Sala Zen สถาปัตยกรรมอยู่อาศัย ที่ลงตัวและสงบนิ่ง

ที่ตั้ง : จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

พื้นที่ : 350 ตารางเมตร

สถาปนิก : Volume Matrix studio

ภาพ : Spaceshift Studio

บ้านสไตล์ทรอปิคอลโมเดิร์นหลังนี้ มีแนวคิดที่น่าสนใจทั้งเรื่องการวางผัง และการออกแบบหน้าตาของสถาปัตยกรรม เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับที่ตั้งและการใช้งานจริง ออกแบบโดยคุณ กศินร์ ศรศรี แห่ง Volume Matrix studio

บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ดินนั้นใกล้กับแม่น้ำและยังคงมีต้นไม้ใหญ่อยู่ในที่ดินหลายต้น แนวคิดหลักเริ่มต้นจึงเป็นการออกแบบโดยให้ตัวสถาปัตยกรรมนั้น เป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติ ทั้งต้นไม้ใหญ่ สายลม แสงแดด รวมไปถึงวิวของแม่น้ำที่อยู่ไม่ไกลออกไปนัก ต้นไม้ใหญ่ทุกต้นในพื้นที่จึงถูกคงไว้ และออกแบบตัวบ้านให้เอื้อต่อการมีอยู่ของธรรมชาติเหล่านี้มากที่สุด

สถาปนิกเลือกที่จะออกแบบบ้าน 3 ชั้นนี้ ให้มีการยกใต้ถุนสูงแบบบ้านไทยสมัยก่อน ที่จะมีใต้ถุนเป็นเอกลักษณ์เด่นของบ้านทุกหลัง โดยสมัยก่อนนั้นใต้ถุนเหล่านี้ มีหน้าที่ในการเป็นพื้นที่เอนกประสงค์มากมาย ทั้งพักผ่อน ทำงาน หรือรับประทานอาหาร โดยผู้ที่ใช้งานจะเย็นสบายด้วยสายลมที่พัดผ่านได้สะดวก อีกทั้งยังร่มเย็นตลอดเวลา เพราะมีตัวบ้านคอยบังแดด และเป็นฉนวนกันความร้อนที่ดี

ส่วนในเวลากลางคืนนั้น ก็ย้ายขึ้นไปใช้งานพื้นที่ด้านบนบ้าน เพื่อความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย โดยรูปแบบของตัวบ้านนั้นก็เน้นที่ความโปร่งสบาย การเปิดช่องประตูหน้าต่างที่กว้างเป็นพิเศษ อีกทั้งยังมีการออกแบบชายคาที่ยื่นยาว สามารถกันฝนได้ดีและในขณะเดียวกันก็สามารถถ่ายเทอากาศได้ดีอีกด้วย

แนวคิดของบ้านแบบโบราณ จึงถูกแปลภาษาให้กลายเป็นความทันสมัยในแบบปัจจุบัน ด้วยแนวคิดเดิมแต่เปลี่ยนวัสดุที่เหมาะสมและสะดวกสบาย ทำให้เกิดบ้าน Sala Zen หลังนี้ขึ้น ท่ามกลางธรรมชาติที่เขียวชอุ่มในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาแห่งนี้นั่นเอง

สถาปนิกออกแบบให้ชั้นล่างของบ้าน เป็นพื้นที่ใต้ถุนทั้งหมด จะมีก็เพียงห้องน้ำ 1 ห้องสำหรับการใช้งานในพื้นที่เอนกประสงค์นี้ โดยโครงสร้างของเสาที่ชั้น 1 นี้ออกแบบเป็นโครงสร้างคอนกรีตทั้งหมด เพราะมองไปถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตคือเรื่องของน้ำท่วม การยกใต้ถุนจึงเป็นการยกบ้านให้พ้นน้ำ และโครงสร้างคอนกรีตเองก็ทนทานเมื่อต้องเจอกับน้ำท่วมเป็นระยะเวลานานๆ

ส่วนโครงสร้างชั้น 2 และ 3 เป็นโครงสร้างเหล็กรูปพรรณรีดร้อนทั้งหมด ด้วยเหตุผลของรูปแบบและลักษณะเด่นของเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน H-Beam เอง ที่มีความทันสมัย ดูเบาลอย ไม่หนาหนักเมื่อเทียบกับคอนกรีต เหล็กจึงน่าสนใจ และอีกมุมหนึ่งคือเรื่องของการก่อสร้าง ที่หน้างานนั้นจะสะอาด ไม่มีฝุ่นหรือมลพิษมากเท่างานคอนกรีต ซึ่งเป็นเรื่องสุขภาพที่ดีของผู้อยู่อาศัยและคนที่ทำงานด้วย   

เมื่อยกพื้นที่ส่วนพักผ่อนอย่างห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหารไว้ที่ชั้น 2 – 3 จึงเป็นการยกมุมมองให้สูงขึ้น ผู้ที่อยู่ภายในจะรู้สึกเป็นส่วนตัวเพราะผู้คนที่อยู่ชั้นล่างไม่สามารถมองเห็นได้ และยังเป็นความสูงที่สามารถมองไปเห็นแม่น้ำที่อยู่ติดกับพื้นที่ดินของบ้านได้ด้วย

บันไดเหล็กรูปพรรณรีดร้อน ที่พาดยาวเชื่อมต่อพื้นที่ชั้น 1 และ 2 ออกแบบให้ยื่นยาวและไม่มีเสารับ เพื่อเพิ่มการใช้งานที่มากขึ้น อีกทั้งยังดูไม่อึดอัด ให้ความรู้สึกโปร่งสบายให้กับตัวบ้าน

คุณสมบัติเด่นอีกข้อหนึ่งของเหล็กรูปพรรณรีดร้อน คือการที่สามารถทำช่วงพาดโครงสร้างที่กว้างได้โดยไม่มีเสาคั่นกลาง ทำให้พื้นที่ภายในดูโปร่งสบาย บวกกับการออกแบบช่องเปิด การใส่บานกระจกและสีสันที่ใช้เป็นสีโทนสว่างและสีเอิร์ธโทน ทำให้บ้านหลังนี้คือความโปร่งสบายแบบไทยๆ ที่สื่อสารในภาษาที่ทันสมัยมากขึ้น จึงมั่นใจได้ว่าบ้านหลังนี้จะสามารถอยู่ได้อย่างสบายกายและใจแน่นอน