ร้านดิบแต่อบอุ่น ด้วยสไตล์ลอฟท์ Fattory by Park2bar

ร้านอาหารนั่งชิวที่ตกแต่งแบบ Industrial Loft มีแนวคิดเก๋ๆ ด้วยการใช้วัสดุตกแต่งดิบเท่ และตัวร้านรูปทรงสะดุดตาทรงจั่วจากโครงสร้างเหล็ก H-Beam ให้ความรู้สึกเหมือนได้กลับมากินข้าวที่บ้านอีกครั้ง …และใครจะคิดว่าซอยสุขุมวิท 66 ที่อยู่บนถนนสุขุมวิทที่เกือบจะออกบางนา จะมีร้านอาหารเท่ๆ อย่างร้าน Fattory ซ่อนตัวอยู่ในซอยนี้ บรรยากาศเงียบสงบ แต่โดดเด่นด้วยโครงสร้างเหล็กรูปบ้านทรงจั่ว มีกิมมิกเก๋ๆ และตกแต่งแบบ Industrial Loft Style


ก่อนจะมาเป็น Fattory 

จุดเริ่มต้นมาจาก คุณโบว์ หนึ่งในหุ้นส่วนร้าน ต้องการทำอะไรสักอย่างกับที่ดินบริเวณนี้ ซึ่งเดิมเป็นธุรกิจบ้านเช่าของครอบครัว แต่เมื่อคนเช่าย้ายออกไป จึงกลายเป็นที่ดินเปล่า เลยเกิดคำถามว่าแล้วเราจะใช้ประโยชน์จากที่ดินตรงนี้ยังไงดี ? ประกอบกับคุณโบว์เป็นคนชอบทานอาหาร มีโอกาสได้ลองลิ้มชิมรสอาหารมามากมายและเคยมีประสบการณ์ขายอาหารกับเพื่อนมาก่อน เลยคิดว่าเปิดร้านอาหารนี่แหละเหมาะกับเราสุด !

ชื่อนี้ได้มาจากความที่ตนเองและเพื่อนๆ ชอบทานอาหาร เลยคิดว่าเรามาสร้างโรงงานผลิตของอร่อยกันดีกว่า จึงนำคำว่า Fat มารวมกับ Factory เกิดเป็นชื่อร้าน Fattory

ถ้าเปรียบร้านเป็นคน คุณโบเจ้าของร้านบอกกับเราว่า อยากให้ร้านแทนดั่งผู้หญิงเท่ๆ แนวๆ แต่มีเสน่ห์ปลายจวัก ทำให้กลายเป็นคาแรคเตอร์เฉพาะตัวที่น่าค้นหาแห่งนี้

เมื่อมองจากทางด้านหน้าร้านจะเห็นโครงสร้างเป็นหลังคาจั่วขนาดใหญ่ ซึ่งเดิมเป็นโครงโรงรถ แต่ปรับหลังคาใหม่ให้จั่วมีความแหลมชันมากขึ้น แลดูเป็นบ้านมากขึ้น โดยการตกแต่งทั้งหมดได้คุณพรชัย ชั่งจินดา เป็นคนช่วยออกแบบ โดยตั้งโจทย์ว่าอยากได้สไตล์ที่ไม่เหมือนกับร้าน The 66 Cottage คาเฟ่วินเทจของญาติคุณโบว์ที่ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้าม บวกกับความชอบส่วนตัวที่ชอบสไตล์ดิบๆ แต่ก็ยังอยากให้ดูซอฟต์ๆ เพราะหุ้นส่วนร้านเป็นผู้หญิงกันหมด จึงได้ข้อสรุปว่าตกแต่งในสไตล์ Industrial Loft แต่เบรคความเท่ด้วยสีสันสดใสน่ารักสไตล์ผู้หญิง


โรงรถที่ไม่มีรถ

พอเดินเข้ามาในร้านก็สัมผัสได้ถึงความเท่ในทันที เพราะโดดเด่นด้วยวัสดุหลากหลายชนิดทั้งอิฐ เหล็กรูปพรรณ รีดร้อน H-Beam กระจก ไม้ กระเบื้องลายโราณ และยังสร้างกิมมิกให้ร้านด้วยของตกแต่งสไตล์ American Garage อย่างป้ายทะเบียนรถ ป้ายไฟต่างๆ ซึ่งเป็นของสะสมของสามีคุณโบว์ เดิมทีตัวร้านมี 2 ชั้น แต่เพิ่มพื้นที่ส่วนเอ้าท์ดอร์เข้าไปเพื่อรองรับลูกค้าได้มากขึ้น

ด้วยแนวคิดทั้งหมด จึงได้ข้อสรุปในการเลือกใช้วัสดุที่จะนำมาทำเป็นโครงสร้างนั้นต้องเป็นเหล็กรูปพรรณรีดร้อน H-Beam เท่านั้น เพราะมีรูปแบบที่ดิบ เท่ และยังสามารถก่อสร้างได้อย่างรวดเร็ว เหมาะกับการใช้งานกับร้านอาหารมากๆ สถาปนิกจึงออกแบบรูปทรงอาคารเป็นกล่องหลังคาจั่ว 2 ชั้น ที่มีโครงสร้างหลักเป็นเหล็กรูปพรรณรีดร้อน H-Beam ทั้งหมด ใช้พื้นคอนกรีตสำเร็จรูปในการปูพื้น ยิ่งทำให้การก่อสร้างเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีคุณภาพ

หน้าร้านเป็นหน้าต่างบานใหญ่ ทำให้ร้านดูโปร่ง หลังคาเจาะช่องแสงติดกระจกใสแต่ไม่กว้างมาก เพื่อรับแสงธรรมชาติในตอนกลางวัน แต่ไม่ห้อยโคมไฟเหมือนร้านอื่นๆทั่วไป เลือกเป็นการติดไฟ LED ที่ขื่อทรงสามเหลี่ยมคว่ำเข้าไปแทน ซึ่งขื่อนี้ก็เป็นหนึ่งในหลักฮวงจุ้ยที่เจ้าของร้านเชื่อ และยังสามารถใช้ประโยชน์เป็นของตกแต่งร้านได้อีกด้วย

ในสไตล์ Industrial Loft สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคืออิฐบล้อคแต่จะใช้อิฐธรรมดาก้อนเล็กๆก็ดูดาษดื่นไม่น่าตื่นเต้นเลยจึงได้สั่งทำเป็นอิฐก้อนใหญ่เพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้กับร้าน เมื่อมาตกแต่งคู่กับเหล็กรูปพรรณรีดร้อน H-Beam ก็ยิ่งเสริมความเป็น Industrial Loft ได้เป็นอย่างดี

เฟอร์นิเจอร์บางอย่างในร้านได้มาจากของเหลือใช้ในบ้านเก่า เอามารีไซเคิลให้เกิดประโยชน์ อย่างโต๊ะทานข้าว ท้อปโต๊ะได้มาจากบานประตูไม้เซาะร่อง ขาโต๊ะและม้านั่งติดผนัง ได้มาจากเศษไม้เอามาต่อๆกัน ทาสีและขัดสีให้ดูวินเทจ เพิ่มของตกแต่งอย่างหมอน และเก้าอี้ Tolix สีสันสดใส ปูกระเบื้องลายชิโนโปรตุกีสสีเทา ทำให้ร้านดูซอฟต์ขึ้น

ชั้น 2 ด้านข้างร้าน ถึงแม้ตอนนี้จะยังไม่ได้เปิดให้บริการลูกค้า เพราะห่วงเรื่องความปลอดภัยในการขึ้นลงบันไดที่ยังไม่มีราวกันตก แต่ในอนาคตจะมีการเปิดให้ใช้บริการในโซนนี้อย่างแน่นอน


กลับบ้านมากินข้าวกันเถอะ

อย่างที่กล่าวข้างต้น คุณโบว์เน้นอาหารรสชาติอร่อย จึงทำเป็นอาหารไทยฟิวชั่น ที่ผสมผสานความอร่อยจากหลายรสชาติ โดยเลือกเมนูอาหารไทยโบราณเป็นหลัก เพราะให้ความรู้สึกว่าหาทานได้ยากในปัจจุบัน อยากได้รสชาตินี้ต้องกลับมาทานที่บ้านเท่านั้น แต่แต่งจานให้สวย ทำให้อาหารดูหน้าตาดี สามารถถ่ายรูปอัพลงโซเชี่ยลอวดเพื่อนๆได้

ส่วนใครที่อยากไปลองชิมอาหารไทยฟิวชั่นสไตล์โฮมเมดก็เดินทางไปได้ง่ายๆ ลง BTS อุดมสุข ออกทางออก 2 เห็นป้ายซอยสุขุมวิท 66 ก็เดินเข้าไปได้เลยหรือถ้าขับรถมาก็มีที่จอดรถบริการ

ขอขอบคุณ Fattory by park2bar

สถาปนิก คุณพรชัย ชั่งจินดา