LADPRAO 80 House : บ้านที่สถาปนิกชอบ

สถาปนิก : BLACK PENCILS STUDIO โดย คุณชุติ ศรีสงวนวิลาส

วิศวกรโครงสร้าง : รศ.ดร. เฉลิมเกียรติ วงศ์วานิชทวี

รูปภาพ : Spaceshift Studio

“ความท้าทายของบ้านหลังนี้คือ การใช้ประโยชน์จากโครงสร้างเดิมในพื้นที่ที่ค่อนข้างจำกัด มาออกแบบให้มีความโปร่ง ไม่อึดอัด มีการระบายอากาศที่ดี และได้บรรยากาศอย่างที่ตั้งโจทย์ไว้”

ฐานรากเดิม ที่เพิ่มเติมคือโครงสร้างใหม่

โจทย์ของบ้านหลังนี้คือเจ้าของบ้านต้องการรีโนเวทบ้านพักอาศัย 2 หลัง ซึ่งเป็นบ้านเก่าที่ซื้อมาพร้อมกับที่ดิน โดยปรับปรุงให้เป็นบ้านพักอาศัยขนาด 4 ห้องนอน เนื่องจากบ้านเดิมนั้นมีพื้นที่แคบ และความสูงจากพื้นถึงเพดานค่อนข้างต่ำ ไม่สัมพันธ์ความต้องการของเจ้าของบ้านและแนวคิดที่วางไว้ คือ ต้องการให้บ้านหลังนี้มีความโปร่ง มีการระบายอากาศที่ดี รวมทั้งโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กของบ้านเดิมนั้น มีปัญหาเสาเยื้องศูนย์ (การที่เสาบ้าน ไม่ตรงกับตอม่อและเสาเข็ม) ดังนั้นจึงได้ข้อสรุปว่าจะเก็บฐานรากเดิมไว้แต่เปลี่ยนโครงสร้างอาคารทั้งหมดเป็นโครงสร้างเหล็กรูปพรรณรีดร้อน

สถาปนิกจัดสรรพื้นที่โดยแบ่งบ้านเดิมหลังหนึ่ง (ด้านขวาของแปลน) เป็นส่วนของห้องแม่บ้าน และบ้านอีกหลังเป็นส่วนของเจ้าของบ้านโดย ต่อเติมอาคารเพิ่มอีกหลังเป็นรูปตัวแอล (L) ล้อมบ้านหลังเดิมไว้ ซึ่งรอยต่อระหว่างอาคารทั้งสองหลังจะต้องมี Expansion Joint เพื่อปิดรอยต่อระหว่างโครงสร้าง เพราะในระยะยาวการทรุดตัวของฐานรากเดิมกับฐานรากใหม่นั้นจะไม่เท่ากัน และ Expansion Joint นี้เองที่จะช่วยให้อาคารทั้งเก่าและใหม่อยู่ร่วมกันได้ ไม่ดึงรั้งกันเกิดความสียหาย

พื้นที่ของตัวบ้านที่ออกแบบใหม่นั้นมีฟังก์ชั่นดังนี้ ชั้น 1 แบ่งเป็น ห้องรับแขก ห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร ห้องครัว และห้องเก็บของ ในส่วนของชั้น 2 แบ่งเป็นห้องนั่งเล่น ห้องพระ ห้องนอน 2 ห้อง และชั้น 3 มีห้องนอนอีก 2 ห้อง และระเบียง และชั้นดาดฟ้าสำหรับวางแผงโซลาร์เซลล์ และเครื่องทำน้ำร้อน พื้นที่รวมทั้งหมดประมาณ 750 ตารางเมตร

สิ่งที่น่าสนใจคือ ฐานรากของบ้านเดิมซึ่งเป็นบ้าน 2 ชั้นนั้นไม่ได้เผื่อการรับน้ำหนักไว้มากนัก การใช้เหล็กรูปพรรณรีดร้อนมาทดแทนโครงสร้างคอนกรีตเดิม จึงช่วยให้น้ำหนักที่ถ่ายลงยังฐานรากน้อยลงมาก (โดยทั่วไปในการรับน้ำหนักที่เท่ากัน โครงสร้างเหล็กจะเบากว่าโครงสร้างคอนกรีต) ดังนั้น จึงสามารถสร้างอาคารใหม่บนโครงสร้างฐานรากเดิมได้อย่างสบายๆ แถมจัดสรรพื้นที่บริเวณชั้นดาดฟ้า เพิ่มฟังก์ชั่นให้เป็นลานบาร์บีคิว สำหรับจัดปาร์ตี้เล็กๆได้ด้วย


จุดเชื่อมต่อตอม่อคอนกรีตและเหล็ก

เมื่อทำการทุบโครงสร้างคอนกรีตเหนือดินของตัวบ้านเดิมแล้ว ต่อมาคือการเชื่อมต่อเสาเหล็กรูปพรรณรีดร้อนกับฐานรากเดิม ซึ่งสามารถทำได้โดยการฝังโบลท์เชื่อมเพลทเหล็กเข้ากับตอม่อคอนกรีตเดิม และเชื่อมหรือยึดติดโครงสร้างเหล็กใหม่ได้เลย ซึ่งจะแตกต่างกับโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กที่ต้องผูกเหล็กใหม่ซึ่งกระบวนการขั้นตอนการทำงานจะยุ่งยากกว่ามาก รวมถึงเรื่องของเวลาในการทำงานและการก่อสร้างก็นานกว่า ส่งผลไปถึงเรื่องค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย


บันไดเหล็กยื่น ทำให้ภายในบ้านพิเศษว่าบ้านหลังอื่น

องค์ประกอบหลักอื่นๆ เช่นบันได สถาปนิกเลือกใช้เป็นบันไดเหล็กเพื่อให้กลมกลืนกับภาพรวม แต่ความพิเศษคือการฝังแม่บันไดเหล็กรูปพรรณรีดร้อนไว้ในผนัง และยื่นเหล็กพับออกมาเป็นขั้นบันได ขนาดกว้างประมาณ 1.20 เมตร ปูทับหน้าด้วยไม้ ให้ความรู้สึกบางเบา แปลกตาแต่ก็แข็งแรง


สร้างบ้านจากบรรยากาศ

อีกหนึ่งในความเฉพาะเจาะจงของบ้านหลังนี้คือ ทิศทางของแดดซึ่งนับเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆที่สถาปนิกคำนึงถึง สำหรับหน้าบ้านซึ่งเป็นทิศใต้ซึ่งเป็นทิศที่แสงแดดสาดส่องมากนั้น สถาปนิกได้ใช้การสร้างผนังสำหรับการกรองแสงอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยชั้นของต้นไม้ ระแนงบังแดด และกระจก ทั้งหมดเพื่อกันความร้อนแต่ไม่กันบรรยากาศดีๆออกไปจากบ้านหลังนี้ โดยใช้จังหวะและเส้นสายที่ลงตัว เกิดเป็นลูกเล่นที่น่าสนใจให้กับพื้นที่บริเวณโถงรับแขก

เมื่อแสงแดดกระทบกับระแนงบังแดด รวมทั้งระนาบของเฟรมเหล็กและกระจก จะก่อให้เกิดเป็นเงาขึ้นที่พื้น ซึ่งเงานี้จะมีมิติ และปรับเปลี่ยนเคลื่อนไหวไปตลอดทั้งวันตามองศาการเคลื่อนไหวของดวงอาทิตย์

ถัดเข้ามาก็คือการจัดพื้นที่ให้เป็นโถงดับเบิ้ลเสปซ (โถงที่มีฝ้าสูงกว่าปกติ) เนื่องจากปกติแล้วอากาศร้อนมักจะลอยตัวสูงขึ้น จึงสามารถช่วยลดความร้อนของบริเวณห้องรับแขกได้ในระดับหนึ่ง


เหล็กกับการโชว์โครงสร้าง

“เส้นสายที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลมาจากรูปทรงวัสดุที่ใช้ ซึ่งนั่นก็คือเหล็กรูปพรรณรีดร้อน เรามองว่าเหล็กเป็นวัสดุที่ควรค่าแก่การเปลือยผิวมากที่สุด เปลือยในที่นี้คือการไม่ต้องมีวัสดุใดปิดทับ โชว์ให้เห็นเส้นสายที่สวยงามของเหล็กมากที่สุด สำหรับบ้านนี้ เราพยายามออกแบบให้ใช้เหล็กที่ความยาวมาตรฐานมากที่สุด เพราะจะได้มีการตัดและเหลือเศษน้อยที่สุดเช่นกัน เป็นการช่วยประหยัดงบและประหยัดทรัพยากรโลกไปด้วยในตัว”

ในส่วนของกันสาดกระจกบริเวณประตูทางเข้าบ้านนั้นใช้เป็นโครงสร้างเหล็กรูปพรรณรีดร้อนเช่นกัน โดยยื่นยาวออกไปจากเสาประมาณ 3 เมตร ปิดทับด้วยกระจกเทมเปอร์ลามิเนต และเว้นส่วนปลายไว้เพื่อเป็นการระบายน้ำ เป็นอีกหนึ่งส่วนของบ้านที่แสดงคุณสมบัติของเหล็ก ที่สามารถยื่นยาวโดยไม่มีเสารองรับที่ด้านปลาย และโครงสร้างยังดูเบาลอย ไม่หนาหนัก

สำหรับห้องนอนบริเวณชั้น 2 และชั้น 3 ซึ่งอยู่ด้านหน้าบ้านทางทิศใต้นั้น ก็ได้ใช้ระแนงบังแดดที่มีลักษณะเหมือนกันนี้มาช่วยในการกรองแสงเช่นกันโดยการเพิ่มความถี่ให้มากขึ้น นอกเหนือจากเรื่องความร้อนแล้วยังเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับเจ้าของห้องอีกด้วย

การเลือกสีของไม้รวมทั้งการออกแบบดีเทลของระแนงบังแดดนั้นค่อนข้างลงตัวทำให้ภาพรวมของตัวบ้านดูนุ่มนวลลงทั้งยังกลมกลืนไปกับโครงสร้างหลักได้เป็นอย่างดี

ในทิศตะวันตก(ด้านซ้ายของตัวบ้าน) สถาปนิกออกแบบให้เป็นผนังทึบและก่ออิฐสองชั้นเพื่อช่วยลดการการเทความร้อนจากแสงแดด และการก่อสร้างด้วยผนังทึบยังสามารถลดระยะร่น (set back)ให้เหลือน้อยที่สุดได้


งานที่ดีคืองานที่สถาปนิกชอบ

“งานที่ดีคืองานที่สถาปนิกชอบ” ฟังอย่างนี้แล้ว ไม่ใช่ว่าสถาปนิกจะออกแบบแต่สิ่งที่ตัวเองอยากทำเท่านั้น แต่ประโยคนี้คือกำลังบอกว่า การออกแบบตามความต้องการของเจ้าของบ้าน เป็นสิ่งที่สถาปนิกทุกคนต้องทำอยู่แล้ว แต่จะดีแค่ไหนถ้างานชิ้นนั้นๆ สถาปนิกได้ใส่แรงบันดาลใจ ใส่ความหลงใหล ใส่ความชอบบางอย่างลงไปด้วย ดังเช่นบ้านหลังนี้ เพราะฉะนั้นงานที่ดีจึงไม่ใช่แค่งานที่ลูกค้าชอบ แต่คืองานที่สถาปนิกชอบด้วย” สถาปนิกผู้ออกแบบกล่าวทิ้งท้ายกับเราก่อนจากกันวันนั้น