Big Sister House: บ้านเหล็กในนิยามของครอบครัว

เจ้าของ : คุณอุรุวัณณ์ เจริญนวรัตน์

ออกแบบ : Monotello โดยคุณวรพจน์ เตชะอำนวยสุข, คุณคงศักดิ์ วิจักขณทูลและคุณสหวุฒิ ปานะภาค

ตกแต่งภายใน : คุณสุชาติ เตชางาม

ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล

จะว่าไปแล้ว “บ้าน” กับ “ชีวิต” นั้นเป็นเรื่องเดียวกันโดยแยกจากกันไม่ได้ ชีวิตมีการเติบโตเปลี่ยนแปลง บ้านก็เช่นกัน ในวันที่มีปัจจัยในการใช้ชีวิตเพิ่มขึ้น การดำเนินชีวิต รวมถึงที่อยู่อาศัยจำเป็นต้องเปลี่ยนตามไปด้วย


บ้านที่เกิดจากความเอาใจใส่

BIG SISTER HOUSE นี้คือหนึ่งการเปลี่ยนแปลงเล็กๆในครอบครัวสไตล์ไทย ที่มีสมาชิกในบ้านหลายคน คุณติ๋ม –  อุรุวัณณ์ เจริญนวรัตน์ ที่อยากมีบ้านซึ่งรวมทุกๆคนเข้าไว้ด้วยกัน โดยบ้านหลังเดิมของ คุณติ๋ม นั้นอยู่อาศัยร่วมกับคุณแม่และลูกสาว 2 คน ตั้งอยู่ในพื้นที่ขนาดใหญ่ ที่เครือญาติต่างมีพื้นที่ปลูกบ้านของตัวเองเช่นกัน แต่เมื่อถึงเวลาหนึ่งที่คุณแม่เริ่มมีอายุมากขึ้น คุณติ๋มและคุณแม่จึงมีความคิดที่จะสร้างบ้านหลังใหม่ที่สะดวกต่อการอยู่อาศัยมากขึ้น และเป็นบ้านที่รวมทุกๆคนในครอบครัวเอาไว้ด้วยกันได้เป็นอย่างดี


ออกแบบโดยคิดถึงผู้ใช้งานเป็นหลัก

เมื่อมีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ภายในบ้าน การออกแบบทุกจุดจึงต้องคิดถึงการใช้งานที่สะดวก ปลอดภัยเป็นหลัก อีกทั้งยังต้องคงความเป็นส่วนตัวสำหรับลูกสาว 2 คน ที่กำลังเข้าสู่วัยมีครอบครัวด้วย บ้านหลังนี้จึงเป็นบ้านที่รวมเอาคนจาก 3 ยุคอย่างคุณแม่ คุณติ๋ม และลูกสาว 2 คน เข้ามาใช้งานในพื้นที่เดียวกันนั่นเอง

โดยรายละเอียดการออกแบบสำหรับผู้สูงอายุที่สำคัญของบ้านหลังนี้ อาจพอสรุปได้ดังนี้

1. การหลีกเลี่ยงพื้นต่างระดับ แน่นอนว่าพื้นต่างระดับ ทำความลำบากกับผู้สูงอายุทั้งการเดินและการใช้รถเข็น หากจำเป็นต้องทำพื้นที่ต่างระดับ ต้องทำทางลาดควบคู่กันไปในทุกตำแหน่งที่มีการเปลี่ยนระดับ ความลาดชันของทางลาดต้องไม่เกิน 1 : 12 ตัวอย่างเช่น พื้นต่างระดับ 1 เมตร ต้องมีทางลาดยาว 12 เมตร เป็นต้น

2. ต้องมีความฝืดของผิวสัมผัส กระเบื้องชนิดที่กันลื่นได้ พื้นไม้ไม่ควรขัดให้มีความมันวาวมากนัก ส่วนพื้นพรมก็เป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุอาจเดินสะดุดได้ ควรเอาออกหรือหากต้องการคงไว้ก็ต้องติดขอบและมุมของพรมให้แน่น ไม่นูนหรือเปิดขึ้นมาให้เสี่ยงต่อการเดินสะดุดได้

3. ประตูต้องกว้างกว่าปกติ โดยบานประตูทั่วไปจะมีความกว้างประมาณ 70 เซนติเมตร แต่สำหรับบ้านที่มีผู้สูงอายุและใช้รถเข็น บานประตูต้องมีความกว้างอย่างน้อย 90 เซนติเมตร

4. ประตูบานเลื่อนสะดวกกว่า นอกจากประตูบานเลื่อนจะประหยัดพื้นที่ในการใช้งานมากกว่าบานเปิดแล้ว สำหรับผู้สูงอายุไม่ว่าจะอยู่บนรถเข็นหรือไม่ จะสามารถเปิดประตูบานเลื่อนได้สะดวกและปลอดภัยกว่า


พื้นที่ของบ้าน ที่ออกแบบมาเพื่อความสุข

สถาปนิกเลือกที่จะวางตัวบ้านเป็นรูปตัวแอล (L) โดยแบ่งพื้นที่ใช้สอยออกเป็นส่วนพักอาศัยของคุณแม่ คุณติ๋ม และลูกสาวทั้งสองคน โดยชั้นล่างสุดเป็นส่วนของที่จอดรถ ครัว และส่วนบริการต่างๆ ส่วนชั้นสองเป็นห้องนอนของคุณติ๋มและคุณแม่ รวมทั้งห้องพักแขก

ชั้นสามที่แต่ละปีกของอาคาร จะแบ่งเป็นส่วนพักอาศัยของลูกสาวทั้งสองคน เพื่อให้เกิดความเป็นส่วนตัว แต่ยังคงเกิดการเชื่อมต่อกับทุกคนในบ้าน โดยทางสัญจรภายในที่เกิดจากความตั้งใจให้เกิดความสัมพันธ์ใกล้ชิด ได้พบเจอกันระหว่างการเดินภายในบ้าน หรือการมองเห็นกันผ่านทางช่องเปิดขนาดใหญ่ หรือโถงสูง 2 ชั้นบริเวณห้องนั่งเล่น ซึ่งในอนาคตพื้นที่ทั้งสองส่วนนี้จะให้ความเป็นส่วนตัวแก่ลูกสาวได้อย่างเต็มที่ เรียกได้ว่าเป็นการลำดับพื้นที่ในแนวตั้งตามลักษณะการอยู่อาศัยที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน

ความพิเศษอีกสิ่งหนึ่งคือบ้านหลังนี้มีห้องสำหรับรวมตัวทุกคนในบ้านมากมายหลายจุด เหมาะสำหรับบ้านที่เป็นครอบครัวใหญ่ที่มีสมาชิกหลายคน โดยห้องนี้อยู่บริเวณตรงกลางซึ่งมีอาคารรูปตัวแอลโอบล้อมอยู่ อีกทั้งบริเวณนี้ยังสามารถมองเห็นผู้คนผ่านไปมาได้อย่างชัดเจน จึงเป็นห้องที่คุณติ๋มและคุณแม่ใช้งานบ่อยที่สุด


โครงสร้างเหล็ก ที่มาพร้อมสไตล์ที่ลงตัว

ตัวบ้านทั้งหมดสร้างด้วยโครงสร้างเหล็กรูปพรรณรีดร้อน สื่อสารผ่านสถาปัตยกรรมโมเดิร์นทรอปิคอล (Modern Tropical) หรือสถาปัตยกรรมเมืองร้อนสมัยใหม่ ที่สถาปนิกนั้นให้ความสำคัญเรื่องการออกแบบที่อิงกับบริบทหรือที่ตั้งของอาคารเป็นหลัก

กล่าวคือการมีองค์ประกอบต่างๆ ที่ส่งผลให้บ้านนั้นอยู่สบายในสภาวะอากาศแบบไทยๆ อากาศร้อนชื้นจึงต้องการอาคารที่มีชายคายื่นยาว ซึ่งการจะยื่นชายคาให้ยาวได้มากที่สุด โดยที่ยังสามารถคงความสวยงามลงตัวของโครงสร้าง ไม่ใช้ขนาดโครงสร้างที่หนาเกินไป โครงสร้างเหล็กรูปพรรณรีดร้อนจึงถูกเลือกมาเป็นส่วนของโครงสร้างหลังคาเช่นกัน เพื่อให้สามารถยื่นชายคาได้ยาวและโครงสร้างยังคงบางสวยอยู่

รูปแบบสถาปัตยกรรมที่ดูเรียบง่าย เป็นรูปแบบหรือสไตล์ที่เจ้าของบ้านได้เปิดโอกาสให้สถาปนิกเป็นผู้นำเสนอได้อย่างอิสระ สถาปนิกจึงเลือกที่จะใช้ความเรียบง่ายแบบโมเดิร์น คือการมีเส้นสายที่ตรงไปตรงมา เน้นการใช้งานจริงมากกว่าประดับตกแต่งเพื่อความสวยงามเพียงอย่าเดียว ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของบ้านหลังนี้ ที่ต้องการบ้านที่ปลอดภัย ใช้งานได้สะดวก และลงตัวในรายละเอียด เหล็กรูปพรรณรีดร้อนจึงเป็นตัวเลือกที่ทั้งผู้ออกแบบและเจ้าของบ้านเลือก


โครงสร้างเหล็กนั้นดีต่อทุกคน

เหล็กรูปพรรณรีดร้อน ยังโดดเด่นในเรื่องของการก่อสร้างที่รวดเร็ว ทำให้สามารถคุมระยะเวลาในการก่อสร้างได้แม่นยำ อีกทั้งยังสามารถคุมคุณภาพของวัสดุเหล็กได้อย่างมั่นใจด้วย เพราะเหล็กรูปพรรณรีดร้อนที่ออกมาจากโรงงานนั้นเป็นเหล็กที่มีมาตรฐานควบคุมมาอย่างดี จึงหมดห่วงไปได้เลยเรื่องความแข็งแรงและคุณภาพ

และด้วยความที่บ้านหลังนี้มีผู้สูงอายุอยู่อาศัยด้วย รวมไปถึงเด็กเล็กที่จะตามมาในอนาคต สิ่งสำคัญจึงเป็นเรื่องของสุขลักษณะของคนในบ้าน ซึ่งโครงสร้างที่จะทำให้บ้านนั้นก่อเกิดมลพิษน้อยที่สุดนั่นก็คือ โครงสร้างเหล็กรูปพรรณรีดร้อน เพราะตั้งแต่การก่อสร้างก็ทำให้เกิดฝุ่นหรือมลพิษน้อย และเมื่อถึงตอนใช้งานโครงสร้างเหล็กรูปพรรณรีดร้อน ก็ยังไม่ต้องดูแลรักษามาก ไม่สร้างปัญหาเรื่องสุขภาพ และสุดท้ายยังแข็งแรงทนทานไม่เป็นต้นเหตุของอันตรายที่เกิดจากโครงสร้างแน่นอน

ส่วนในเรื่องการก่อสร้าง งานเหล็กก็ใช้แรงงานน้อยกว่างานคอนกรีต มีความวุ่นวายที่หน้าไซต์น้อยกว่า เรื่องเหล่านี้ผู้รับเหมาจะชอบและรู้ดี ว่างานก่อสร้างที่ใช้เหล็กรูปพรรณรีดร้อนจะสร้างเร็ว จบไว ในแง่ของการทำงานก็ดีต่อทุกฝ่าย เจ้าของบ้านได้เข้าอยู่เร็ว ผู้รับเหมาก็จบงานไว ผู้ออกแบบได้งานที่มีประสิทธิภาพ เรียกว่าดีต่อทุกฝ่าย

ความท้าทายของการออกแบบบ้านหลังนี้ จึงเป็นการรวมเอาคนจาก 3 ยุคสมัยเข้าด้วยกัน โดยการสร้างพื้นที่ส่วนกลางให้ครอบครัวได้พบปะ ทั้งการมีชานไม้ บ่อปลา ครัวไทย ห้องพระ ห้องนั่งเล่น หรือแม้แต่ทางเดินภายในที่สามารถมองเห็นซึ่งกันและกันได้ เพื่อการดูแลที่ทั่วถึง บวกกับการเป็นบ้านที่ปลอดภัยในฐานะที่มีผู้สูงอายุและเด็กผ่านการเลือกใช้วัสดุให้เหมาะสม เพื่อให้เกิดบ้านน่าอยู่หลังนี้ ในบรรยากาศของครอบครัวใหญ่ ที่เต็มไปด้วยไออุ่นของความรักจากทุกคนในบ้าน


Steel in Detail : คุณวรพจน์ Monotello

สำหรับบ้านหลังนี้ที่นับว่ามีขนาดและพื้นที่ที่ใหญ่ ตัวอาคาร 3 ชั้นกับช่วงเสาที่กว้าง หากเราอยากได้อาคารที่ยังคงความเป็นบ้านอยู่ ขนาดของมันต้องดูไม่ใหญ่เกินไป สำหรับบ้านหลังนี้จึงเลือกใช้เหล็กรูปพรรณรีดร้อน ส่วนหนึ่งเพราะอยากให้อาคารดูไม่ใหญ่โตเทอะทะ ซึ่งเหล็กรับแรงได้มากโดยที่ขนาดโครงสร้างเหล็กนั้นเล็กกว่าโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก 


ขอขอบคุณ

เจ้าของ : คุณอุรุวัณณ์ เจริญนวรัตน์

ออกแบบ : Monotello โดยคุณวรพจน์ เตชะอำนวยสุข, คุณคงศักดิ์ วิจักขณทูลและคุณสหวุฒิ ปานะภาค

ตกแต่งภายใน : คุณสุชาติ เตชางาม

ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล