โครงสร้างอาคารหลัง COVID-19

เชื่อว่าตั้งแต่ไวรัส COVID-19 ได้เกิดการแพร่ระบาดไปทั่วทุกมุมโลก รูปแบบของการใช้ชีวิตประจำวันและสถานการณ์หลายๆอย่างก็เริ่มมีการปรับเปลี่ยนไปสู่ New Normal ความปกติแบบใหม่ ที่ทุกคนเป็นอันทราบกันดี ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา การรักษาความสะอาดบนพื้นผิวที่มีการสัมผัส และการรักษาระยะห่างระหว่างกัน Social distancing ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อวิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป รูปแบบของที่พักอาศัย อาคาร และออฟฟิศทำงานก็ถูกเปลี่ยนตามไปด้วย เพื่อตอบรับการดำเนินชีวิตในแบบ New Normal


การปรับตัวของอาคารสำนักงาน

การเปลี่ยนแปลงของอาคารสำนักงาน หรืออาคารที่เป็นจุดศูนย์รวมของผู้คนจำนวนมาก อย่างห้างสรรพสินค้า ที่ต้องมีการปรับรูปแบบหรือผังภายในอาคารกันยกใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะทำงานที่เดิมที่เคยมีขนาดเล็กเพื่อเพิ่มสเปซให้ภายในออฟฟิศดูเป็นสำนักงานสมัยใหม่ที่มีการสื่อสารติดต่อกันอย่างใกล้ชิดแบบ Co-Working Space ก็กลับกลายเป็นต้องเพิ่มขนาดของโต๊ะให้กว้างและปรับฟังก์ชันให้เหมาะสม เพื่อรักษาระยะห่างให้มากขึ้น

หรืออาจกล่าวได้ว่ารูปแบบของออฟฟิศอาจจะกำลังกลับไปสู่รูปแบบของสำนักงานที่มีฉากกั้นในยุคเก่าก็เป็นได้ และในส่วนของการปรับเปลี่ยนฟังก์ชันในตัวอาคารนั้นอาจต้องถึงกับมีการดีไซน์โครงสร้างขึ้นใหม่เพื่อจัดวางสเปซให้มีการลื่นไหลในการใช้งาน แต่ก็ยังรักษาระยะห่างระหว่างกันไว้ได้ อย่างการปรับผังทางเดินให้กว้างขึ้นและออกแบบลูปทางเดินใหม่ เพื่อไม่ให้ผู้คนเดินสวนกันและอยู่ใกล้ชิดกันจนเกินไป

โดยอาจปรับทางเดินให้เป็น One – Way หรือมีเส้นแบ่งระหว่างทางเดิน Two – Way เพื่อความเป็นระเบียบและง่ายต่อการใช้งาน ซึ่งแน่นอนว่าการออกแบบดังกล่าวจำเป็นต้องมีการพึ่งพาระบบโครงสร้างร่วมด้วย และระบบโครงสร้างที่ตอบโจทย์เป็นอย่างยิ่งนั่นคือ โครงสร้างเหล็ก เพราะสามารถออกแบบ Span หรือช่วงเสาได้กว้างเป็นพิเศษ ทำให้สามารถเพิ่มพื้นที่ในการใช้งานของตัวอาคารได้มากขึ้น เหมาะกับการออกแบบสำนักงานในยุค New Normal ที่ต้องมีพื้นที่ภายในอาคารเพื่อรองรับพื้นที่ที่ถูกเว้นระยะห่าง ไม่ว่าจะเป็นระยะห่างระหว่างโต๊ะทำงาน หรือช่วงระยะทางเดินต่างๆ เป็นต้น


Everything at Home

มาที่ความปกติรูปแบบใหม่เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยกันบ้าง ด้วยผลจากการ Work from Home ซึ่งทำให้ผู้ที่ทำงานอยู่ที่บ้านนั้นมีเวลาอยู่กับบ้านมากขึ้น และใช้งานพื้นที่ในบ้านมากขึ้นด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังเป็นการดำเนินชีวิตในแบบ New Normal ที่ต้องรักษาความสะอาดของร่างกายอยู่เสมอ และยังต้องมีพื้นที่เพื่อใช้ในการทำงาน

การเปลี่ยนแปลงของการออกแบบผังทางสถาปัตยกรรมจึงไปเน้นในส่วนของ ปรับพื้นที่ เช่น ส่วนของห้องอาบน้ำ เพิ่มอ่างล้างมือหน้าบ้าน เพิ่มสเปซในส่วนของพื้นที่นั่งทำงาน หรือรวมถึงสเปซสำหรับออกกำลังกายด้วย เรียกได้ว่ารวมทุกการดำเนินชีวิตประจำวันไว้ที่บ้านแทบจะทุกอย่าง

ดังนั้น พื้นที่ภายในบ้านจึงต้องออกแบบให้ดูโปร่งโล่ง ให้ความรู้สึกที่ผ่อนคลาย และสามารถอาศัยอยู่ในบ้านได้ตลอดทั้งวัน ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าโครงสร้างเหล็กเป็นโครงสร้างที่สามารถออกแบบช่วงเสาได้กว้าง จึงทำให้โถงของบ้านดูปลอดโปร่ง ถ่ายเทอากาศได้ดี และไม่รู้สึกอึดอัด เหมาะกับนำมาออกแบบบ้านในยุคโครงสร้างหลัง COVID ที่ต้องเป็น Everything at Home อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตามบ้านที่ดีคือบ้านที่ผู้อยู่อาศัยอยู่แล้วรู้สึกสบาย และสำนักงานหรืออาคารที่ดีก็ต้องตอบโจทย์การทำงานได้อย่างคล่องตัวของพนักงาน การนำรูปแบบการดำเนินชีวิตแบบ New Normal จึงไม่ใช่ปัจจัยในการออกแบบโครงสร้างทั้งหมดเสียทีเดียว แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะนำมาปรับใช้ร่วมกับการออกแบบฟังก์ชันการใช้งานเท่านั้น ซึ่งส่วนนี้ก็จะเป็นหน้าที่ของผู้ออกแบบที่จะนำมาปะติดปะต่อกันอย่างไรให้เกิดความลงตัว ทั้งการใช้งานจริงและการใช้งานที่ให้ความรู้สึกผ่อนคลายแต่ก็ยังมีระยะที่ปลอดภัยให้กับผู้พักอาศัยได้ด้วย