บ้านเหล็ก ของครอบครัวขยายสไตล์อินดัสเทรียลลอฟท์ Steel Family House

เจ้าของ คุณมานิธ มานิธิคุณ

สถาปนิก/วิศวกร MEE-D ARCHITECT CO.,LTD.

ผู้รับเหมา บริษัท พรทัศน์การโยธา จำกัด

เจ้าของบ้านหลังนี้คือคุณมานิธ มานิธิคุณ ตั้งใจสร้างบ้านหลังนี้เพื่อสมาชิกในบ้านที่ประกอบด้วยภรรยาคุณมานิธ และลูกๆ อีก 3 คน โดยความต้องการเบื้องต้น คือการเป็นพื้นที่ต่อขยาย เป็นบ้านหลังที่ 2 สำหรับลูกๆ เป็นหลัก ในพื้นที่ดินเดียวกับบ้านเดิม ซึ่งสร้างและได้อยู่อาศัยมาแล้วหลายปีแล้ว


การอยู่อาศัย ที่คิดถึงภาพอนาคต

“จริงๆ ที่เราสร้างบ้านหลังนี้ขึ้น ก็เพื่อให้ลูกๆได้มีความเป็นส่วนตัว ในพื้นที่ของตนเอง ได้มีความใกล้ชิดกันในหมู่พี่น้อง และยังอยู่ในพื้นที่ใกล้กับบ้านเดิม (บ้านที่ผู้ซึ่งเป็นพ่อแม่อยู่อาศัยเป็นหลัก) เราเองที่เป็นพ่อแม่ก็ยังสามารถดูแลได้ทั่วถึง เพราะเด็กสมัยนี้ต้องการความเป็นส่วนตัว มีเพื่อนฝูงเยอะ เราเห็นว่าการมีเพื่อนและการได้มีเวลาส่วนตัว เป็นสิ่งสำคัญของการเป็นวัยรุ่น เราเลยตัดสินใจสร้างบ้านหลังนี้ขึ้น” คุณมานิธบอกกับเราถึงที่มาของบ้านหลังนี้

บ้านเดิมหลังแรกนั้นเป็นบ้านที่มีขนาดค่อนข้างลงตัวแล้ว โดยแบ่งเป็นหลายๆห้องในหลังเดียว เมื่อเกิดความต้องการบ้านใหม่ จึงมาพร้อมโจทย์เรื่องการมีพื้นที่สวนกลางบ้าน (อยากให้ต่างจากบ้านเดิม) จึงมีการออกแบบใหม่ที่มีแปลนบ้านกระจายตัวออก มีชานเชื่อมต่อแต่ละห้อง โดยแต่ละห้องนั้นมีแปลนที่ไม่ต่างกัน จะต่างที่การเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่จะเปลี่ยนไปตามความชอบของเจ้าของห้องนั่นเอง


แปลนบ้าน ที่บ่งบอกความคิดภายใน

บ้านหลังนี้จึงมีความคล้ายกับบ้านเรือนหมู่ของไทยสมัยก่อน ที่เชื่อมต่อห้องต่างๆ ด้วยพื้นที่ที่เรียกว่าชานหรือระเบียง “คือเดิมที่เราออกแบบบ้านหลังแรกให้พี่มานิธ เราพบว่าเป็นบ้านที่สามารถใช้งานได้อย่างสะดวกสบายคล่องตัวจริง เพราะเป็นบ้านที่มีการแบ่งห้องภายในหลังคาเดียวกัน ทางเดินสั้น เข้าถึงง่าย แต่กับบ้านหลังใหม่นี้ คุณมานิธต้องการให้แตกต่างออกไป โดยที่อยากได้สวนไว้ตรงกลางบ้าน เป็นโจทย์หลักที่ให้มาตั้งแต่ตอนรับบรีฟครั้งแรก” คุณโอ๊ต สถาปนิกจาก Mee-D Architect เล่าที่มาหลังจากได้รับบรีฟ

และหากมองในรายละเอียด ผนังของห้องแต่ละห้องนั้นมีการเว้นระยะห่างจากกัน กล่าวคือผนังห้องแต่ละห้องไม่ได้ใช้ผนังร่วมกัน นั่นเป็นเพราะความต้องการของสถาปนิก ที่ออกแบบระยะห่างระหว่างห้องไว้ที่ 25-30 เซนติเมตร หนึ่งเพื่อการระบายความร้อนได้ดี สองเพื่อความเป็นส่วนตัว (เรื่องเสียงรบกวน)

การเชื่อมต่อภายในบ้านจะเป็นทางเดินที่มีหลังคาคลุม เป็นพื้นที่กึ่งภายนอกที่ทุกคนจะต้องออกมารับรู้สภาพแวดล้อมเมื่อเดินออกมานอกห้อง ทั้งเพื่อเชื่อมโยงกับสิ่งรอบตัว และทำให้เราได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างมากขึ้นด้วยนั่นเอง

และเมื่อถามถึงการจัดวางพื้นที่ของบ้าน จะพบว่ามีพื้นที่กึ่งภายนอกที่เป็นพื้นที่ส่วนกลางค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นส่วนรับประทานอาหารและเตรียมอาหาร ที่อยู่ติดกับสระว่ายน้ำ หรือพื้นที่สนามหญ้าขนาดใหญ่ด้านหน้าบ้าน เหตุผลคือ “ทุกคนในบ้านเป็นคนที่มีเพื่อนเยอะ มีเพื่อนแวะเวียนมาที่บ้านบ่อย รวมถึงการจัดงานปาร์ตี้ เลยมีพื้นที่ส่วนกลางค่อนข้างเยอะ มันให้ความสนุก ได้เป็นตัวของตัวเอง ไม่เหงา มิตรภาพนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เราจึงบอกสถาปนิกว่าอยากได้พื้นที่เหล่านี้”


บ้านที่คิดถึงการอยู่ร่วมกับธรรมชาติ

คุณมานิธผู้เป็นเจ้าของบ้านยังให้ความสนใจเรื่องธรรมชาติ และการอยู่โดยการพึ่งพิงธรรมชาติ โดยบริเวณด้านข้างของบ้านหลังนี้เป็นพื้นที่โล่ง อนาคตคุณมานิธตั้งใจจะปลูกพืชผักสวนครัว รวมถึงสมุนไพรเพื่อรับประทานเอง และแจกจ่ายแก่เพื่อนฝูง และถ้าหากมีคนสนใจมากๆ ก็อาจจะทำเพื่อการค้าต่อไป นอกจากนี้บริเวณหลังคาของบ้าน ยังติดแผงโซล่าเซลล์ ที่เป็นส่วนที่สามารถสร้างกระแสไฟฟ้าและนำกลับมาใช้ภายในบ้านได้ ถือเป็นบ้านที่มีความคิดแบบคนรุ่นใหม่จริงๆ

โดยเรื่องของโซล่าเซลล์นี้ ส่งผลต่อเรื่องของการออกแบบส่วนของหลังคา โดยต้องคำนึงถึงการเอียงรับมุมแสงแดดให้ได้มากที่สุดในหนึ่งวัน โดยมุมที่เหมาะสมที่สุดคือ “เอียง 15 องศา หันไปทางทิศใต้” นั่นเอง โดยไฟฟ้าที่ได้จากพลังงานแสงอาทิตย์นั้น ถูกนำไปให้กับบ้านเก่าซึ่งสามารถช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าต่อเดือนได้มากกว่า 25 – 40 % ของที่เคยจ่าย ถือว่าค่อนข้างมากทีเดียว


อินดัสเทรียลลอฟท์จากภายใน

“ผมขอเรียกบ้านหลังนี้ว่า บ้านลอฟท์ที่เกิดจากกิจกรรมและธรรมชาติ แล้วกัน” นิยามสไตล์บ้านของเจ้าของบ้าน ส่วนผู้ออกแบบนั้นบอกว่า “สไตล์ที่ออกมานี้ เกิดจากผสานกันระหว่างความชอบของเจ้าของบ้านหรือลูกๆ ที่เราจะผสมความเป็นลอฟท์ที่น่าอยู่เข้าไป ทำให้สามารถใช้งานได้จริง ไม่ใช่อินดัสเทรียลลอฟท์ที่เท่แต่อยู่ไม่สบาย” โดยให้สถาปัตยกรรมและการตกแต่งภายในนั้นเป็นสิ่งเดียวกัน หรือเป็นการตกแต่งที่เกิดจากเนื้อแท้ของวัสดุ เช่นโครงสร้างเหล็กรูปพรรณรีดร้อน ผนังอิฐโชว์แนว หรือพื้นไม้ต่างๆ คือการเปิดเผยเนื้อแท้ที่มีความงามในตัวโดยปราศจากวัสดุปิดทับ


สถาปัตยกรรมเหล็ก ที่กลมกลืนกับธรรมชาติ

บ้านหลังนี้ก่อสร้างด้วยเหล็กรูปพรรณรีดร้อนทั้งหลัง ด้วยความที่เจ้าของบ้านชอบในวัสดุเหล็กอยู่แล้ว และเป็นวัสดุเดียวกันกับที่สถาปนิกคิดว่า น่าจะเหมาะสมกับรูปแบบ สไตล์ของบ้านหลังนี้มากที่สุด

นอกจากนี้ งานเหล็กยังสามารถออกแบบได้หลากหลายมากกว่าคอนกรีต เช่น หากเราอยากทำรูปทรงแปลกๆ โครงสร้างเหล็กนั้นสามารถทำได้ดีกว่าคอนกรีต หรือในเรื่องหน้าตัดก็เช่นกัน เราสามารถออกแบบให้อาคารมีความบางลอยได้ง่ายกว่าโครงสร้างคอนกรีต เพราะในการรับแรงที่เท่ากันนั้นเหล็กสามารถทำโครงสร้างได้บางกว่ามาก ส่วนเรื่องระหว่างการก่อสร้างนั้นก็ดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว หน้างานสะอาด ไม่มีฝุ่นผง หรือน้ำปูน ทำให้สามารถปลูกต้นไม้ได้เจริญงอกงามดีเพราะดินไม่เสีย

และอีกแง่หนึ่งของการใช้เหล็กที่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบ คือการที่สามารถขายเหล็กคืนได้ ยามเมื่อไม่ต้องการอาคารนั้นๆแล้ว ต่างจากโครงสร้างคอนกรีต ที่เมื่อทุบทิ้งแล้ว ก็เกิดเป็นขยะที่ไม่สามารถนำไปใช้ใหม่ได้ เป็นอีกแนวคิดที่เจ้าของให้ความสนใจเรื่องการใช้เหล็ก… ทุกสิ่งที่ผสมผสานกัน จนเกิดเป็นบ้านน่าอยู่หลังนี้

ขอขอบคุณ

เจ้าของ คุณมานิธ มานิธิคุณ

สถาปนิก วิศวกร MEE-D ARCHITECT CO.,LTD.

ผู้รับเหมา บริษัท พรทัศน์การโยธา จำกัด