บ้านเหล็กขนาดพอดี ที่มีกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมเมืองร้อน

บ้านขนาดพอดีหลังนี้ เป็นบ้านของครอบครัวสมัยใหม่ ที่ต้องการความแตกต่าง ในนิยามของคำว่าบ้านที่เคยเป็น โดยเจ้าของบ้านได้เลือก Sute Architect มาเป็นผู้ออกแบบงานสถาปัตยกรรมและตกแต่งภายในให้ และบทสรุปของบ้านเหล็กโมเดิร์นนี้จะเป็นอย่างไร ลองไปชมกันครับ


ที่มาแห่งบ้านเหล็ก

บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ที่ตำบลยางโยภาพ จังหวัดอุบลราชธานี ท่ามกลางทุ่งนาที่กว้างไกลสุดลูกหูลูกตา บ้านหลังนี้ตั้งเด่นเป็นสง่า และก็ยังคงแฝงไว้ด้วยความน่าอยู่ในสไตล์โมเดิร์นทรอปิคอล โดยสถาปนิกออกแบบผังบ้านเป็นรูปตัวยู (U) โดยหันขาตัวยูไปยังทิศใต้ ผลที่ได้คือการได้พื้นที่ชานบ้านหรือระเบียง ที่จะร่มเย็นตลอดทั้งวัน เพราะด้วยรูปแบบตัวบ้านที่โอบล้อมระเบียงนี้ไว้ ทำให้ระเบียงนี้ไม่โดนแสงแดด และยังมีลมพัดผ่านเย็นสบาย

การวางแปลนบ้านแบบกึ่ง Open Plan ใช้เฟอร์นิเจอร์เป็นตัวกำหนดพื้นที่ใช้สอย มีผนังกั้นแต่เพียงน้อย ที่นอกจากจะช่วยเรื่องความโปร่งโล่ง ลมไหลผ่านได้ดีแล้ว ยังเป็นวิธีการออกแบบที่ปล่อยให้พื้นที่ไหลเชื่อมเข้าหากัน เกิดการแชร์พื้นที่บนกิจกรรมที่แตกต่างของคนในครอบครัว เช่นโถงกลาง ที่มีทั้งส่วนครัว โต๊ะกินข้าว โซฟานั่งเล่น โต๊ะทีวี กิจกรรมที่มีรูปแบบใกล้เคียง ก็ถูกจัดไว้อยู่ในโซนเดียวกันทั้งหมด สมาชิกในครอบครัวจึงสามารถใช้เวลาร่วมกันได้แม้ทำกิจกรรมต่างกัน แถมช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้า และเพิ่มความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวไปพร้อมๆกัน

และเพื่อให้ได้ความรู้สึกแบบบ้านไทยจึงมีการใช้แผ่นไม้ค่อนข้างมาก ปรากฎตัวอยู่ในงานพื้น ผนัง ฝ้าเพดาน บานกรอบหน้าต่าง ไปจนถึงระแนงบังแดดด้านนอก ช่วยสร้างบรรยากาศให้ดูอบอุ่นขึ้นด้วยสีของเหล็กดำ น้ำตาลไม้ และขาวนวลจากผนัง

ซึ่งแม้ว่ารูปแบบอาคารจะดูทันสมัย แต่ในการอยู่อาศัยจริง สถาปนิกได้คิดถึงการอยู่สบายมากที่สุด โดยออกแบบบ้านให้สามารถรับลมได้ดี ในขณะที่ไม่เปิดรับแสงแดดและความร้อนในปริมาณที่มากเกินไป รวมถึงเรื่องของช่องเปิดของประตู-หน้าต่าง ที่ออกแบบไว้ในทิศที่สามารถรับลมได้ดีที่สุด นั่นคือทิศตะวันตกเฉียงใต้ – ตะวันออกเฉียงเหนือ ลมก็จะพัดผ่านตัวบ้านได้อย่างสะดวกที่สุดนั่นเอง

บ้านหลังนี้ยังถูกออกแบบให้มีการยกพื้นชั้นล่างขึ้นสูงจากระดับดินเล็กน้อย เพื่อช่วยในการระบายความร้อนใต้บ้านออกไปได้โดยเร็ว และยังเป็นการป้องกันเรื่องของภัยน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกปีอีกด้วย ส่วนเรื่องการเปิดมุมมองเชื่อมกับภาพวิวภายนอก สถาปนิกใช้กระจกใสค่อนข้างมาก และเป็นบานหน้าต่างที่สูงจากพื้นถึงฝ้าหลายบาน ทำให้การไหลเวียนของอากาศตามธรรมชาติเกิดขึ้นตลอดวัน ส่วนเรื่องมุมมอง คนในบ้านก็สามารถมองออกไปเห็นธรรมชาติรอบตัวได้อย่างเป็นสุข


Structure Concept

เมื่อสิ่งที่ต้องการคือความโปร่งโล่ง เรียบง่าย สถาปนิกจึงเลือกใช้โครงสร้างเหล็กรูปพรรณรีดร้อน เป็นโครงสร้างหลักของบ้าน ผสานกับโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กบ้างในบางส่วน เพราะด้วยภาพลักษณ์และความรู้สึกที่คนไทยมีต่อวัสดุเหล็ก ยังมีบางช่วงบางตอน ที่ยังมีความรู้สึกไม่มั่นใจ ซึ่งบางครั้งผู้ออกแบบเองไม่สามารถเปลี่ยนความคิดใครได้ง่ายๆ สำหรับบ้านหลังนี้ จึงยังคงมีโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กอยู่ในบางส่วนนั่นเอง

รูปแบบสถาปัตยกรรมเมืองร้อนจริงๆนั้น ต้องมีเรื่องของการบังแดดที่เหมาะสม ซึ่งบ้านหลังนี้ได้ถูกคิดมาอย่างดีแล้ว โดยนอกจากหลังคาที่มีชายคายื่นยาวแล้ว ยังมีส่วนที่เป็นทั้งชายคาทึบและโปร่ง (ระแนง) เพื่อทำหน้าที่กรองแสงแดดให้น้อยลง ทำให้ความร้อนไม่เข้าสู่ตัวบ้านมากนัก โดยส่วนที่ยื่นยาวนี้ โครงสร้างเหล็กรูปพรรณรีดร้อนเป็นวัสดุที่เหมาะสมสำหรับการทำโครงสร้างมากที่สุดนั่นเอง

สาเหตุหลักอีกข้อหนึ่งของการใช้โครงสร้างเหล็กคือความรวดเร็วในการก่อสร้าง และการใช้จำนวนแรงงานที่น้อยกว่างานคอนกรีต ทำให้หน้างานดำเนินไปอย่างรวดเร็ว และสามารถก่อสร้างเสร็จได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด

นอกจากนี้ งานเหล็กยังสามารถออกแบบได้หลากหลายมากกว่าคอนกรีต เช่น หากเราอยากทำรูปทรงแปลกๆ โครงสร้างเหล็กนั้นสามารถทำได้ดีกว่าคอนกรีต หรือในเรื่องหน้าตัดก็เช่นกัน เราสามารถออกแบบให้อาคารมีความบางลอยได้ง่ายกว่าโครงสร้างคอนกรีต เพราะในการรับแรงที่เท่ากันนั้นเหล็กสามารถทำโครงสร้างได้บางกว่ามาก ส่วนเรื่องระหว่างการก่อสร้างนั้นก็ดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว หน้างานสะอาด ไม่มีฝุ่นผง หรือน้ำปูน ทำให้สามารถปลูกต้นไม้ได้เจริญงอกงามดีเพราะดินไม่เสีย

ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดของงานโครงสร้างเหล็ก ที่มาเจอกับงานคอนกรีต คือการออกแบบรอยต่อให้แข็งแรงและสวยงามมากที่สุด โดยรอยต่อที่ดีเหล็กรูปพรรณรีดร้อน ควรฝังเข้าไปในเนื้อคอนกรีตและเชื่อมติดกับเหล็กเสริมในคอนกรีต เพราะด้วยน้ำหนักของเหล็กเอง และวัสดุประกอบอื่นเช่นไม้ระแนง หากยึดเหล็กกับคอนกรีตเพียงที่ผิวของปูนฉาบนั้นจะไม่แข็งแรงพอ

โครงสร้างเหล็กรูปพรรณรีดร้อน ที่เป็นวัสดุสมัยใหม่ก็สามารถปรับตัวผ่านกระบวนการออกแบบให้เข้ากับสภาพอากาศเมืองร้อนแบบไทยได้อย่างดี ขอเพียงเรารู้จักเรียนรู้และทำความเข้าใจ ผสมผสานวัสดุหลายๆ ชนิดมาไว้ด้วยกัน การสร้างสภาวะน่าอยู่ในบ้านดีไซน์เรียบเท่ก็จะไม่ใช่เรื่องยากเกินฝันอีกต่อไปครับ

ขอขอบคุณ

สถาปนิก Sute Architec

ภาพ Issira Tonehongsa