปร่งโล่งน่าอยู่เหมาะกับสมาชิกในครอบครัวทุกวัย
ต่อมาเป็นอาคารสาธารณะอย่างการรีโนเวทอาคารเรียนหลังแรกของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานที่โครงสร้างเดิมเสื่อมสภาพ ทางสถาปนิกได้นำโครงสร้างเหล็กเข้ามาประกบโครงสร้างเดิมเพื่อพยุงให้มีความแข็งแรง ซึ่งเทคโนโลยี BIM มีส่วนช่วยให้การประสานงานกับวิศวกรและทีมช่าง ผู้รับเหมาสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น แม้การทำงานจะเต็มไปด้วยอุปสรรคและความท้าทาย
อาคารประเภทสุดท้าย คือออฟฟิศของ TH Studio Architects เอง ที่ออกแบบด้วยโครงสร้างเหล็ก H-BEAM ทั้งหลัง ตกแต่งส่วนต่าง ๆ ให้ดูคล้ายกับงานคราฟต์ และดีไซน์สเปซให้มีความผ่อนคลายเหมือนอยู่บ้าน พร้อมสร้างความยืดหยุ่นให้ทุกคนสามารถเลือกที่นั่งหรือปรับเปลี่ยนมุมทำงานได้ตามใจ
ทั้ง 2 ท่านพูดคุยและบอกเล่าถึงความต้องการที่อยากให้ออฟฟิศแห่งนี้เป็นเหมือนกับ Showcase งานโครงสร้างเหล็กในสเกลจริง ที่ลูกค้า ทีมงานที่ทำงานด้วยกัน หรือคนที่ผ่านไปมา ได้เห็นว่าที่แนะนำโครงสร้างเหล็กไป สถาปนิกนำมาออกแบบและก่อสร้างให้เป็นอาคารจริงที่ใช้งานได้จริง
เหล็กมีข้อดีมากมายที่ช่วยทลายข้อจำกัดต่าง ๆ ที่โครงสร้างทั่วไปทำไม่ได้ โดยที่ยังรักษาความแข็งแรงเอาไว้ได้เหมือนเดิม เช่น การทำ Wide Span กว้าง ๆ ไม่มีเสากั้น ยื่นโครงสร้างออกไปเยอะ ๆ ปรับขนาดโครงสร้างเพรียวขึ้น รวมไปถึงตอบโจทย์ดีไซน์ฟรีฟอร์มได้เป็นอย่างดี
การนำเหล็กโครงสร้างมาดีไซน์โดยดีไซน์ตามความคิดสร้างสรรค์ของสถาปนิกและก่อสร้างอย่างมีมาตรฐานของทีมช่างและผู้รับเหมาที่เชี่ยวชาญ จึงทำให้สถาปัตยกรรมไทยสไตล์สากลภายใต้ลายเซ็นของ TH Studio Architects สื่อสารรูปแบบการก่อสร้างใหม่ ๆ ให้คนในพื้นที่ได้รับรู้และทำให้เป็นจริงได้ตามที่วางแผนเอาไว้
































