Tinman House: บ้านโครงสร้างเหล็กซ่อนสีสัน

Project : Tinman House

Owner : คุณวสันต์ ติรางกูร

Architect : Junsekino Architect And Design

Photo : Spaceshift Studio

ด้วยความประทับใจในบทบาทตัวละครชื่อ “Tin Man” ซึ่งเป็นเจ้าหุ่นกระป๋องเหล็กในวรรณกรรมพ่อมดผู้ยิ่งใหญ่เรื่อง The Wizard of Oz เป็นเรื่องราวการออกผจญภัยตามหาหัวใจที่สูญหายในโลกนวนิยายสุดแฟนตาซี ถูกนำมาใช้เป็นชื่อของบ้านโครงสร้างเหล็ก ที่โชว์เนื้อแท้วัสดุอย่างซื่อตรง แต่แอบแฝงแต่งสีสันชิ้นส่วนภายในอาคารเอาไว้อย่างสนุกสนาน ซึ่งบ้านนี้ตั้งอยู่ในย่านสุทธิสาร ภายในซอยลึกเข้าไป มีบ้านเหล็กเรียบเท่ตั้งอยู่อย่างสงบเงียบ…. Tinman house


ก่อนจะเป็น Tinman House

ก่อนที่จะมาเป็นบ้านโครงสร้างเหล็กทรงกล่องสี่เหลี่ยมหลังนี้ได้ เดิมทีเจ้าของบ้านตั้งใจจะสร้างบ้านของตัวเองในทำเลกลางเมืองที่ไปไหนมาไหนสะดวก อยู่ไม่ไกลรถไฟฟ้าหรือรถไฟใต้ดินมากนัก และหลังจากออกสำรวจดูทำเลที่ต่างๆ อยู่เป็นปี ก็บังเอิญมาเจอที่ดินแปลงนี้เข้า ซึ่งมีคุณสมบัติตรงตามที่เราต้องการทุกอย่าง เมื่อติดต่อซื้อขายแล้ว จึงรีบกลับมาร่างแบบเบื้องต้น จดบันทึกความต้องการพื้นที่ในส่วนต่างๆ>รวมถึงส่วนเพิ่มเติมสำหรับครอบครัวที่กำลังจะขยายขนาดในอนาคตด้วย พร้อมทั้งตัวอย่างภาพสถาปัตยกรรมสไตล์ลอฟท์ ที่ตัวเองชื่นชอบ เตรียมรายละเอียดให้พร้อมก่อนจะเข้าไปปรึกษากับสถาปนิก Junsekino Architect And Design เพื่อเปลี่ยนที่ดินขนาดแค่เพียง 53 ตารางวา (212 ตารางเมตร) ให้กลายเป็นบ้านโครงสร้างเหล็กเรียบง่ายสไตล์ลอฟท์ ที่มีพื้นที่ใช้สอยรวม 415 ตารางเมตร ได้อย่างสวยงาม

เส้นสายแนวรั้วออกแบบด้วยเหล็กเส้นแนวตั้ง เว้นช่องว่างระหว่างกันไม่อึดอัด เกิดเงาทาบผ่านให้มิติดูน่าสนใจเมื่อตอนแสงแดดสาดส่อง
โครงสร้างเหล็กและคอนกรีตดิบเปลือย กับการออกแบบเส้นสายอาคารแบบเรียบง่าย คือภาพแรกของอาคารที่ทุกคนจะมองเห็นได้จากด้านหน้าบ้าน

Design Concept

โดยตัวเจ้าของบ้านหรือคุณวสันต์เอง เป็นวิศวกรอยู่แล้ว จึงมีส่วนอย่างมากในการวางคอนเซปดีไซน์บ้านหลังนี้ โดยหลักการออกแบบของ Tinman House คือการเพิ่มประสิทธิภาพพื้นที่ใช้งานให้งอกเงย จากผืนที่ดินที่มีขนาดจำกัด โดยใช้แนวคิดการสร้างรูปฟอร์มอาคารแบบ Form Follows Function กล่าวคือเป็นการออกแบบพื้นที่ใช้สอยตามกิจกรรม หรือหน้าที่การทำงานหลักของพื้นที่นั้นๆ ขนาด กว้าง ยาว สูง ทั้งหมดก็จะตอบโจทย์กับการใช้งานนั้นๆก่อน แล้วจึงเกิดรูปแบบของห้องของอาคาร จากนั้นจึงเป็นการคิดรายละเอียดเพื่อให้งานโดยรวมสามารถอยู่ด้วยกันได้ เข้ากันได้ลงตัว

ร่วมกันกับหลัก Ergonomic Design หรือ Human scale การออกแบบพื้นที่ตามขนาดสรีระศาสตร์การใช้งานพื้นที่เท่าที่จำเป็นของมนุษย์ นำมากำหนดขนาดพื้นที่ต่างๆภายในบ้าน รวมไปถึงตำแหน่งที่ตั้งแต่ละห้องในบ้าน ก่อนที่สถาปนิกจะขัดเกลาเรื่องความงามจากทุกๆองค์ประกอบให้ออกมาลงตัวที่สุด

ภาพสเกต façade อาคารทรงกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้าของสถาปนิก หลังจากได้รับโจทย์ความต้องการจากเจ้าของบ้าน โดยตัวระแนงและโครงเหล็กด้านนอกอาคารนั้น นอกจากจะช่วยบดบังสายตาและแสงแดดได้แล้ว ยังถือเป็นองค์ประกอบเสริมหน้าตาของ Tinman House ให้ดูเท่แบบดิบๆด้วย

บันไดเหล็กสีน้ำงินเชื่อมต่อพื้นที่ชั้น 1 และ 2 เข้าด้วยกัน บันไดนี้เป็นแกนหลักทางสัญจรภายในบ้าน เชื่อมต่อพื้นที่ระหว่างชั้น ให้เชื่อมถึงกัน พร้อมเปิดรับแสงสว่างจากธรรมชาติภายนอกได้เป็นอย่างดี

มองเข้ามาจากหน้าตาภายนอกอาคาร จุดโดดเด่นที่เราจะเห็นได้ชัดเจนคือ  “สัจจะวัสดุของเหล็กโครงสร้าง” เน้นการแสดงผิวจริงของวัสดุ เห็นว่าส่วนใดเป็นโครงสร้าง ส่วนใดเป็นผนังทึบ กระจก หรือแม้แต่ความโล่ง ทั้งหมดถูกออกแบบให้รูปทรงผสานไปกับวัสดุที่เลือกใช้ กล่าวคือ เหล็กก็สามารถแสดงความมั่นคงแข็งแรง อีกทั้งยังสร้างเส้นสายตรงไปตรงมา ผนังทึบสร้างห้องภายในให้ใช้งานได้จริงและคุ้มค่า ส่วนกระจกก็เป็นส่วนสำคัญที่ยังคงกักกั้นสิ่งไม่พึงประสงค์ แต่ยังให้แสงสว่างเข้ามาได้ ทั้งหมดเป็นหน้าที่ที่ถูกต้องเหมาะสมของแต่ละวัสดุอย่างแท้จริง

ส่วนภายในบ้าน สถาปนิกเลือกออกแบบเฟอร์นิเจอร์ให้มีกลิ่นอายของความดิบสไตล์อุตสาหกรรม ทั้งงาน built in และเฟอร์นิเจอร์ลายตัว แอบผสมเฟอร์นิเจอร์เก่าจากการรื้อถอนไม้จากบ้านเก่าบนที่ดินเดิมนี้ มาปรับใช้ในรูปโฉมใหม่ให้เหมาะกับส่วนอื่นๆภายในบ้านด้วย

ที่ห้องอ่านหนังสือ สถาปนิกซ่อนลูกเล่นให้ดูสนุกขึ้นด้วยการเจาะพื้นทะลุมาจากด้านบน

นอกจากนี้ยังมีการใช้แม่สีหลักทั้ง 3 เข้ามาแต่งแต้มความสนุกสนาน เพิ่มเติมความมีชีวิตชีวาให้กับบ้านที่ดูดิบเปลือย ด้วยสีเหลือง – แดง – น้ำเงิน ถูกนำมาใช้ทาพื้นห้อง บานกรอบ ตู้ ขั้นวางของ ม้านั่ง ขั้นบันได กระจัดกระจายกันอยู่ในส่วนต่างๆ ของบ้าน สถาปนิกตั้งใจเลือกเฉดสีให้ตัดกันกับสีผนังปูนเปลือยและโครงสร้างเหล็ก กลายเป็นความเรียบง่ายที่แอบซ่อนลูกเล่นสนุกๆเอาไว้ภายในบ้านหลายจุดทีเดียว

ห้องนั่งเล่น , พื้นที่กินข้าว และห้องครัวจะอยู่ที่ชั้น 1 ที่เข้าถึงได้โดยง่าย รอต้อนรับแขกผู้มาเยือนด้วยสีสันสดใสจากแม่สีทั้ง 3 สี

ผนังคู่ (double wall) ครอบคลุมพื้นที่ผนังทั้งหมดของอาคารทางฝั่งทิศตะวันตก เพื่อป้องกันความร้อนจากแสงแดดภายนอก

Structural Concept

จากความต้องการเพิ่มพื้นที่ใช้สอยที่มากกว่าขนาดที่ดิน บวกกับความชอบโครงสร้างสไตล์ลอฟท์ ซึ่งเป็นการส่วนตัวของเจ้าของบ้าน ทำให้โครงสร้างหลักของบ้าน 3 ชั้นกับ 1 มุมนั่งเล่นชั้นดาดฟ้านี้ เป็นบ้านเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนโดยไม่ต้องสงสัย เพราะเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน ให้ความเรียบง่ายและตรงไปตรงมา และมีความแข็งแรงทนทานทุกสภาพอากาศ อีกทั้งยังสามารถลดขนาดของโครงสร้างได้มาก หากเทียบกับโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กที่จะมีลักษณะหนาหนักในช่วงพาดโครงสร้างที่เท่ากันกับเหล็ก เหล็กจึงมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับทุก ๆ ข้อ

เลือกใช้วัสดุที่เรียบง่าย คุมโทน สีไม่ฉูดฉาดเอาไว้ภายนอก ตั้งใจสร้างความแตกต่างจากพื้นที่สีฉุดฉาดที่อยู่ภายในบ้าน

นอกจากเหล็กจะแข็งแรงแต่ดูเบาบางแล้ว เหล็กมีความยืดหยุ่นสูง รับแรงดึงได้ดีกว่าคอนกรีตหลายเท่าตัว ส่วนเรื่องการก่อสร้าง เหล็กก็ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานภายใต้ระยะเวลาที่จำกัดได้ดี โดยไม่ต้องรอระยะเวลาเหมือนการรอคอนกรีตแห้ง สามารถสั่งตัดจากโรงงานและมาติดตั้งได้เลย ทำให้กระบวนการก่อสร้างเสร็จได้ตามเวลาที่กำหนด

จากข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ทำให้นักออกแบบเลือกใช้โครงสร้างเหล็กช่วงพาด 6 เมตร เพื่อเซฟพื้นที่การใช้สอยภายในบ้าน
มุมนั่งเล่นบนชั้นดาดฟ้าแบบเปิดมุมมองเมืองกรุงเทพรอบข้าง ให้ขึ้นไปนอนอ่านหนังสือรับลมหลบร้อนได้ที่ใต้หลังคานี้
ภาพ isomatic อธิบายพื้นที่ใช้สอยส่วนต่างๆในบ้าน tinman house ทั้ง 3 ชั้น

เมื่อชมบ้านหลังนี้แล้ว ทำให้รู้สึกว่า สไตล์สถาปัตยกรรมหรือการตกแต่งแบบลอฟท์ คือการ “เผย” ความจริงให้เห็น โดยปราศจากสิ่งใดปกปิด บ้านหลังนี้แสดงให้เห็นว่า ตั้งแต่กระบวนให้โจทย์ของเจ้าของบ้าน การคิด การออกแบบของสถาปนิก เป็นการคิดจากภายใน ทั้งหมดยึดแก่นสำคัญก่อนที่จะนำออกมาภายนอก กลายเป็นกายภาพที่จับต้องได้ เป็นวัสดุที่เลือกแล้วว่าสื่อสารได้ตรงใจ ทั้งเหล็ก ไม้ กระจก และสีสันต่างๆ เป็นบ้านดิบๆ ที่ดูไม่น่าเบื่อเลยสักมุมเดียวจริงๆ…


ขอบคุณ

ข้อมูลและภาพ: Junsekino Architect And Design , Spaceshift Studio และ Siam Yamato Steel (SYS)

ที่มา: dsignsomething.com