PK House บ้านที่ลงตัวทั้งการใช้งานและความงาม

บ้านหลังนี้ตั้งอยู่ในหมู่บ้านจัดสรรแถบชานเมือง แต่เดิมพื้นที่ของบ้านนี้เป็นที่ดินเปล่า เจ้าของได้เข้ามาซื้อที่ดินนี้ไว้ โดยความตั้งใจของการสร้างบ้านหลังนี้ คือต้องการบ้านที่เรียบง่าย อยู่สบาย และบ้านต้องเข้ากับลักษณะการใช้ชีวิตของเจ้าของได้เป็นอย่างดี ซึ่งเจ้าของบ้านเป็นคนแอคทีฟ ชอบเล่นกีฬา สเปซในบ้านจึงจะโล่ง โปร่ง และสบาย เพื่อให้แสงธรรมชาติเข้าถึงในบ้านและมีการระบายอากาศที่ดี เหมาะสำหรับการทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายภายในบ้าน

อีกหนึ่งแนวคิดของบ้านหลังนี้คือ เจ้าของบ้านอยากได้บ้านที่สามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตร่วมกับลูกเล็กทั้ง 3 คนได้ โดยมีทั้งพื้นที่ส่วนตัว และพื้นที่ semi public ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และไม่ใช่แค่นั้น เจ้าของยังมองไปถึงในอนาคต เมื่อลูกๆโตขึ้นบ้านก็ต้องสามารถรองรับการใช้งานที่แปรเปลี่ยนไปตามวัยของเด็กๆได้อีกด้วย บ้านหลังนี้ออกแบบโดย Junsekino Architect and Design เป็นบ้านสองชั้น ที่มีพื้นที่ภายในบ้าน 400 ตารางเมตร


แรงบันดาลใจของ PK House

แนวคิดของการออกแบบจะโฟกัสไปที่การพัฒนาของเด็กให้เป็นไปตามวัย และพัฒนาความสัมพันธ์ของครอบครัวให้แน่นแฟ้นมากขึ้น โดยคุณจูน เซคิโน จาก Junsekino Architect and Design สถาปนิกผู้ออกแบบได้บอกกับเราว่า “P.K. House คือองค์ประกอบเล็กๆ ที่สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคนในบ้าน ผ่านการออกแบบสเปซและฟังก์ชัน ที่สร้างสรรค์มาได้อย่างลงตัว โดยออกแบบให้มีพื้นที่ ที่เป็นส่วนตัวผสมกับพื้นที่เปิด ซึ่งการเปิดหรือปิดแต่ละเสปซนั้นจะออกแบบตามฟังก์ชันการใช้งานของแต่ละห้อง เช่นห้องนอนของลูกทั้งสามคน จะมีกระจกใสที่พ่อแม่สามารถมองเห็นได้ว่าลูกกำลังทำอะไรอยู่ หรือห้องอเนกประสงค์ชั้น 2 สามารถมองลงมาเห็นบริเวณห้องรับแขกที่ชั้นล่างได้ คล้ายกับว่าเมื่อผู้พักอาศัยใช้งานอยู่ในห้องใดห้องหนึ่ง ก็ยังสามารถมองเห็นอีกห้องหรือส่วนอื่นๆในบ้านได้นั่นเอง การออกแบบเช่นนี้ทำให้พ่อแม่ได้เห็นลูกอยู่ในสายตาตลอด แต่ในขณะเดียวกันเด็กๆก็รู้สึกว่าตัวเองมีพื้นที่ส่วนตัว และไม่อึดอัดกับการใช้ชีวิตในบ้านหลังนี้”

บ้านตั้งอยู่ในหมู่บ้านจัดสรร ซึ่งมีความเป็นส่วนตัวค่อนข้างน้อย สถาปนิกจึงออกแบบ grill ซึ่งเปรียบเสมือนผิวชั้นนอกสุดของบ้าน เพื่อช่วยพรางตาให้บ้านมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น นอกจากนั้นยังสามารถบังแดดและระบายอากาศได้อีกด้วย เพราะ grill ไม่ได้ปิดทึบ แต่มีช่องเล็กๆซึ่งลมพัดผ่านได้ หน้าที่ของ grill จึงเหมือนที่ควบคุมปริมาณแสงและลมให้เข้าบ้านได้อย่างเหมาะสมกับการใช้ชีวิตนั่นเอง และในอนาคตส่วนของ grill นี้ สามารถปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียวของบ้านได้อีกด้วย เช่นนำกระถางต้นไม้มาแขวนไว้กับ grill ในแต่ละช่อง หรือปลูกไม้เลื้อยไต่ขึ้นไปตามผนัง เพื่อความสวยงามและความร่มรื่นของบ้านมากขึ้น


บ้านที่เป็นมากกว่าที่พักอาศัย

แผนผังของบ้านคล้ายกับกล่องสี่เหลี่ยมที่ถูกคว้านตรงกลางออก โดยมี grill ที่เปรียบเสมือนกำแพงขนาดใหญ่อยู่รอบบ้าน และมีหลังคาสองชั้น เพื่อป้องกันความร้อนจากไอแดดในเวลากลางวัน

เมื่อมองจากภายนอก จะรู้สึกได้ว่าบ้านมีขนาดใหญ่ เป็นก้อน mass สี่เหลี่ยมก้อนใหญ่ก้อนหนึ่ง สถาปนิกจึงแก้ปัญหาด้วยการใช้ grill มาคลุมบ้านเสมือนผิวอีกชั้นนึง ซึ่งช่วยละลายความเป็น mass ลง และ grill สามารถเปลี่ยนแปลงไปตามแต่ละช่วงเวลาในแต่ละวันได้ เช่นตอนที่มีแสงสว่าง แผงเหล็กนี้จะทำหน้าที่เหมือนแผงบังสายตาจากบุคคลภายนอก แต่ผู้ใช้งานในบ้านยังเห็นข้างนอกบ้านได้อย่างปกติ

นอกจากนั้นยังมีสระว่ายน้ำที่ยาวไปจนสุดหน้าห้องนอนของบริเวณชั้นล่าง ซึ่งสระน้ำช่วยให้บ้านมีบรรยากาศที่ดูเคลื่อนไหว ไม่หยุดนิ่ง และเพิ่มความร่มรื่นให้พื้นที่ในบ้านได้เป็นอย่างดี จะเห็นได้ว่าบ้านหลังนี้สามารถสัมผัสได้ถึง ดิน น้ำ ลม ไฟ ได้ครบทุกธาตุ ซึ่งธาตุทั้ง 4 อย่างนี้ สามารถสร้างสมดุลและความสงบแก่ผู้อยู่อาศัยได้

เมื่อเข้ามาภายในบ้าน จะพบกับห้องนั่งเล่นขนาดใหญ่เป็น double space เชื่อมต่อเสปซด้วยกันระหว่างชั้น 1 และ ชั้น 2 ข้างหน้าห้องนั่งเล่นเป็นโซฟาขนาดใหญ่ที่คุณพ่อและคุณแม่  จะพาลูกๆมานั่งดูทีวีหรือทำกิจกรรมเพื่อใช้เวลาร่วมกัน ภายในห้องนั่งเล่นจะเป็น open plan ที่เชื่อมต่อไปยังเค้าน์เตอร์สำหรับทำอาหารและโต๊ะทานข้าวได้โดยตรง

เมื่อเดินขึ้นข้างบนชั้น 2 ของบ้าน จะพบกับห้องอเนกประสงค์ขนาดใหญ่อยู่ในส่วนด้านหน้าบ้าน เชื่อมด้วยทางเดินตรงยาวไปสู่ห้องนอนทั้งสามห้อง มีmaster bedroom 1 ห้อง ที่มีห้องแต่งตัว จะเห็นได้ว่าแผนผังของชั้น 2 นี้ ส่วนของ semi public จะอยู่บริเวณหน้าบ้าน และส่วน private area จะอยู่ทางด้านหลังบ้าน ซึ่งการวางผังเช่นนี้สามารถลดเสียงดังรบกวนจากภายนอก และเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับห้องนอนได้

ในปัจจุบันห้องอเนกประสงค์มีไว้สำหรับเป็นห้องออกกำลังกายให้คุณแม่ แต่ในอนาคตห้องนี้สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานไปได้หลายรูปแบบ เช่นสามารถเพิ่มเป็นห้องนอนของลูกได้หนึ่งห้อง หรือเปลี่ยนฟังก์ชันให้เป็นห้องนั่งเล่นแทน หรือแม้กระทั่งสามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานให้กลายเป็นออฟฟิศในอนาคต


ต่างวัสดุ ต่างความหมาย

ไม้ให้ความรู้สึกที่ซอฟท์และนุ่มนวล ปูนให้ความรู้สึกที่เรียบง่ายและขาวสะอาด กระจกให้ความรู้สึกโล่งและโปร่ง ส่วนเหล็กให้ความรู้สึกที่ดุดันและแข็งแกร่ง เมื่อใช้วัสดุที่แตกต่างกันเช่นนี้แล้ว ภายในบ้านย่อมมีบรรยากาศ และให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันในการใช้งานเช่นกัน


โครงสร้างเหล็กแห่งความลงตัว

บ้านหลังนี้ เป็นบ้านครึ่งปูนครึ่งเหล็ก โดยสถาปนิกเลือกใช้งานปูนในส่วนที่เป็นโครงสร้างหลัก เพราะด้วยเรื่องของการควบคุมงบประมาณการก่อสร้าง และเลือกใช้โครงสร้างเหล็กในส่วนของโครงสร้างที่ต่อยื่น หรือตั้งตรงแยกออกมาจากตัวบ้าน เช่นส่วนของพื้นระเบียงที่ลอยอยู่เหนือสระว่ายน้ำ โครงสร้างเสาและคานเหล็กที่เป็นตัวยึดแผงระแนงเหล็กเอาไว้ หรือจะเป็นส่วนโครงสร้างหลังคา และส่วนยื่นต่างๆของพื้น เพราะเหล็กนั้นมีรูปแบบที่ดูบางและเบา ทำให้ตัวบ้านดูทันสมัยและลงตัวมากขึ้น

การออกแบบบ้านที่ดีย่อมทำให้ชีวิตของคนในบ้านดีขึ้นได้ ซึ่งเหมือนกับ P.K. House หลังนี้  ที่บ้านกลายเป็นส่วนประกอบเล็กๆ ที่เชื่อมโยงความรู้สึก ความผูกพันของคนในครอบครัว ผ่านทางการออกแบบสถาปัตยกรรม และบ้านหลังนี้จึงเปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของการใช้ชีวิต เพราะเมื่อเราเติบโตขึ้น บ้านก็เสมือนโตขึ้นไปพร้อมกับเรานั่นเอง

ขอขอบคุณ

เจ้าของบ้าน – คุณชมพูนุช ทองบุญรอด และคุณอภิยศ เฮงประเสริฐ

สถาปนิก – คุณจูน เซคิโน บริษัท Junsekino architect and design