Nanda Heritage Hotel

Architect : CHAT architects และ b/A/R

Location : ถ.วิสุทธิกษัตริย์, เขตพระนคร, กรุงเทพมหานคร

Photo : Ketsiree Wongwan, Nacasa & Partners Inc., Chatpong Chuenrudeemol, Barry Michael Broman

ในเมืองที่มีอาคารเก่าถูกทุบทิ้งและสร้างขึ้นใหม่ทุกวัน เราจะมีวิธีการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างไรบ้าง? …เราขอปล่อยทิ้งปริศนาชวนสงสัยเอาไว้ที่บทเริ่ม แล้วปล่อยให้คุณมาลองหาคำตอบ ที่หลบซ่อนในเนื้อหาบทความต่อจากนี้กัน…

Photo : Ketsiree Wongwan

บนถนนวิสุทธิ์กษัตริย์มุ่งหน้าขึ้นสะพานพระราม 8 เป็นพื้นที่รอยต่อระหว่างย่านเมืองเก่าและเมืองใหม่ มีโรงแรมบูติกขนาดกลางตั้งหันหน้าสู่ถนนที่มีการสัญจรหนาแน่น มีความวุ่นวายของรถและผู้คน แต่ทางด้านหลังของโรงแรมนี้ กลับเป็นชุมชนเก่าร้อยปี ที่ยังคงไว้ซึ่งวิถีชีวิตแบบในอดีต วิถีแบบชาวบ้านที่ยังคงเสน่ห์การดำเนินชีวิตดั้งเดิมไว้ ตรงเส้นรอยต่อระหว่างสังคมเก่า – ใหม่นั้นเอง คือที่ตั้งของโรงแรม  Nanda Heritage Hotel


จุดปะทะระหว่างโลกเก่ากับโลกใหม่

โปรเจคโรงแรม Nanda Heritage Hotel เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 2009 โดยเจ้าของโครงการได้เข้ามาติดต่อคุณฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล (ภายหลังแยกตัวมาก่อตั้ง CHAT architects ) และคุณวรุตม์ สมะลาภา แห่งสำนักงานออกแบบ Bangkok Architectural Research (กรุงเทพมหานคร) หรือ b/A/R เพราะต้องการสร้างธุรกิจบูติกโฮเต็ลบนที่ดินมรดกครอบครัวแถววิสุทธิกษัตริย์นี้ เมื่อรับฟังความต้องการแล้ว สถาปนิกก็เริ่มตั้งคำถามก่อนว่า จริงๆแล้วคำว่า “บูติกโฮเต็ล”  คืออะไร ? โรงแรมที่ดีคงไม่ได้มีแค่การออกแบบสวยงาม แต่น่าจะต้องมีบุคลิกที่เป็นเอกลักษณ์ โดยในที่นี้ สถาปนิกเลือกใช้บริบท หรือ สภาพแวดล้อมมาสร้างเสน่ห์เฉพาะให้โรงแรม ซึ่งจุดที่น่าสนใจคือ ตำแหน่งที่ตั้งอันเป็นสมรภูมิการปะทะกันของ 2 วัฒนธรรมเก่าและใหม่ ถนนที่มีรถใช้ความเร็ว ตึกทาวน์เฮาส์สูงใหญ่ทันสมัย กับสภาพสังคมในตรอกชุมชนปรินายกเก่าแก่ ที่มีอายุนับ 100 ปี และเมื่อคุณฉัตรพงษ์ศึกษาลึกลงไป ถึงวิถีชีวิตชาวบ้านด้านหลังโครงการ ก็ยิ่งเจอรายละเอียดความน่ารักแบบบ้านๆ ที่ไม่จำเป็นต้องเป็นระเบียบเรียบร้อย หรือสมบูรณ์แบบใดๆ  แต่อบอวลไปด้วยวัฒนธรรมไทยท้องถิ่นของจริง ที่ชาวต่างชาติอยากจะมาจับต้อง ลองชิม สัมผัสประสบการณ์ที่หาซื้อไม่ได้ในบ้านเมืองของพวกเขา

Photo : Nacasa & Partners Inc.
Photo : Chatpong Chuenrudeemol

ที่นี่นำเสนอการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทยท้องถิ่น และวิถีชีวิตคนจริงๆ ที่อาศัยอยู่ในชุมชนเก่าข้างเคียง และยังอยู่ใกล้จากย่านข้าวสาร ภูเขาทอง ถนนพระอาทิตย์ที่ชาวต่างชาติรู้จักกันเป็นอย่างดีด้วย


Concept Design

สถาปนิกทราบดีว่าบ้านเรือนรอบข้างมีความน่าสนใจอย่างไร และคิดว่าเป็นจุดที่นำมาแปลงเป็นการออกแบบได้ โรงแรมนี้จึงเป็นเหมือนจุดกึ่งกลางที่ทำตัวคล้ายฟองน้ำ ปรับเปลี่ยนรูปแบบอาคารไปตามตำแหน่งที่ตั้งนั้นๆ ให้รู้สึกกลมกลืนมากที่สุด โดยหากสังเกตอาคารส่วนที่ติดฝั่งถนนใหญ่ เราจะเห็นอาคารสีเทาเข้ม ในรูปแบบที่ดูทันสมัยสูง 6 ชั้น เพื่อความมีตัวตน ไม่ถูกถนนใหญ่และการจราจรคับคั่งกลบเสีย แต่เมื่อลองเดินเข้ามาใกล้ ๆ ประตูทางเข้ามากขึ้น เราก็จะเริ่มเห็นรายละเอียดความอ่อนโยน จากตัวแทนของสถาปัตยกรรมชุมชนท้องถิ่น โดยการใช้โครงสร้างไม้ในโทนสีเดียวกันกับชุมชน แทรกซึมและไหลมายังพื้นที่ด้านในของโรงแรม เพราะสถาปนิกตั้งใจจะสร้างสถาปัตยกรรมชุมชนจำลองที่มาแอบฝังตัวอยู่ตรงกลางของโรงแรมแห่งนี้นั่นเอง

Photo : Chatpong Chuenrudeemol
Photo : Chatpong Chuenrudeemol

ความสูงของอาคารจะสัมพันธ์กับขนาดอาคารที่อยู่รอบข้าง สัดส่วนความสูงแต่ละชั้นจะใกล้เคียงกับขนาดความสูงบ้านเรือนชุมชนที่อยู่ด้านหลังโครงการ

เส้นทางสัญจรภายในอาคาร มีการออกแบบให้เดินอ้อมบ้าง เลี้ยวบ้าง เดินขึ้น – ลงบ้าง เพื่อพาแขกที่เข้าพักได้ไปเจอมุมต่างๆ ที่น่าประหลาดใจได้ตลอดเวลา

โรงแรมที่สร้างจากแนวความคิดการผสมผสานวัฒนธรรมเก่า – วัฒนธรรมใหม่  เพราะองค์ประกอบส่วนใหญ่ของอาคารเกิดจากการประยุกต์วัสดุและโครงสร้างสถาปัตยกรรมต่างยุคเข้ามาไว้ด้วยกัน  ตึกปูนฉาบเรียบทาสีเทาเข้มกับโครงสร้างเหล็กที่ดูโมเดิร์น ถูกตกแต่งรายละเอียดไปด้วยแผ่นไม้เก่า เฟอร์นิเจอร์โบราณ รีไซเคิลวัสดุจากบ้านไม้สักเก่าของเจ้าของโครงการเกือบทุกชิ้นเข้ามาจัดวาง เปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่ ประกอบร่างฟื้นคืนชีวิตใหม่ขึ้นอีกครั้งภายในพื้นที่ส่วนกลางของโรงแรม

Photo : Barry Michael Broman

คอร์ทยาร์ดกลางโรงแรมช่วยสร้าง  open space ได้ดี เปิดรับแสงสว่างลดความอึดอัด


Concept Structure

สถาปนิกนำเอกลักษณ์ของเรือนไม้เก่า วงกบ ประตู หน้าต่าง บันได พื้นไม้อายุนับ 100 ปี มาปะติดปะต่อเข้ากับวัสดุสมัยใหม่อย่างโครงสร้างคอนกรีตฉาบเรียบและเหล็กรูปพรรณรีดร้อนที่ช่วยเรื่องความแข็งแรง โปร่งเบา  นำเสนอออกมาในรูปแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นร่วมสมัย รักษากลิ่นไอที่สะท้อนถึงวีถีชีวิตไทยในชุมชนดั้งเดิม โครงสร้างเหล็กสีขาวทำหน้าที่เป็นโครงสร้างองค์ประกอบที่เป็นไม้ ทั้งส่วนบันได พื้น ฝ้า ไปจนถึงประตูหน้าต่าง ดูทันสมัยแปลกตา  สวยงามไม่ตกยุค

เปลือกอาคารผิวโลหะที่เป็นตัวแทนของโลกวัฒนธรรมใหม่ค่อยๆ กลืนโลกเก่าเข้ามาอยู่ภายใน

จัดวางผังห้องพักหันหลังติดกับถนนใหญ่ ปิดบังความวุ่นวายจากท้องถนน รักษาความสงบไว้ในพื้นที่ปิดล้อมภายใน

การเลือกใช้โครงสร้างเหล็กรูปพรรณรีดร้อนของโครงการ  Nanda Heritage Hotel  ไม่ได้อาศัยแค่ประโยชน์เรื่องความแข็งแรงเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นเรื่องการ “ทำให้ดูทันสมัย แต่ไม่ดูน่าเบื่อง่ายๆ” เช่นบริเวณพื้นที่ด้านในของโรงแรม ที่มีแนวคิดนำบ้านเรือนในชุมชนมาประยุกต์เข้าไป ก็ต้องการความโปร่งเบา ต้องการ “เสาลอย” (เดิมใช้ไม้จริง) ซึ่งเหล็กรูปพรรณรีดร้อน เป็นวัสดุที่ตอบโจทย์ได้ดี ติดทับด้วยไม้จริง เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมเก่า ส่วนผนังอาคารด้านบนชั้น 4 ขึ้นไปจะใช้แผ่นไซเบอร์ซีเมนต์ ทาสีเทาเข้มยึดติดอยู่กับตะแกรงเหล็กฉีก เป็นตัวแทนของทางฝั่งวัฒนธรรมใหม่

มีทั้งคอร์ทที่เป็นพื้นเดินและคอร์ทที่เป็นสระว่ายน้ำ ใช้โครงสร้างเหล็กสีขาวตกแต่งด้วยวัสดุไม้เก่าที่แสดงให้เห็นถึงความน่ารักของชุมชนที่ถูกจำลององค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมเอาไว้ด้านใน

สุดท้ายแล้วคำตอบของคำถามข้างต้นที่ว่า เราจะมีวิธีการรับมือกับอาคารเก่าอย่างไร… น่าจะปรากฏขึ้นในใจของคุณผู้อ่านทุกคนแล้ว ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง เราเชื่อว่า… การออกแบบที่ดีคงไม่ได้ขึ้นอยู่กับรูปแบบสถาปัตยกรรมเพียงอย่างเดียว เพราะเราสามารถทุบแล้วสร้างขึ้นใหม่ได้ไม่สิ้นสุด แต่สิ่งที่เราไม่สามารถประกอบขึ้นมาใหม่ได้ คือวิถีชีวิตและวัฒนธรรม

ทางออกอาจไม่ใช่การเลือกทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ในเมื่อยังมีวิธีเอาของ 2 อย่างมาเจอกัน โดยยังเก็บอารมณ์ของกันและกันได้อยู่… เราเชื่อว่ามีทางออกเสมอ