เหล็กเข้ากับการออกแบบสไตล์ไหนบ้าง

ทุกวันนี้เราชินตากับการที่อาคารมีการนำเหล็กมาใช้เป็นส่วนประกอบอย่างแพร่หลาย ซึ่งตามจริงแล้วเหล็กถือเป็นวัสดุที่เปลี่ยนโลกของการก่อสร้างเลยก็ว่าได้ โดยเริ่มตั้งแต่ ค.ศ.ที่ 18 ที่ประเทศอังกฤษเริ่มมีการนำเหล็กมาใช้ในระบบอุตสากรรมเป็นครั้งแรกและเราเรียกช่วงเวลานั้นว่า ‘ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม’ ในช่วงแรกเหล็กรับหน้าที่เป็นโครงสร้างภายในโรงสีเท่านั้น แต่ต่อมาได้ถูกพัฒนาทั้งในเรื่องของคุณภาพและลักษณะที่เหมาะสมต่อการนำไปใช้งาน จนในที่สุดปี ค.ศ.1889 ซึ่งถือเป็นการประกาศต่อทั้งโลกถึงความสามารถของเหล็กในงานสถาปัตยกรรม เมื่อหอไอเฟล (EIFEL TOWER) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสตั้งตระหง่านเพื่อแสดงถึงสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นการก่อสร้างที่ทันสมัยของโลก แต่เมื่อยุคสมัยผ่านไป นอกจากการเป็นส่วนประกอบสำคัญในเรื่องโครงสร้างแล้วเหล็กยังทำหน้าที่เป็นสื่อที่แสดงถึงลักษณะพิเศษของสไตล์ในงานสถาปัตยกรรมซึ่งส่งผลโดยตรงต่อนักออกแบบในทุกวันนี้


1. MODERN ARCHITECTURE 

สไตล์โมเดิร์นถือเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของงานสถาปัตยกรรมที่ได้รับความนิยมต่อเนื่องในบ้านเรา ด้วยลักษณะที่เแสดงความงดงามผ่านความเรียบง่าย ‘น้อยแต่มาก’ ทั้งในเรื่องของโครงสร้างและวัสดุที่ใช้ เราจึงเห็นว่าบ้านในสไตล์นี้มักเป็นรูปทรงเลขาคณิตที่ดูเบาและบางด้วยเส้นที่แสดงบนงานสถาปัตยกรรมแบบพอดีและมีเท่าที่จำเป็น ทำให้จำเป็นต้องใช้เหล็กเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการทำโครงสร้างเพราะมีขนาดเล็ก สามารถรับน้ำหนักได้มากและยังทำให้โครงสร้างยื่นออกจากคานไปได้มาก (Cantilever) โดยมีสถาปนิกที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของบ้านสไตล์โมเดิร์นอย่าง เลอคอร์บูสิเออร์ (Le Corbusier) และผลงานออกแบบ Villa Savoye ที่ตั้งอยู่นอกกรุงปารีสเป็นผลงานในรูปแบบของสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์นที่ทรงคุณค่าจนถึงปัจจุบัน


2. INDUSTRIAL LOFT  

สไตล์อินดัสเทรียล ลอฟท์ (INDUSTRIAL LOFT) เป็นหนึ่งในสไตล์ที่แสดงถึงความสามารถของเหล็กที่มีผลต่องานสถาปัตยกรรมได้ชัดเจนที่สุด โดยสไตล์นี้เกิดขึ้นในช่วงยุคหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม เนื่องจากหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้อาคารที่เคยรุ่งเรืองในสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรมที่นิยมใช้เหล็กมาเป็นโครงสร้างถูกปล่อยทิ้งร้าง ทำให้เหล่าศิลปินและนักออกแบบเห็นโอกาสและความไปได้ในการสร้างสตูดิโอและบ้านพักในราคาย่อมเยา นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของสไตล์อินดัสเทรียล ลอฟท์ที่ยังคงโครงสร้างเดิมของเหล็กไปจนถึงสีเดิมของวัสดุที่ใช้เพื่อโชว์เสน่ห์ของความดิบเท่ห์ของสัจจะวัสดุนั่นเอง


3. DECONSTUCTION DESIGN 

ดีคอนสตักชั่น ดีไซน์เรียกได้ว่าเป็นขั้วตรงข้ามของสไตล์โมเดิร์นอย่างแท้จริง เพราะในขณะที่สไตล์โมเดิร์นนิ่ง เรียบและให้ความความสำคัญกับฟังก์ชั่นของพื้นที่ ดีคอนสตักชั่น ดีไซน์นั้นกลับแสดงตัวตนผ่านความยุ่งเหยิงและบิดเบี้ยวของงานสถาปัตยกรรมแล้วค่อยใส่ความเป็นได้ในด้านฟังก์ชั่นของพื้นที่ลงไป โดยงานสไตล์นี้ที่มีชื่อเสียงระดับโลกมีหลายโครงการที่จะทำให้ร้องอ๋อได้ทันที อย่างพิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ บิลบาโอ (Guggenheim Museum) พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัย ประเทศสเปน ผลงานการออกแบบของแฟรงก์ เกห์รี (Frank Owen Gehry) และอีกโครงการคือ สนามกีฬาแห่งชาติปักกิ่งหรือที่บ้านเราคุ้นเคยกันชื่อ สนามรังนก ที่ใช้จัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน ปี 2008 นั่นเอง ด้วยลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่มีการบิดโค้งตัวค่อนข้างมากทำให้ต้องใช้เหล็กมีใช้เป็นโครงสร้างเพราะคุณสมบติที่มีความยืดหยุ่นสูงทำให้รูปทรงอาคารสามารถสร้างได้จริงตามที่ผู้ออกแบบต้องการ


4. CONTEMPORARY ARCHITECTURE 

CONTEMPORARY ARCHITECTURE แปลตรงตัว คือสถาปัตยกรรมแบบร่วมสมัย อันที่จริงการให้คำจำกัดความสไตล์นี้แบบเฉพาะเจาะจงค่อนข้างยาก เนื่องจากสไตล์นี้เป็นการผสมสผานความเข้ากันได้ทั้งรูปแบบในเชิงดีไซน์และวัสดุที่ใช้ ไปจนถึงความชอบส่วนตัวของผู้ออกแบบในแต่ละยุคสมัยลงไป ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าสไตล์นี้คือจุดร่วมของความลงตัวที่นำมารวมกันอย่างเช่น การเติมให้มากขึ้นในสไตล์ MODERN CONTEMPORARY ที่ใช้วัสดุเป็นเหล็กผสมกับคอนกรีตและใช้ไม้มาช่วยสร้างความอบอุ่นในพื้นที่ หรือจะเป็นการทอนให้น้อยลงอย่าง สไตล์ CLASSIC CONTEMPORARY ที่ลดรายละเอียดในการตกแต่งลงให้ดูเรียบง่ายขึ้น