Perfect Combination : U38 House โลกส่วนตัว ในสถาปัตยกรรมเหล็ก

“ไม่มีบ้านหลังไหนที่เหมือนกัน” แม้หน้าตาจะออกมาดูไม่ต่างกันนัก แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการได้มาซึ่งแนวคิด วิธีการ และการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นต่างกันออกไป บ้านหลังนี้คือหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า บ้านที่ดี ไม่ได้มีปัจจัยสำคัญเรื่องความสวยงามเท่านั้น แต่ความลงตัวในการทำงาน ความรวดเร็ว และความลงตัวของแบบ คือสิ่งที่สำคัญและเป็นจุดเด่นของบ้านหลังนี้

เจ้าของ –  คุณพงษ์ศักดิ์ ก่อเกียรติสันติ

สถาปนิก – OFFICE AT Co., Ltd. คุณสุรชัย เอกภพโยธิน และคุณจุฑาทิพย์ เตชะจำเริญ

วิศวกรโครงสร้าง – คุณสราวุธ ย่วนเต็ง /  วิศวกรงานระบบ – คุณเพชร ปัญญางาม / ก่อสร้าง – S.P. Civil System Co., Ltd.


จุดกำเนิดบ้านเหล็ก

หากจะพูดถึงข้อจำกัดและโจทย์ในการออกแบบบ้านแต่ละหลัง คงไม่มีของใครที่เหมือนกันเลย เช่นเดียวกับบ้านหลังนี้ ซึ่งเจ้าของบ้านคือคุณพงษ์ศักดิ์ ก่อเกียรติสันติ วิศวกรใหญ่ ได้มอบหมายให้คุณสุรชัย เอกภพโยธิน และคุณจุฑาทิพย์ เตชะจำเริญ แห่ง OFFICE AT เป็นผู้ออกแบบให้

ด้วยความที่คุณพงษ์ศักดิ์ เจ้าของบ้านทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างอยู่แล้ว จึงเข้าใจกระบวนการต่างๆเรื่องการก่อสร้าง และให้ความสำคัญกับเรื่องของ “ระยะเวลา” ในการก่อสร้าง โดยให้โจทย์กับทางสถาปนิกว่าต้องการสร้างบ้านโดยใช้เวลาน้อยที่สุด เพราะเจ้าของบ้านนั้นใช้ช่างและคนงานของตนเอง จึงตระหนักดีเรื่องการจัดการเวลาทำงาน เพื่อให้ไม่กระทบกับธุรกิจของตนเอง

ซึ่งโครงสร้างเหล็กรูปพรรณรีดร้อน คือทางเลือกเดียวที่ทั้งสถาปนิกและเจ้าของบ้านเลือก ในข้อจำกัดเรื่องเวลา เพราะโครงสร้างเหล็กรูปพรรณรีดร้อน เป็นระบบโครงสร้างที่สามารถทำงานได้รวดเร็ว กำหนดระยะเวลาได้ชัดเจน บวกกับการที่เจ้าของบ้านสามารถควบคุมช่างได้ บ้านหลังนี้จึงใช้เวลาก่อสร้างทั้งหมดเพียง 4 เดือน เท่านั้น!


Perfect Combination House

บ้านหลังนี้มีพื้นที่ประมาณ 400 ตารางเมตร รวมพื้นที่ระเบียงและทางเดินแล้ว โดยเจ้าของบ้านต้องการให้เป็นบ้านที่โปร่งสบาย สามารถอยู่อาศัยได้โดยไม่ต้องเปิดเครื่องปรับอากาศตลอดเวลา รวมถึงการใช้งานภายในบ้าน ต้องเรียบง่าย ใช้ง่าย และไม่มีความซับซ้อนของพื้นที่ ใช้งานพื้นที่ทุกส่วนอย่างคุ้มค่าที่สุด

Diagram แสดงการก่อรูปของตัวบ้าน ซึ่งเกิดจากการวางอาคารให้สอดรับกับตัวบ้านเดิม มีพื้นที่เชื่อมต่อถึงกัน และเปิดพื้นที่ให้บ้านเก่านั้นได้ใช้พื้นที่เปิดโล่งใหม่ที่เกิดขึ้นด้วย

แปลนของบ้านนั้นเรียบง่าย ทั้งการจัดพื้นที่และโครงสร้าง ตรงไปตรงมา และใช้งานได้คุ้มค่าที่สุด

ผู้ออกแบบจึงเริ่มออกแบบบ้านโดยการวิเคราะห์ตำแหน่งที่ตั้งของบ้านไปพร้อมๆกับความต้องการใช้งานพื้นที่ โดยบ้านหลังนี้เป็นส่วนต่อขยายที่มีความลงตัวเรื่องตำแหน่งที่ตั้ง กล่าวคือพื้นที่ดินทั้งหมดมีลักษณะยาวจรดซอยทั้ง 2 ซอย จึงสามารถเข้าออกบ้านหลังนี้ได้ 2 ทางด้วยกัน สถาปนิกจึงเลือกวางอาคารเป็นรูปตัวแอล (L) วางติดชิดที่ดินด้านหนึ่ง เพื่อให้เกิด Open Space (พื้นที่เปิดโล่ง) ซึ่งเป็นตำแหน่งของสระว่ายน้ำและระเบียง เป็นพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างบ้านใหม่และบ้านหลังเดิม ให้สามารถใช้พื้นที่เปิดโล่งนี้ร่วมกันได้

โดยพื้นที่ชั้นล่างนั้นจะประกอบด้วยห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหารที่เป็นส่วนหลักของบ้าน ตั้งอยู่ติดกับระเบียงและสระว่ายน้ำ พร้อมทั้งครัว ห้องทำงาน และที่จอดรถ ที่ชั้นนี้ตัวบ้านถูกแยกออกเป็น 2 ส่วน เว้นช่องว่างระหว่างห้องให้เกิดการถ่ายเทของอากาศที่ดี ส่วนที่ชั้น 2 เป็นพื้นที่ส่วนตัวทั้งหมด ประกอบด้วยห้องนอน 3 ห้อง ซึ่งตอนนี้ หนึ่งห้องถูกทำเป็นห้องเอนกประสงค์ก่อน แต่สามารถปรับเปลี่ยนเป็นห้องนอนให้ลูกๆได้ในอนาคต

ทั้งขนาดพื้นที่และการจัดวางของบ้าน มีความลงตัวและกระชับ (Compact) ไม่มีพื้นที่ส่วนใดที่ไม่ถูกใช้ประโยชน์ ในหนึ่งการใช้งาน จะมีอีกฟังก์ชั่นแฝงมาด้วยเสมอ เช่น ส่วนของตู้เก็บของที่วิ่งยาว ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของบ้าน นอกจากจะเป็นที่เก็บของขนาดใหญ่แล้ว ตู้เหล่านี้ยังมีหน้าที่เป็นฉนวนกันความร้อน จากแสงแดดช่วงบ่ายได้เป็นอย่างดีอีกด้วย


Tropical Steel House

บ้านหลังนี้ยังถูกออกแบบมาให้สอดรับกับสภาพอากาศแบบร้อนชื้นของไทย โดยการวางตัวอาคารและออกแบบช่องเปิด รวมถึงผนังทึบที่สอดคล้องกัน โดยผนังด้านที่หันไปทางด้านทิศใต้และทิศตะวันตก จะเป็นผนังทึบ ผนวกกับเป็นด้านที่วางชิดกับขอบเขตที่ดิน จึงไม่อนุญาตให้ทำเป็นช่องเปิดได้ แสงแดดที่มากระทบจะถูกกั้นด้วยตู้เก็บของที่วิ่งยาวตลอดแนวอีกชั้น ทำให้บ้านไม่ร้อน อีกทั้งตัวบ้านยังมีการเปิดช่องอากาศให้สามารถระบายความร้อนได้เป็นอย่างดี เช่นในส่วนของห้องนั่งเล่นชั้นล่าง สถาปนิกออกแบบช่องเปิดที่ด้านหน้าและหลังของบ้าน ติดบานมุ้งลวด เท่านี้ก็สามารถเปิดหน้าต่างให้อากาศร้อนระบายออกไปได้ทั้งวันแล้ว

ส่วนที่ชั้น 2 เป็นห้องนอนที่เปิดช่องเปิดทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นทิศที่เหมาะสมเพราะแสงแดดไม่แรง แต่มีเรื่องของมุมมองที่เพื่อนบ้านนั้นสามารถมองเข้ามาได้ ทำให้ความเป็นส่วนตัวอาจลดลงได้ สถาปนิกจึงใช้ไม้เก่าของเจ้าของบ้านมาทำเป็นระแนงแนวนอน โดยบานทั้งหมดสามารถเลื่อนเปิด-ปิดได้ตามต้องการ


Steel in Trend

บ้านเหล็ก 2 ชั้นนี้ จึงเปรียบเสมือนงานศิลปะที่อยู่อาศัยได้ โดยมีฟังก์ชั่นการใช้งานที่เหมาะสมลงตัว “ส่วนตัวชอบงานเหล็กรูปพรรณรีดร้อนอยู่แล้ว แต่ลูกค้าบางคนนั้นยังคงติดอยู่กับความคิดเดิมคือ คิดว่าบ้านเหล็กร้อนบ้าง สั่นไหวบ้าง ไม่มั่นคงบ้าง ซึ่งทั้งหมดเป็นความเชื่อเก่าๆ บางเรื่องไม่เป็นความจริงเสียด้วยซ้ำ

เราในแง่ของสถาปนิก คิดว่าเหล็กรูปพรรณรีดร้อน เป็นวัสดุที่ทันสมัยมานานแล้ว เป็นเทรนด์ที่คนทั่วโลกใช้มาก่อนเรานานมาก และเราก็ทำงานเหล็กมามาก จึงรู้ว่าจริงๆงานเหล็กรูปพรรณรีดร้อนที่ดีเป็นอย่างไร และเราก็พยายามบอกลูกค้าหลายคน ลองให้โอกาสกับวัสดุเหล็กรูปพรรณรีดร้อนบ้าง แล้วจะรู้ว่าเป็นวัสดุที่ดีและน่าสนใจแค่ไหน” คุณสุรชัย แห่ง OFFICE AT พูดถึงเหล็กรูปพรรณรีดร้อนในการออกแบบ

ตัวอย่างการใช้เหล็กรูปพรรณรีดร้อนที่น่าสนใจและคุ้มค่าอีกจุดของบ้านหลังนี้ คือการใช้เหล็กรูปพรรณรีดร้อนในการพาดโครงสร้างช่วงกว้าง บ้านหลังนี้ใช้กับที่จอดรถซึ่งมีความกว้างถึง 9 เมตร โดยไม่มีเสาขั้นกลาง ทำให้ได้ที่จอดรถที่สามารถจอดรถได้สะดวก ยิ่งปูหลังคาด้วยวัสดุที่มีน้ำหนักเบาอย่างแผ่นซีเมนต์บอร์ดด้วยแล้ว ก็ทำให้สามารถออกแบบโครงสร้างให้มีขนาดเล็กลงได้อีก ดูเบาลอย และใช้งานในการถอยรถจอดสะดวกที่สุด

เพราะหากเทียบกับโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก การจะได้ช่วงพาดที่ยาวขนาดนี้ จะต้องมีหน้าคานที่หนาประมาณ 70 – 80 เซนติเมตร จึงจะมีความแข็งแรง เทียบกับโครงสร้างเหล็กรูปพรรณรีดร้อนที่สามารถใช้ความหนาโครงสร้างที่ประมาณ 25 – 30 เซนติเมตร ก็มีความแข็งแรงและสวยงามลงตัวแล้ว

สรุปเรื่อง Trend กับการใช้เหล็กอาจกล่าวได้ว่า โครงสร้างเหล็กรูปพรรณรีดร้อน เป็นการออกแบบที่เรียบง่าย บาง เบา สอดรับกับการออกแบบสิ่งของต่างๆ ที่เราใช้งานกันประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ล้วนมีความน้อยแต่มาก นั่นคือหัวใจสำคัญที่ทำให้เหล็กรูปพรรณรีดร้อน เป็นวัสดุที่เข้ากับยุคสมัยอย่างที่ปฏิเสธไม่ได้


Steel in Detail

คุณสุรชัย เอกภพโยธิน และคุณจุฑาทิพย์ เตชะจำเริญ แห่ง OFFICE AT Co., Ltd.

สำหรับงานที่ใช้เหล็กรูปพรรณรีดร้อน โดยเฉพาะ อย่างยิ่งกับอาคารที่ใช้เหล็กเป็นโครงสร้างหลักทั้งหมดเช่นบ้านหลังนี้ สิ่งสำคัญคือการออกแบบและทำแบบก่อสร้างที่ละเอียดเพียงพอ เพราะแบบที่ละเอียดจะช่วยลดความผิดพลาดในการก่อสร้างได้ อีกทั้งยังได้งานที่มีคุณภาพ เสร็จทันเวลาอีกด้วย

ขอขอบคุณ

เจ้าของ –  คุณพงษ์ศักดิ์ ก่อเกียรติสันติ

สถาปนิก – OFFICE AT Co., Ltd. คุณสุรชัย เอกภพโยธิน และคุณจุฑาทิพย์ เตชะจำเริญ