Balance of house : ครึ่งเหล็กครึ่งปูน ความลงตัวของบ้านหลังย่อม ออกแบบโดย PIJIC Architect

เพราะการออกแบบที่ลงตัวและให้ความสำคัญในการแก้ปัญหา ทำให้การอยู่อาศัยดีขึ้นได้จริงๆ เช่นเดียวกับบ้านหลังนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ออกแบบโดย คุณแซม – ศรายุทธ ใจคำปัน สถาปนิกจาก PIJIC Architect ตั้งใจออกแบบให้บ้านหลังนี้เต็มไปด้วยไออุ่นของความน่าอยู่ เป็นบ้านหลังเล็กๆซึ่งมีรายละเอียดหลายจุดที่ทำให้บ้านอยู่สบาย


จัดวาง ให้อยู่สบาย

เนื่องจากที่ดินมีขนาดไม่ใหญ่มากนัก ตัวบ้านจึงวางผังเป็นรูปตัวแอลเล็กๆ (L) ตัวบ้านด้านยาวติดรั้วข้างบ้าน เพื่อให้เกิดพื้นที่สวนและสระว่ายน้ำสำหรับการพักผ่อนให้มากที่สุด “ความยากของบ้านหลังนี้ คือการแก้ปัญหาเรื่องพื้นที่ที่แคบและยาว โดยเจ้าของบ้านต้องการบ้านที่โปร่งสบาย ดูไม่อึดอัด การออกแบบจึงต้องวางตัวอาคารไว้ชิดที่ดินด้านหนึ่งให้มากที่สุด เพื่อเปิดพื้นที่อีกด้านได้มากที่สุด” คุณแซม สถาปนิกกล่าวกับเราถึงแนวคิดในการวางแปลนบ้าน

“เจ้าของบ้านอยากได้บ้านที่โปร่งสบายสไตล์โมเดิร์น ไม่ชอบอาคารหลังคาจั่ว แต่ก็ไม่ได้อยากได้บ้านทันสมัยหรือมินิมอลมากเกินไป ที่สำคัญต้องมีความเป็นส่วนตัว อยู่บ้านหลังนี้แล้วต้องสบายทั้งกายและใจ” นี่คือโจทย์ที่เจ้าของโยนมาให้ ผมเลยออกแบบบ้านกล่องสไตล์โมเดิร์น ที่มีการวางแปลนบ้านที่คิดถึงช่องเปิด คิดถึงการระบายอากาศที่ดีที่เหมาะกับสภาพอากาศเมืองไทย เพราะหากขึ้นชื่อว่าสถาปัตยกรรมเมืองร้อนแล้ว การป้องกันแดดและฝนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด – คุณแซมเสริมเรื่องโจทย์ที่ได้รับจากเจ้าของบ้าน

ด้วยพื้นที่ดินเพียง 60 ตารางวา เราเลือกที่จะวางตัวบ้านที่กว้างประมาณ 5 เมตร ชิดด้านใดด้านหนึ่งให้มากที่สุด (เว้น 50 เซนติเมตรตามกฎหมายกำหนด โดยด้านนั้นต้องเป็นผนังทึบ) เพื่อให้เกิดพื้นที่ว่างทำเป็นสระว่ายน้ำและสวน ให้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากที่สุด โดยเกิดช่องเปิดที่ด้านนี้ได้สบายๆ เพราะเป็นด้านที่หันไปทางทิศเหนือ แสงแดดจึงไม่แรง และไม่สาดเข้ามาภายในบ้านมากนัก


สเปซที่สร้างความเป็นส่วนตัวและอบอุ่น

เหนือขึ้นไปจากส่วนสระว่ายน้ำ ที่ชั้น 2 เป็นส่วนของห้องนอนต่างๆ ที่จะเปิดหน้าต่างมาที่สระว่ายน้ำนี้ เป็นความตั้งใจของสถาปนิก ที่ต้องการให้ช่องเปิดนี้ เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ของทุกคนในบ้านเข้าด้วยกัน เพราะไม่ว่าอยู่ที่บริเวณใดของบ้าน ก็จะยังสามารถมองเห็นคนอื่นๆ ทำกิจกรรมภายในบ้านไปด้วยนั่นเอง

บ้านหลังนี้แยกทางเข้าบ้าน เป็น 2 ทางหลักด้วยกัน โดยทางแรกจะเป็นทางเข้าสู่ห้องนั่งเล่นทางประตูบานเปิดเล็กๆ ด้านซ้ายมือ หรือเรียกได้ว่าเป็นทางเข้าจากที่จอดรถนั่นเอง ส่วนอีกทางเข้าเป็นทางที่จะตรงไปสู่สระว่ายน้ำ หากจะเข้าบ้านก็เพียงเลี้ยวซ้ายก็จะเจอกับห้องนั่งเล่น ที่เปิดฝ้าสูง 2 ชั้นทันที

เมื่อเข้ามาภายในบ้าน จะพบกับพื้นที่ห้องนั่งเล่นที่ดูเป็นส่วนตัว เพราะมีการปิดล้อมของพื้นที่อย่างเหมาะสม โดยทางด้านทิศเหนือที่เปิดไปนั้น เป็นการเปิดช่องเปิดขนาดใหญ่ได้สบายๆ เพราะแสงแดดไม่แรง ส่วนด้านตรงข้ามที่เป็นทิศใต้ สถาปนิกออกแบบให้เป็นผนังทึบทั้งผืนเพื่อป้องกันความร้อนได้เป็นอย่างดี นอกจากจะได้มุมมองและความรู้สึกที่เปิดโล่งแล้ว บริเวณห้องนั่งเล่นนี้ยังสว่างด้วยแสงธรรมชาติด้วย

โถงห้องนั่งเล่นนี้ จึงถือเป็นพระเอกของบ้าน ที่ทำให้บ้านน่าอยู่และมีภาวะน่าสบายเกิดขึ้น ให้บ้านนี้เหมาะกับการอยู่อาศัยและทำให้คุณภาพชีวิตของทุกคนในบ้านดีขึ้น โดยเหนือจากโถงนี้เป็นทางเดินชั้น 2 ที่จะเป็นส่วนทางเดินที่แจกจ่ายไปยังห้องนอนต่างๆ


บ้านครึ่งปูน ครึ่งเหล็ก

ส่วนโครงสร้างหลักที่ใช้สำหรับบ้านหลังนี้เป็นคอนกรีตเสริมเหล็กผสมกับการใช้เหล็กรูปพรรณรีดร้อน เพราะด้วยงบประมาณที่ไม่มากนัก และความต้องการเป็นบ้านปูนของเจ้าของบ้าน ทำให้โครงสร้างส่วนใหญ่เป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก แต่มีการเสริมเป็นเหล็กรูปพรรณรีดร้อนบางส่วนนั้น ก็เพื่อความสวยงามและความน่าสนใจที่มากกว่า

แม้จะเป็นการใช้เหล็กเพียงบางส่วน แต่หากเลือกใช้ในตำแหน่งที่เหมาะสม ก็จะช่วยให้อาคารดูโมเดิร์น มีลูกเล่นที่น่าสนใจมากขึ้น “โครงสร้างเหล็กรูปพรรณรีดร้อนที่เห็นนี้ เป็นโครงสร้างที่รับน้ำหนักตัวบ้านจริงๆ ไม่ใช่ส่วนตกแต่งเพื่อความงามเท่านั้น โดยเราเลือกที่จะโชว์เส้นสายของเหล็กรูปพรรณรีดร้อนที่ชัดเจน ไม่ต้องมีวัสดุใดปิดทับ ซึ่งเจ้าของบ้านก็ชอบและเปิดรับวัสดุที่อาจจะยังไม่คุ้นเคยนี้ จากการเสนอของเรานั่นเอง” คุณแซมกล่าวถึงการใช้วัสดุเหล็กในบ้านนี้

“ด้วยงบประมาณที่ไม่มากนัก บวกกับความต้องการได้บ้านเป็นปูนของเจ้าของบ้าน บ้านหลังนี้จึงเลือกใช้เหล็กรูปพรรณรีดร้อนในบางส่วนที่ต้องการโชว์โครงสร้าง หรือต้องการเน้นให้เห็นโครงสร้างเท่านั้น… ถ้าถามว่าทำไมต้องใช้เหล็กด้วย ก็ต้องตอบว่าเหล็กเป็นวัสดุที่ใช้แล้ว ทำให้อาคารดูเบา ดูไม่หนัก สถาปนิกเลือกใช้เหล็กรูปพรรณรีดร้อนที่ส่วนหน้าของบ้านที่เป็นทางเข้าและที่จอดรถ และถัดมาเป็นส่วนของทางเดินชั้น 2 ของบ้าน และโถงสูงห้องนั่งเล่นนี้

“เหล็กเป็นวัสดุที่ผมใช้เป็นประจำ สำหรับคนไทยนั้นอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับการใช้เหล็กกับบ้านพักอาศัย นั่นเป็นเพราะความรู้สึกของคนที่มีต่อเหล็ก ว่าจะเหมาะกับงานอาคารสาธารณะเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว เหล็กเป็นวัสดุที่เหมาะกับการใช้ในอาคารทุกประเภท เพราะก่อสร้างได้รวดเร็ว ควบคุมงานก่อสร้างได้ดีกว่างานคอนกรีต แถมยังสามารถทำให้งานเนี้ยบได้ง่ายกว่าคอนกรีต แต่ต้องใช้ช่างที่มีประสบการณ์งานเหล็กมาแล้ว”

สำหรับใครที่ยังไม่มั่นใจว่าจะใช้เหล็กสร้างบ้านทั้งหลังดีไหม การเลือกทำบ้านครึ่งปูนครึ่งเหล็ก ก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี เพราะเป็นการผสาน 2 วัสดุ ที่มีข้อดีต่างกัน ให้ความรู้สึกต่างกันมาอยู่ในบ้านของเรา อาจเป็นการเพิ่มความสนใจให้บ้านของเราได้เป็นอย่างดี

การตกแต่งภายในเน้นที่การใช้งานที่สะดวกสบายและเรียบง่าย ใช้วัสดุที่แสดงถึงความอบอุ่นอย่างไม้ และสีโทนสว่าง เพิ่มความน่าสนใจด้วยการเน้นสีที่บางผนัง ไม่ให้ห้องดูน่าเบื่อ โดยเฟอร์นิเจอร์มีทั้งลอยตัวและบิวท์อินในสัดส่วนที่พอๆกัน โทนสีขาว ครีม น้ำเงิน และเทาเป็นหลัก

บ้านที่ดีอาจไม่ใช่บ้านที่ราคาแพงที่สุด แต่เป็นเพียงบ้านที่หาคำว่า “พอดี” เจอ ได้อย่างเหมาะสมที่สุด เช่นบ้านหลังนี้ที่หาจุดกึ่งกลางระหว่างพื้นที่ใช้งานและความเป็นส่วนตัว ระหว่างวัสดุเหล็กและคอนกรีต ระหว่างความคับแคบและโปร่งโล่ง การมาเจอกันครึ่งทาง อาจก่อเกิดผลลัพท์ที่น่าสนใจไม่น้อย

ขอขอบคุณคุณแซม – ศรายุทธ ใจคำปัน สถาปนิกจาก PIJIC Architect