Glass House at Sindhorn Building : สถาปัตยกรรมไอคอนกลางถนนวิทยุ

หากคุณเป็นเพียงคนธรรมดาที่เดินผ่านอาคาร Glass House at Sindhorn Building ไปมา และไม่เคยทราบถึงข้อมูลเบื้องลึกมาก่อน คุณอาจจะไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นในความพิเศษของอาคารและโครงสร้างแต่อย่างใด แต่วันนี้เราจะมาบอกถึงความน่าทึ่งของอาคารนี้ให้ฟังกันครับ เริ่มจาก “อาคารนี้ยาว 90 เมตร โครงสร้างหลังคาที่ทำจากเหล็กรูปพรรณรีดร้อน มีการยื่นปลายจากเสาต้นสุดท้ายออกไปกลางอากาศประมาณ 20 เมตร!”

Architect : OFFICE AT Co., Ltd.

เจ้าของ : Siam Sindhorn Co.,Ltd.

วิศวกรโครงสร้าง : Sarawut Yuanteng วิศวกรงานระบบ : Mitr Technical Consultant Co.,Ltd.

ก่อสร้าง : Thai Obayashi Corp., Ltd.

ภาพ : W Workspace


อาคารที่ก่อตัวจากบริบท

เดิมบริเวณที่ก่อสร้างเป็น Glass House นี้ เป็นลานสนามหญ้าโล่งๆ หน้าอาคาร Sindhorn Building ที่มีต้นไม้ใหญ่อยู่หนึ่งต้น ซึ่งเป็นต้นไม้ที่มีมาตั้งแต่ก่อสร้างอาคารนี้ และเมื่อมีแนวคิดที่จะสร้างอาคาร Glass House นี้ขึ้น สถาปนิกจึงได้รับโจทย์เรื่องการสร้างอาคาร ที่ผสานกับพื้นที่เดิม การใช้งานเดิมให้ได้มากที่สุด

ผู้ออกแบบอาคารนี้คือ Office AT โดย คุณสุรชัย เอกภพโยธิน และคุณจุฑาทิพย์ เตชะจำเริญ มีแนวคิดที่จะเก็บต้นไม้ใหญ่เดิมไว้ เพื่อให้ร่มเงาและสร้างพื้นที่ที่น่าสนใจ บนพื้นที่ใช้สอยประมาณ 850 ตารางเมตร  ประกอบด้วย 4 ร้านค้า โดยออกแบบแยกเป็น 4 ก้อนอาคาร เพื่อเพิ่มพื้นที่หน้าร้านให้กับทุกๆ ร้านให้มากขึ้น แต่ละก้อนอาคารนั้น มีชั้นลอยเป็นของตัวเอง เป็นพื้นที่ในการนั่งรับประทานอาหาร และเพิ่มความน่าสนใจของแมสอาคารด้วย

“พื้นที่การใช้งานอาจไม่ได้พิเศษอะไร แต่ด้วยที่ตั้งของอาคารนี้ ตั้งอยู่บนถนนวิทยุที่อยู่ใจกลางเมือง และติดถนนใหญ่ การออกแบบรูปทรงจึงสำคัญ โดยได้รับโจทย์เรื่องการเป็นอาคารไอคอนของถนนสายนี้ ในขณะเดียวกันการออกแบบยังต้องคิดถึงอาคารเดิม (Sindhorn Building) จึงออกแบบตัวอาคารใหม่ไม่ให้บดบังทางเข้า แถมยังเอื้อให้ตัวอาคารและทางเข้าเดิมมีความน่าสนใจมากขึ้น โดยการตัด คว้าน เส้นแนวการเดินเดิม เพิ่มทางเข้าที่น่าสนใจ เกิดแนวแกนพุ่งหาอาคารด้วยนั่นเอง” สถาปนิกพูดถึงการจัดวางพื้นที่และเส้นสายที่เกิดขึ้น

“ตึกไอคอนของถนนวิทยุ” จากคำๆนี้ สถาปนิกนำไปตีโจทย์และสร้างเอกลักษณ์ให้อาคารโดยใช้ “ก้อนคริสตัลใส”  มาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบก้อนอาคารร้านค้า โครงสร้างที่เหมาะสมที่สุดจึงเป็นโครงสร้างเหล็กรูปพรรณรีดร้อน และมีกระจกห่อหุ้มอยู่โดยรอบ พิเศษไปอีกกับการใช้กระจก Heat Strange เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและป้องกันความร้อนได้ดีขึ้น ติดตั้งบนวงกบอลูมิเนียมขนาดพิเศษ ที่มีโครงสร้างเหล็กเสริมอยู่ภายใน

เพื่อการเป็นอาคารไอคอนของถนนเส้นนี้ สถาปนิกคิดถึงภาพจำของเราเกี่ยวกับถนนวิทยุ สิ่งที่คนคุ้นเคยคือต้นไม้ใหญ่ ที่แผ่กิ่งก้านให้ร่มเงาถนนเส้นนี้มานาน สถาปนิกจึงนำรูปทรงของต้นไม้ใหญ่มาเป็นรูปแบบของหลังคาที่จะปกคลุมอาคารทั้ง 4 ก้อนนี้

แต่กว่าที่จะได้รูปทรงรวมถึงวัสดุของหลังคามานั้น ผ่านการออกแบบและเลือกวัสดุที่เหมาะสมที่สุดมาหลายขั้นตอน จนสุดท้ายได้รูปแบบออกมาอย่างที่เห็น คือการสร้างรูปทรงที่ต้องการสื่อถึงต้นไม้ใหญ่ และทำการตัด Section ตามยาวของพื้นที่ เกิดเส้นสายที่น่าสนใจ ที่สำคัญส่งเสริมให้เกิดรูปทรงของต้นไม้ที่ชัดเจน


ความท้าทายใหม่ กับผลลัพท์ที่ลงตัว

ด้วยแนวคิดที่ชัดเจนเรื่องรูปทรงของอาคาร ทำให้ระบบโครงสร้างนั้นต้องออกแบบมาเป็นพิเศษ และมีรายละเอียดที่ต่างจากอาคารทั่วๆไป นั่นก็คือส่วนของหลังคาที่มีแนวคิดมาจากต้นไม้ใหญ่ และเพื่อให้เสาของโครงสร้างหลังคานี้ไม่ไปอยู่ที่กลางห้องของร้านค้าใดร้านหนึ่ง จำนวนของเสาจึงมีเพียง 3 ต้น อยู่ในตำแหน่งช่องว่างทางเดินระหว่างก้อนอาคารทั้ง 4

เสาโครงหลังคานั้นห่างกันต้นละ 25 เมตร และจากเสาต้นสุดท้ายของทั้ง 2 ด้านนั้นก็ยื่นออกไปอีกข้างละ 20 เมตร ถือเป็นโครงสร้างที่สุดขั้ว และเรียกได้ว่ามีความแข็งแรงทางด้านความคิด สถาปนิกต่อสู้เสนอแบบกับทั้งเจ้าของโครงการจนผ่าน และสามารถก่อสร้างได้จริง

แต่โจทย์ที่ท้าทายยังคงตามมาเรื่อยๆ เพราะที่หน้าไซต์จริงนั้น มีต้นไม้ใหญ่ 1 ต้นที่ตั้งตระหง่านมานานปี และเจ้าของต้องการเก็บต้นไม้ต้นนี้ไว้ สิ่งที่กระทบมากที่สุดจึงเป็นส่วนของหลังคา ที่ต้องมีการเว้นช่องเพื่อให้ต้นไม้นั้นสามารถเติบโตทะลุขึ้นไปได้ และในแง่ของโครงสร้าง การยื่นโครงสร้างออกไปจากแนวเสา โดยที่มีการขาดช่วงของโครงสร้าง (เพื่อเว้นให้ต้นไม้) นั้น ไม่สามารถทำได้ งานท้าทายจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง…

สถาปนิกและวิศวกรร่วมกันคิดหาทางออก จนสุดท้ายได้ออกแบบโครงสร้างพิเศษเพื่อแก้ปัญหานี้ คือการออกแบบคานโครงสร้างหลังคา ให้วิ่งตัดกันเป็นรูปตัวเอ็กซ์ (X) เพื่อให้สามารถเว้นช่องโครงสร้างสำหรับต้นไม้ได้ โดยที่หลังคายังคงแข็งแรงอยู่

แต่สุดท้าย มีการปรับเรื่องระดับความสูงทั้งหมดของตัวอาคาร และให้ยกอาคารสูงขึ้นทั้งหมด ทำให้สิ่งที่คิดว่าจะเป็นปัญหาเรื่องต้นไม้กับหลังคาหมดไป… กลับไปที่เรื่องโครงสร้างหลังคารูปตัวเอ็กซ์ กลับกลายเป็นสิ่งที่ดี เพราะโครงหลังคาที่เป็นรูปกากบาทนั้น จะแข็งแรงกว่าแบบธรรมดาที่วิ่งตรงและตั้งฉากกัน ทีมสถาปนิกและวิศวกรจึงคงรูปแบบหลังคาแบบนี้ไว้ โดยที่ไม่ได้เว้นช่องให้ต้นไม้แล้ว

ส่วนตกแต่งที่เป็นเส้นสีขาวโค้งต่างองศานั้น ทำจากวัสดุเหล็กประกอบ ตัดตามแบบด้วยเลเซอร์คัท และพ่นสีขาว เป็นส่วนตกแต่งที่สำคัญที่จะทำให้แนวคิดของอาคารชัดเจนมากขึ้น


ระหว่างการก่อสร้าง คือความสำเร็จในวิธีการ

สำหรับโครงการนี้ ที่ใช้โครงสร้างเหล็กรูปพรรณรีดร้อนทั้งหมด ก่อสร้างโดย บริษัท ไทย โอบายชิ จำกัด ไม่เพียงแต่ต้องก่อสร้างให้ตรงตามแบบ บริษัท ไทย โอบายชิ จำกัด ยังคิดทุกกระบวนการในการก่อสร้าง ให้สามารถเกิดขึ้นได้จริง โดยที่มีความปลอดภัย ส่งผลเสียต่อทุกฝ่ายน้อยที่สุด

“เมื่อเกิดการขนย้าย ต้องมีรอยต่อ เมื่อมีรอยต่อก็ต้องคิดว่าต่อยังไง โดยเราต้องการให้ใช้รอยต่อแบบน็อตและโบลท์มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพราะงานเชื่อมนั้นมีความไม่แน่นอนของคุณภาพค่อนข้างมาก คุณภาพขึ้นอยู่ที่แรงงานคนเป็นส่วนใหญ่ ต่างจากน็อตและโบลท์ที่ความแข็งแรงจะถูกออกแบบมาแล้ว เพียงทำตามขั้นตอนได้ถูกต้อง ก็จะแข็งแรงตามที่กำหนด” วิศวกรจากไทยโอบายาชิกล่าวเสริมเรื่องการควบคุมงานก่อสร้าง


เหล็กรูปพรรณรีดร้อน ความคล่องตัวที่แข็งแรง

งานเหล็กรูปพรรณรีดร้อน ยังมีข้อดีเรื่องการควบคุมระยะเวลาการก่อสร้างได้อย่างแม่นยำ เพราะที่หน้างานจะมีการทำงานคอนกรีตร่วมด้วย กรณีนี้ก็สามารถทำงานคอนกรีตไปได้เลย งานเหล็กรูปพรรณรีดร้อนก็สามารถขึ้นงาน ผลิตงานในโรงงาน และขนย้ายตามมาได้ เป็นการช่วยย่นเวลาในการก่อสร้างได้เป็นอย่างดี

ในรายละเอียดการก่อสร้าง ผู้รับเหมาเริ่มจากการตั้งเสาหลังคาทั้ง 3 ต้น แล้วทำตัวเองให้แข็งแรง จากนั้นค่อยทำการยื่นแขนออกไป โครงสร้างจึงจะมีความแข็งแรง โดยส่วนปลายหลังคาที่ยื่นนั้น วิศวกรและผู้รับเหมาก่อสร้างได้เผื่อการคล้อยตกของโครงสร้างไว้ โดยการติดตั้งปลายที่ยื่นนั้น ให้เชิดขึ้น 10-15 เซนติเมตร จากระดับที่ตั้งใจไว้ หลังจากติดตั้งแล้ว โครงสร้างจะคล้อยตัวลงเล็กน้อย จนสุดท้ายคงที่ ที่ระนาบขนานกับพื้นดินได้พอดิบพอดี

ส่วนของตัวร้านที่เป็นโครงสร้างเหล็กเช่นกันนั้น ก่อสร้างโดยการผลิต ตัด เจาะรูเหล็กจากทางโรงงาน และทำการประกอบโครงสร้างที่โรงงานเลย เพื่อหาข้อบกพร่อง ก่อนที่จะทำการถอดแบ่งเป็นส่วนยกมาติดตั้งที่หน้างานอีกครั้ง

ใครที่ผ่านไปมาแถวถนนวิทยุ เมื่อเห็นอาคาร Glass House นี้อีกครั้ง อาจจะมีมุมมองที่ต่างไป และพิจารณากับความงามที่เกิดจากความตั้งใจนี้ใหม่ ไม่มากก็น้อยครับ


Steel in Detail

คุณสุรชัย เอกภพโยธิน และคุณจุฑาทิพย์ เตชะจำเริญ แห่ง OFFICE AT Co., Ltd.

หลายครั้งที่เราคิดว่าการออกแบบรูปทรงให้โดดเด่น เป็นที่จดจำนั้น คนสำคัญที่สุดคือสถาปนิก แต่ในความจริง การได้มาซึ่งรูปทรงอาคารที่น่าสนใจ ต้องการรายละเอียดของแบบที่ต้องร่วมงานกันหลายฝ่าย ทั้งสถาปนิก เจ้าของ วิศวกร และผู้รับเหมาก่อสร้าง เพราะแต่ละฝ่ายนั้นก็มีความชำนาญและความรู้ที่ต่างกันออกไป ฉะนั้นโครงสร้างที่ดูน่าทึ่งที่เห็นนั้น คือการรวมพลังกันของทุกฝ่าย ไม่ใช่ความดีความชอบของใครคนใดคนหนึ่ง