Think for Better Living บ้านเหล็กอยู่สบาย โดย Green Dwell

ในชีวิตหนึ่ง เราจะสร้างบ้านกันสักกี่หลัง? คำถามแรกที่เราถูกถามกลับมา ในช่วงเริ่มต้นของบทสนทนาวันนั้น มันชวนให้คิดต่อว่าจริงๆแล้วเราควรให้ความสนใจกับการออกแบบบ้าน หรือ สร้างบ้านมากน้อยแค่ไหน…

เจ้าของบ้าน : คุณ วีระพล และคุณธนพร เลิศรัตนชัย

สถาปนิก – ตกแต่งภายใน : คุณ รักศักดิ์ สุคนธะตามร์ Green Dwell

Oum & Pol’s Home หลังนี้เป็นของคุณ วีระพล และคุณธนพร เลิศรัตนชัย ทั้งคู่เริ่มด้วย การหาสถาปนิก ที่จะมาออกแบบบ้าน ทางอินเตอร์เน็ต จนมาเจอกับคุณรักศักดิ์ สุคนธะตามร์ แห่ง Green Dwellทั้งสองฝ่ายเริ่มทำความรู้จักกันโดยการพูดคุย และผลงานที่ผ่านมาของคุณรักศักดิ์ ทำให้พบว่าทั้งแนวทางและ ความคิดในการทำบ้านนั้น เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญในการทำงานออกแบบ ที่เจ้าของและผู้ออกแบบ ต้องสามารถรวมเป็นหนึ่งเดียวได้


จุดเริ่มต้นที่มาพร้อมทางเลือก

บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งย่านรามคำแหง โดยก่อนหน้านี้เจ้าของบ้านมีบ้านเดิมอยู่แล้วย่านบางบัวทอง แต่ประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปี ’54 ตัวบ้านเกิดความเสียหาย จึงมีความคิดที่จะย้ายถิ่นฐานและสร้างบ้านหลังใหม่สักหลัง สุดท้ายผู้ท้าชิงก็ปรากฏตัว เมื่อมาเจอที่ดินพร้อมบ้านที่ย่านรามคำแหงนี้ โดยมีข้อดีคือ ที่ดินนั้นอยู่ติดกับทะเลสาบขนาดใหญ่ของโครงการ มีมุมมองที่ดี มีการรับลมธรรมชาติที่ดี แต่อาจมีข้อเสียที่หมู่บ้านอยู่ไกลจากใจกลางเมือง ซึ่งข้อนี้ไม่ใช่สิ่งสำคัญในการเลือกพื้นที่ เพราะเจ้าของบ้านอยากได้บ้านที่อยู่สบาย และสามารถใช้งานได้จริงมากกว่า


ออกแบบบ้าน จากบริบท

แนวทางในการทำงานของ Green Dwell คือการออกแบบบ้านที่อยู่สบาย เป็นเป้าหมายหลักที่มาเป็นอันดับแรก ก่อนการเกิดรูปแบบ สไตล์ ซึ่งเป็นสิ่งที่สนองความต้องการทางสายตาเท่านั้น สำหรับบ้านหลังนี้ก็เช่นกัน คุณรักศักดิ์ เริ่มต้นด้วยการพิจารณาที่ตั้งของบ้าน ทิศทางแดด ลม ฝน ที่จะเกิดขึ้น รวมถึงมุมมองรอบข้างที่มีผลต่อการเปิดช่องเปิด และการออกแบบจัดวางพื้นที่การใช้งานของบ้าน

โปรแกรมจำลองแสงเงาที่จะเกิดขึ้นตามทิศทางและที่ตั้งจริง ทำให้ทราบว่าพื้นที่ส่วนใดจะรับแดด พื้นที่ส่วนใดจะร่มในช่วงเวลาที่ต่างกันออกไป

หลังจากนั้นจะมีการคำนวณหรือจำลองสภาพแดด เงา รวมถึงสายลมที่จะเกิดขึ้นจริง ซึ่งขั้นตอนนี้จะมีการคิดรูปแบบอาคารคร่าวๆ เพื่อนำมาทดลองและหาข้อสรุปในการวาง Plan บ้านที่ดีที่สุด

การวิเคราะห์ทิศทางแดดและเงาที่เกิดจากตัวอาคารเอง
การวิเคราะห์ทิศทางแดดและเงาที่เกิดจากอาคารใกล้เคียง
การวิเคราะห์ทิศทางลมธรรมชาติ ก่อเกิดรูปทรงและทิศทางที่เหมาะสม

จากการวิเคราะห์ แปลนบ้านที่เหมาะสมที่สุดคือแปลนรูปตัวยู (U) โดยหันขาตัวยูไปยังทิศของทะเลสาบของหมู่บ้าน โดยสถาปนิกมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมคือการปลูกต้นไม้ใหญ่บริเวณสวนกลางบ้าน 2-3 ต้น เพื่อกรองแสงแดดที่จะเข้าสู่ตัวบ้านในช่วงเวลาบ่ายแก่ๆ ซึ่งแสงแดดจะเฉียงมากและด้านดังกล่าวไม่มีอาคารอื่นมาช่วยบังแดด

สถาปนิกเลือกวางห้องต่างๆ ตามทิศทางและปริมาณการรับแดดในแต่ละวัน เช่น ตำแหน่งที่มีการโดนแดดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจพิจารณาให้เป็นห้องที่ใช้งานในตอนกลางคืนเป็นหลัก เช่น ห้องนอน แต่ต้องช่วยลดปริมาณแสงแดดที่มากระทบดังกล่าวโดยการกรองแสงด้วยร่มเงาที่เกิดจากระแนง หรือ ต้นไม้ใหญ่ ซึ่งทำให้เมื่อตกดึกที่มีการใช้งาน ความร้อนก็ไม่สะสมอยู่มากนัก และเครื่องปรับอากาศก็ทำงานไม่หนักเกินไป

ส่วนห้องที่มีการใช้งานในตอนกลางวันมาก เช่น ห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร ส่วนนี้ควรเป็นส่วนที่ไม่โดนแดดในตอนกลางวันมากนัก สถาปนิกจึงเลือกที่จะวางไว้ตรงกลางของแปลนบ้านตัวยู ซึ่งมีตัวอาคารที่เป็นขาตัวยูเอง คอยบังแดดให้นั่นเองทั้งนี้ตัวบ้านยังเอื้อต่อการไหลผ่านของลมได้เป็นอย่างดี โดยการออกแบบบานเปิดขนาดใหญ่เพื่อรับลม แต่มีระแนงบังแดดไม่ให้ความร้อนเข้ามา และเลือกใช้บานเกล็ดในหลายจุดเพื่อถ่ายเทความร้อนออกไป ซึ่งบานเกล็ดเป็นบานหน้าต่างที่ระบายอากาศได้ดีที่สุด เมื่อเทียบกับบานแบบอื่นๆ

ช่องว่างระหว่างห้อง ระหว่างก้อนอาคาร ช่วยให้สายลมพัดผ่านตัวบ้านได้อย่างสะดวก
ระแนงอะลูมิเนียมแนวนอนที่บังแดดได้ถึง 45 องศา จะลดปริมาณแสงแดดที่จะเข้ามาในบ้านได้ถึงเวลาประมาณบ่าย 4 โมง บวกกับหน้าต่างบานเกล็ดที่มีอยู่รอบบ้าน ช่วยให้บ้านเย็นสบายโดยไม่ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศ


สไตล์ที่มาพร้อมการใช้งาน

ด้วยการตั้งโจทย์จากเจ้าของบ้านตั้งแต่แรกเริ่ม ที่ไม่ได้ต้องการบ้านที่สวยงามอย่างในนิตยสารแต่อยู่ไม่สบาย กลับกัน เจ้าของบ้านสนใจในวิธีการคิด การออกแบบที่ถือการอยู่อาศัยสำคัญที่สุด คำว่า “สไตล์” ของบ้านจึงต้องหลีกทางให้กับการออกแบบที่ทำให้บ้านอยู่สบายแทน อาจมีโจทย์เรื่องการตกแต่งเพียงว่า อยากได้บ้านที่ดูมีชีวิตชีวา ไม่แข็งกระด้าง การตกแต่งอาจจะมีกลิ่นอายของลอฟท์นิดๆ ก็ดี ซึ่งทั้งหมดถูกสื่อสารออกมาทางการใช้สี เฟอร์นิเจอร์ และวัสดุของบ้าน

ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ไม้จริง สีดูเข้ากับพื้นคอนกรีตขัดมัน ผนังสีขาวครีมที่เพิ่มความสะอาดตาและทำให้บ้านดูสว่าง โคมไฟเหล็กสไตล์ลอฟท์ช่วยให้ห้องดูมีลูกเล่นมากขึ้น เป็นต้น


เลือกใช้วัสดุ อย่างเข้าใจ

และเมื่อพูดถึงรูปแบบของโครงสร้าง คุณรักศักดิ์ ก็บอกกับเราว่า “รูปแบบทั้งหมดที่คิดมานั้น จะไม่ลงตัวสวยงามและใช้งานได้ดีเลย หากเราเลือกใช้งานวัสดุผิด” โดยโครงสร้างของบ้านหลังนี้ใช้เป็นวัสดุคอนกรีตเสริมเหล็ก และ เหล็กรูปพรรณรีดร้อน ผสมผสานกันไป โดยโครงสร้างหลักที่เป็นตัวบ้านจะเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก เพราะด้วยรูปแบบของบ้านนั้น ไม่ได้ต้องการช่วงเสากว้างนัก จึงสามารถใช้โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กได้ ส่วนเหล็กรูปพรรณรีดร้อนจะนำมาใช้ในส่วนของโครงหลังคาทั้งหมด โครงสร้างเสาเพื่อรับหลังคา โครงสร้างเสาลอย คานลอย เพราะเหล็กรูปพรรณรีดร้อนให้ความรู้สึกที่เบาลอย ไม่เทอะทะ และช่วยในการรับน้ำหนักได้เท่าๆกัน โครงสร้างเหล็กจะสามารถออกแบบให้มีหน้าตัดโครงสร้างได้เล็กกว่า สวยกว่า

การเลือกใช้วัสดุของสถาปนิกนั้น ยังส่งเสริมแนวคิดเรื่องการเป็น Tropical Modern Architecture ด้วย เพราะด้วยอากาศในเขตร้อนแบบเมืองไทยนั้น มีทั้งแดด ฝน ตลอดทั้งปี นอกจากตัวสถาปัตยกรรมเองต้องสามารถกันแดดและฝนได้ดี ระบายความชื้นได้ดีแล้ว วัสดุยังต้องทนทานต่อสภาพอากาศด้วย

นอกจากแนวคิดเรื่องบ้านที่ใช้พลังงานน้อยแต่ยังคงอยู่สบายแล้ว บ้านหลังนี้ยังใส่ใจในเรื่องวัสดุที่ใช้ โดยเลือกใช้วัสดุทดแทน ลดการใช้วัสดุที่มาจากธรรมชาติจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นไม้จริง หรือหินจริง โดยจะพิจารณาใช้ไม้สังเคราะห์และวัสดุทดแทนที่มีความทนทาน แต่ให้ความรู้สึกที่เป็นธรรมชาติอยู่

เห็นได้จากส่วนของพื้นที่ชั้นล่างที่ทำเป็นพื้นขัดมัน เรียบง่าย ประหยัด ส่วนที่ชั้น 2 นั้นต้องการให้ดูอบอุ่น แต่ต้องการลดการใช้ไม้จริง จึงตัดสินใจใช้กระเบื้องยางลายไม้ ซึ่งปัจจุบันมีลายและสีที่เหมือนไม้จริงมากๆ แต่ใช้งานได้ทนทานทำความสะอาดได้ง่ายอีกด้วย

เหล็กรูปพรรณรีดร้อน ก็เป็นอีกวัสดุที่เป็นตัวแทนของการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เพราะเหล็กเป็นวัสดุที่มีความทนทาน และสามารถรีไซเคิลได้เกือบ 100% “เราคิดเสมอว่า นอกจากสถาปนิกจะมีหน้าที่ออกแบบบ้านให้อยู่สบายแล้ว เรายังมีหน้าที่ช่วยกันออกแบบโลกใบนี้ ให้อยู่กับเราไปนานๆด้วยเช่นกัน” สถาปนิกกล่าวเสริมเรื่องการใช้เหล็ก

อย่างพื้นที่จอดรถที่อยู่ใต้ส่วนของห้องนั่งเล่นชั้น 2 นั้น ต้องการช่วงเสาที่กว้างพอที่จะสามารถจอดรถได้ 3 คัน แบบสบายๆ โครงสร้างเหล็กรูปพรรณรีดร้อนจึงเหมาะสมที่สุด เพราะสามารถทำช่วงพาดที่กว้างได้ โดยที่ยังมีขนาดโครงสร้างที่เล็ก เสาไม่ใหญ่ ไม่เกะกะการใช้งานจริง

และในขณะเดียวกัน เหล็กรูปพรรณรีดร้อน ก็เป็นวัสดุที่มีความเป็นกลางเรื่องสไตล์สูง กล่าวคือ สามารถเข้าได้กับการออกแบบหลายสไตล์ ทั้งโมเดิร์น ร่วมสมัย หรือแม้แต่วินเทจ เพราะยุคสมัยนี้จะเป็นการตกแต่งในแบบลูกผสมกันเสียส่วนใหญ่ เหล็กรูปพรรณรีดร้อนจึงปรากฏอยู่ในหลายๆอาคาร ซึ่งรวมถึงบ้านหลังนี้ด้วย

สำหรับบ้านหลังนี้ เป็นเหมือนส่วนผสมที่ลงตัวระหว่าง “ความต้องการ” และ “ความจำเป็น”  โดยเจ้าของบ้านจะเป็นผู้ให้โจทย์กว้างๆเรื่อง “ความต้องการ” และสถาปนิก มีหน้าที่รวบรวมไปวิเคราะห์ สรุปออกมาเป็น “ความจำเป็น” ของบ้านหลังนี้ ทั้งเรื่องของรูปแบบ และ วัสดุที่ใช้ ถ้าเปรียบกับอาหาร บ้านหลังนี้น่าจะเป็นอาหารจานเด็ด ที่นอกจากจะหน้าตาดีชวนให้ถ่ายรูปก่อนทานแล้ว รสชาติยังกลมกล่อม และยังดีต่อสุขภาพอีกด้วย


Steel in Detail : คุณรักศักดิ์ Green Dwell

สำหรับงานที่เป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก และ เหล็กรูปพรรณรีดร้อน ผสมกัน สิ่งสำคัญที่สุดของการออกแบบคือการทำแบบให้มีความละเอียดมากที่สุด เพราะความเที่ยงตรงของเหล็กรูปพรรณรีดร้อน และ คอนกรีตนั้นต่างกัน โดยเหล็กนั้นจะมีความเที่ยงตรงสูง กำหนดขนาด และการยึดมาได้บางส่วนจากโรงงาน แต่งานคอนกรีตนั้นเป็นงานหล่อในที่ มีโอกาสคลาดเคลื่อนได้ การที่เราทำแบบ Detail รอยต่อเหล็กกับคอนกรีตได้ละเอียด จะเป็นการช่วยลดความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้เนื่องจากความคลาดเคลื่อนของงานคอนกรีต


ขอขอบคุณ

เจ้าของบ้าน : คุณ วีระพล และคุณธนพร เลิศรัตนชัย

สถาปนิก – ตกแต่งภายใน คุณรักศักดิ์ สุคนธะตามร์ Green Dwell

ภาพและข้อมูลจาก Dsign Something