Tree House: บ้าน / ระนาบ / เชื่อมต่อ

Project: บ้าน Three House

Owner: คุณวัชรพงศ์ และคุณชูจิต ตรีรัตนพันธ์

Architect: Junsekino Architect and Design

Photo: Junsekino Architect and Design

บ้าน 3 ระดับ สำหรับผู้อยู่อาศัย 3 คน ที่ใช้โครงสร้างเชื่อมต่อสานสัมพันธ์สมาชิกในครอบครัวให้เป็นหนึ่งเดียวกัน

เรามีคำถามถึงคนที่กำลังฝันอยากจะมีบ้านสำหรับครอบครัวสักหลัง ภาพบ้านในความคิดของคุณเป็นแบบไหน… ต้องใหญ่โตอลังการ มีห้องมากมาย หรือเป็นบ้านขนาดเล็กพอประมาณ รองรับสมาชิกในบ้านได้อย่างไม่อึดอัด? …คำตอบในใจแต่ละคนก็คงจะแตกต่างกันไป เราเลยอยากชวนให้คุณมาดูตัวอย่างบ้านครอบครัวขนาดพอดีๆหลังนี้ กับพื้นที่ทั้ง 3 ส่วน รวมเป็นหนึ่งหลัง และใช้การวางอาคารประสานสวนสีเขียว ให้สมาชิกในบ้านทุกคนได้ใช้งานอย่างคุ้มค่า


บ้าน 3 คนบนพื้นที่สีเขียว

Three House ออกแบบโดย Junsekino Architect and Design เป็นบ้านของครอบครัวขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ร่วมกัน 3 ชีวิต คุณพ่อและคุณแม่เป็นดีไซเนอร์ที่ยังคงต้องออกไปทำงานทุกวัน กับลูกชายคนเล็กอีก 1 คน อยากจะย้ายที่พักอาศัยมาอยู่เขตชานเมืองที่เงียบสงบ มีบริเวณให้เด็กๆวิ่งเล่น ต้องการจะเป็นคนดูแลรักษาบ้านด้วยตัวเอง เลยอยากจะได้บ้านที่ตกแต่งเรียบง่าย จึงตัดส่วนตกแต่งที่ดูยุ่งยากซับซ้อนออกไปเพื่อการดูแลง่าย มีเนื้อที่ในบ้านขนาดกะทัดรัด และคุณพ่อเป็นคนชอบสวนสีเขียว อยากได้ต้นไม้ที่ไม่จำเป็นต้องดูแลรักษามาก เน้นไม้สูงใหญ่และสนามโล่งๆ


Design Concept

เมื่อได้ประเภทพื้นที่การใช้งานแต่ละส่วนของบ้าน ก็ถึงการแบ่งพื้นที่การใช้งาน โดยแบ่งเป็นระนาบพื้น 3 ระดับ ไล่เรียงจากโซนกึ่งสาธารณะเข้าไปถึงพื้นที่ใช้สอยส่วนตัว นอกจากจะสร้างการรับรู้ถึงการใช้งานที่ต่างกันด้วยระดับแล้ว การไม่ได้แบ่งพื้นที่ด้วยผนังทึบ ยังช่วยให้บ้านดูโปร่งโล่ง ไม่อึดอัดอีกด้วย

การวางแปลนบ้านแบบกึ่ง Open Plan ใช้เฟอร์นิเจอร์เป็นตัวกำหนดพื้นที่ใช้สอย มีผนังกั้นแต่เพียงน้อย ที่นอกจากจะช่วยเรื่องความโปร่งโล่ง ลมไหลผ่านได้ดี แล้วยังเป็นวิธีการออกแบบที่ปล่อยให้พื้นที่ไหลเชื่อมเข้าหากัน เกิดการแชร์พื้นที่บนกิจกรรมที่แตกต่างของคนในครอบครัว เช่นโถงกลาง ที่มีทั้งส่วนครัว โต๊ะกินข้าว โซฟานั่งเล่น โต๊ะทีวี กิจกรรมที่มีรูปแบบใกล้เคียง ก็ถูกจัดไว้อยู่ในโซนเดียวกันทั้งหมด สมาชิกในครอบครัวจึงสามารถใช้เวลาร่วมกันได้แม้ทำกิจกรรมต่างกัน แถมช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้า และเพิ่มความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวไปพร้อมๆกัน

นอกจากนี้ยังใช้แนวคิดการวางแปลนอาคารไว้ที่โซนด้านหน้าของพื้นที่ดิน โดยวางตัวขวางตามยาว แบ่งกั้นพื้นที่ทำให้เกิดสนามหญ้าขนาดใหญ่ไว้ที่ด้านหลังของตัวบ้าน เกิดเป็นพื้นที่พักผ่อนส่วนตัวที่หลบซ่อนจากสายตาคนภายนอก

สวนโล่งด้านหลังที่เลือกปลูกต้นไม้ใหญ่ เน้นที่ไม่ต้องการดูแลรักษายุ่งยาก กลายมาเป็นจุดเด่นของบ้านเพราะทุกห้องในอาคารสามารถมองเห็นสวนได้อย่างทั่วถึง

“รูปแบบตัวบ้านหรือสถาปัตยกรรมที่เห็น เป็นเพียงตัวแทนระหว่างเจ้าของบ้าน และส่วนหนึ่งมาจากผู้ออกแบบ ที่จะเติมส่วนผสมให้เข้ากันระหว่างความชอบของเจ้าของและความงาม โดยสถาปัตยกรรมโมเดิร์นเป็นแนวทางที่เราถนัดที่สุด ในที่นี้ความโมเดิร์นนั้นมีหลายระดับ จะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและบริบทโดยรอบ สำหรับบ้านหลังนี้ มีความโมเดิร์นที่เส้นสายตรงไปตรงมา เห็นการตัดกันของวัสดุชัดเจน โดยเลือกใช้หลังคา 2 ชั้น (Double Roof) เพื่อการระบายความร้อนที่ดี โดยชั้นล่างคือหลังคาคอนกรีตเรียบ ส่วนชั้นบนคือหลังคาเพิงหมาแหงนเป็นวัสดุเมทัลชีต” คุณจูน เซคิโน สถาปนิกแห่ง Junsekino Architect and Design พูดถึงรูปแบบของบ้าน

ด้วยพื้นที่บ้านที่พอดีกับความต้องการ ไม่ใหญ่เกินไป ทำให้เจ้าของบ้านสามารถดูแลรักษาบ้านด้วยตัวเองได้ และยังวางแผนต่อเติมในอนาคตได้ด้วย
ใส่ใจเรื่องการประหยัดพลังงาน โดยวางผังอาคารไม่ให้รับแสงโดยตรง สร้างสวนไว้ทางทิศเหนือเผื่อช่วงเวลาตอนบ่ายที่แสงแดดอ้อมใต้พื้นที่สีเขียวด้านหลังจะได้ไม่ร้อนจนเกินไป

Structure Concept

เมื่อสิ่งที่ต้องการคือความโปร่งโล่ง เรียบง่าย สถาปนิกจึงเลือกใช้โครงสร้างเหล็กรูปพรรณรีดร้อนเป็นโครงสร้างหลักของบ้าน ออกแบบรูปทรงหลังคาแบบ Double Roof ที่ดูยกลอย เปิดมุมมองเชื่อมกับภาพวิวภายนอกด้วยแผ่นกระจกใส เน้นการไหลเวียนของอากาศตามธรรมชาติเพื่อมาช่วยลดอุณหภูมิความร้อนภายในบ้าน

เงื่อนไขความท้าทายอย่างหนึ่งที่เจ้าของบ้านต้องการ ก็คือ บ้านนี้ต้องมีเหล็กดัด เพื่อป้องกันอันตรายภายนอกที่จะเข้ามาทำร้ายเด็กเล็กในบ้านที่พ่อแม่เลี้ยงดูกันเอง สถาปนิกเลยต้องหาทางออกแบบแปลงโฉมเหล็กดัดให้กลายเป็นองค์ประกอบหลักของบ้าน จากภาพเคยชินเหล็กดัดที่ดูคล้ายกรงตารางถี่ๆ หรือลวดเลยแบบทวยเทพ เปลี่ยนเป็นเหล็กเส้นนอนขนาดเล็กดูทันสมัย เว้นระยะห่างพอประมาณไม่กวนสายตา เว้นที่ว่างระหว่างเหล็กดัดกับผนังลดความอึดอัด ทำให้ของที่เคยเป็นเหมือนส่วนเกินกลับดูกลมกลืนเป็นลวดลายบนผิวอาคารอีกชั้นหนึ่งอย่างสวยงาม

ออกแบบเหล็กดัดให้ต่อเนื่องกับโครงสร้างเหล็กรูปพรรณรีดร้อน H-beam ซึ่งดูกลายเป็นส่วนหนึ่งของผิวอาคาร ทั้งช่วยเรื่องความปลอดภัย แล้วยังดูกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับตัวบ้าน
ออกแบบหลังคาให้มี 2 ชั้น แก้ปัญหาบ้านสไตล์กล่องแบบโมเดิร์นที่กลัวแดดร้อนหรือกลัวฝนสาด สร้าง Air Gap ช่องว่างอากาศใต้อาคาร ไว้เป็นฉนวนป้องกันพร้อมกับช่วยระบายความร้อนได้ไปในตัว

บ้านที่ดีอาจจะมีขนาดแตกต่างกันออกไป แต่สิ่งที่ขาดไปเสียไม่ได้เลยนั้น ก็คือ ความอบอุ่นและสายสัมพันธ์ของคนในบ้าน ที่จะทำให้บ้านไม่ใช่แค่สิ่งปลูกสร้างจากเหล็ก หิน ปูน ทราย แต่เป็นสถานที่พักใจและกายสำหรับทุกคนในครอบครัว

A house is made of “brick and stone”.

A home is made of “love” alone.


ขอบคุณ

Owner : คุณวัชรพงศ์ และคุณชูจิต ตรีรัตนพันธ์

Architect : Junsekino Architect and Design

Photo : ปวีณ สมบูรณ์ และ Siam Yamato Steel (SYS)

ที่มา : dsignsomething.com