SYS Warehouse at WHA Eastern Industrial Estate (Maptaphut) สถาปัตยกรรมเหล็กที่ลงตัว Siam Yamato Steel (SYS)

INFRA GROUP 

สถาปนิกโครงการ  : นายพูนเกษม โภคาประกรณ์

สถาปนิก : นายอุทิศ เครือบุดดี, นายเกียรติศักดิ์ ศรีจันทะวงษ์, นายวุฒิชัย ดิษสาคร


ความเป็นมาของโครงการ

อาคารเหล็กที่ดูลงตัวโดดเด่นนี้ คืออาคาร SYS Warehouse อาคาร B ซึ่งตั้งอยู่ที่  นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ตะวันออก (มาบตาพุด) จังหวัดระยอง เป็นอาคารสำหรับจัดเก็บเหล็กรูปพรรณรีดร้อนของ SYS (Siam Yamato Steel) โดยตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่โรงงานเดิม ใกล้จุดทางเข้าโรงงาน เป็นอีกหนึ่งพื้นที่จัดเก็บสินค้าเหล็กรูปพรรณรีดร้อนของบริษัทฯ

โดยได้ทีมผู้ออกแบบจาก INFRA GROUP บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการออกแบบอาคารหลากหลายประเภท โดยเฉพาะงานประเภทโรงงาน โกดังเก็บสินค้า และอาคารสำนักงาน

สิ่งสำคัญในการออกแบบโกดังเก็บสินค้าประเภทเหล็กก็คือ การสร้างพื้นที่ที่สามารถกันฝน กันความชื้นจากภายนอก เพื่อป้องกันเหล็กไม่ให้เกิดสนิม แต่หลายโรงงานเลือกที่จะปิดทึบหมด (ไม่มีช่องหน้าต่างหรือช่องระบายอากาศ) ซึ่งก็อาจจะป้องกันความชื้นได้จริง แต่หากคิดถึงผู้ที่ต้องทำงานภายในนั้น ที่ต้องทนกับความร้อนและระบบระบายอากาศที่ไม่ถ่ายเทแล้ว รูปแบบของโกดังสินค้าแบบใหม่จึงได้ถูกคิดขึ้น

“หากเป็นโรงงานอื่น คงเลือกที่จะติดบานเกล็ดอลูมิเนียมที่ใช้กันฝน แต่ให้ลมผ่านได้ บานเกล็ดลักษณะนี้สามารถใช้งานได้ดีกับพื้นที่ที่ไม่มีลมพัดแรง ฉะนั้นกับพื้นที่นี้จึงไม่สามารถใช้แนวทางดังกล่าวได้ เพราะพื้นที่จริงโดยรอบของ SYS Warehouse อาคาร B นี้ค่อนข้างเปิดโล่ง มีลมพัดตลอดทั้งวัน การใช้บานเกล็ดอลูมิเนียมแบบเดิมไม่น่าจะใช้งานได้ดี” สถาปนิกกล่าวถึงแนวคิด ที่นำปัจจัยทั้งหมด มาคิดทางออกที่ดีที่สุด

แนวคิดในการออกแบบรูปทรงของอาคารนั้น สถาปนิกนำแนวคิดมาจากการทำ Castellated Beam มาประยุกต์ใช้ในการออกแบบ SYS Warehouse แห่งนี้ โดยให้ส่วนที่เหลื่อมกันนั้น เป็นส่วนที่ไว้ใช้เพื่อระบายอากาศ และเพื่อให้แสงสว่างจากธรรมชาติเข้ามาภายในอาคารได้ โดยเลือกที่จะให้ส่วนที่ระบายอากาศนั้น อยู่ในระนาบที่เหลื่อมออกมาจากส่วนของอาคาร เป็นการลดปริมาณหรือโอกาสที่น้ำหรือความชื้นจะเข้าไปในอาคารได้อย่างน่าสนใจ

หมายเหตุ : Castellated Beam คือการตัดเหล็ก H-Beam ที่บริเวณ Web เป็นรูปทรงส่วนหนึ่งของรูป 6 เหลี่ยม แล้วนำมาซ้อนเหลื่อมกัน เกิดหน้าตัดใหม่ที่สามารถรับแรงได้มากขึ้น ในขณะที่ใช้เหล็กน้ำหนักเท่าเดิม

เกิดการถ่ายเทอากาศ ระบายความร้อน แต่ไม่นำความชื้นจากภายนอกเข้ามาภายใน สำหรับคนที่ทำงานก็รู้สึกสบายตัว ไม่ร้อนเกินไป และเหล็กที่เก็บภายในโกดังนี้ ก็ไม่โดนความชื้น ไม่เป็นสนิม ถูกเก็บรักษาไว้อย่างเหมาะสม

และเมื่อพูดถึงเรื่องการวางแปลนของอาคาร สถาปนิกได้ทำการวิเคราะห์ผังการทำงาน ที่การทำงานงานนั้นอยากจะให้มีบริเวณ Load ขนย้ายเหล็กเข้าออก อยู่ที่ปลายทั้งสองฝั่งของอาคาร

บริเวณนี้จะมีการถอยเทียบจอดของรถบรรทุกขนาดใหญ่เพื่อขนย้ายเหล็ก โครงสร้างส่วนนี้จึงต้องเป็นโครงสร้างยื่นออกมา ไม่มีเสารองรับด้านล่าง ดังนั้นเพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างสะดวกและปลอดภัยที่สุด สถาปนิกจึงเลือกที่จะออกแบบให้โครงสร้างที่ด้านปลายทั้งสองฝั่งของโกดังเก็บสินค้าแห่งนี้เป็นโครงสร้างยื่นยาว ไม่มีเสารองรับด้านล่างทำให้สามารถใช้งานได้สะดวกปลอดภัย และยังดูสวยงามลงตัวอีกด้วย

และแน่นอนว่าอาคารนี้ใช้เหล็กรูปพรรณรีดร้อนเป็นโครงสร้างหลัก การยื่นออกมาจากโครงสร้างประมาณ 8 เมตร จึงเป็นเรื่องที่สามารถทำได้สบายๆ อีกทั้งเหล็กรูปพรรณรีดร้อนยังสามารถช่วยให้งานก่อสร้างนั้นเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด ก่อสร้างได้เร็ว และสามารถคุมคุณภาพการก่อสร้างได้อย่างแม่นยำ

ส่วนเรื่องของการให้แสงสว่าง สถาปนิกเลือกใช้ไฟเบอร์กลาสใสเป็นผนังในส่วนที่ต้องการให้แสงสว่างเข้ามาได้ โดยไฟเบอร์กลาสนั้นมีคุณสมบัติที่เหมาะสม ทนทาน และอยู่ในงบประมาณที่ตั้งไว้

โกดังเก็บสินค้าแห่งนี้ยังเป็นอาคารรักษ์โลก โดยที่ด้านบนหลังคานั้น มีการติดตั้งแผงโซล่าเซลตลอดความยาวของตัวอาคาร เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ส่งเข้าสู่ระบบ Grid System เพื่อไว้ใช้สำหรับงานไฟส่องสว่างภายในโรงงาน หลังคาจึงต้องอยู่ในทิศทางที่หันรับแสงแดดมากที่สุดในแต่ละวัน นั่นก็คือ 14 องศา หันไปทางทิศใต้ ซึ่งการออกแบบทั้งหมดนี้ได้รวมฟังก์ชั่นการใช้งานเข้ากับรูปแบบที่โมเดิร์นสวยงามได้อย่างลงตัว


ขอขอบคุณ 

INFRA GROUP 

สถาปนิกโครงการ  : นายพูนเกษม โภคาประกรณ์

สถาปนิก : นายอุทิศ เครือบุดดี, นายเกียรติศักดิ์ ศรีจันทะวงษ์, นายวุฒิชัย ดิษสาคร