Tom House: บ้านเหล็กวิถีไทย

Project: Tom House

Architect: Backyard Architects โดย มีชัย เจริญพร

Photo: ธเนศ เปี่ยมหน้าไม้

วิถีชีวิตแบบไทยในบ้านเหล็กสไตล์โมเดิร์น  กับการเลือกใช้วัสดุอันหลากหลายทั้ง เหล็ก ไม้ คอนกรีต ให้มาอยู่ร่วมกันบนรอยต่อที่แนบสนิทกลมกลืน

เมื่อพูดถึงบ้านตามวิถีไทย เรามักจะนึกถึงภาพบ้านเรือนไทยทำด้วยไม้ หรือบ้านของคุณปู่คุณย่าเราที่ต่างจังหวัด หลายคนอาจจะคิดว่าดูล้าสมัยและคงจะไหลตามไม่ทันกระแสชีวิตของคนสมัยใหม่ แต่หากเรามองให้ลึกทะลุภาพลักษณ์ภายนอก ก็จะพบแก่นแท้ของ “วิถีแบบไทย” ที่ยังคงแตกหน่อออกใบ มีชีวิตอยู่ได้แม้ในยุคปัจจุบัน นั่นก็คือแนวคิดในการออกแบบและหัวใจหลักที่ทำให้บ้านน่าอยู่ เย็นสบาย


รวม 3 เรือนเป็น 1 เดียว

บ้าน Tom House ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม เริ่มต้นจากเจ้าของบ้านซึ่งเป็นพี่น้องกันทั้ง 5 คน อยากจะสร้างบ้านอาศัยอยู่ร่วมกัน เป็นครอบครัวขนาดใหญ่ รวมทั้งหมด 6 ครอบครัวในบ้าน 3 หลัง บนพื้นที่ 3 ไร่ สถาปนิกคือคุณ มีชัย เจริญพร จาก Backyard Architects จึงเสนอว่าควรจะรวมบ้านทั้ง 3 หลังเข้าด้วยกัน ด้วยการสร้างพื้นที่แบบไทยๆ  ที่มี “ชานบ้าน” เป็นพื้นที่ส่วนรวมให้ทุกคนมาใช้เวลาร่วม แทนการแยกกันอยู่แต่ในห้องของตัวเอง พร้อมกับสร้างเอกลักษณ์โดยเลือกใช้รูปแบบตัวบ้านที่แตกต่างไปในแต่ละหลัง

เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัวให้เจ้าของบ้าน พื้นที่ด้านหลังบ้านออกแบบเป็นสระว่ายน้ำและพื้นที่เปิดโล่ง และเป็นส่วนที่ตัวบ้านมีความสูงมากที่สุด (ไล่จากต่ำสุดที่ด้านหน้าบ้าน)


Design Concept

แม้เมื่อเรามองจากรูปด้านภายนอกจะเป็นอาคารที่ดูโมเดิร์นทันสมัย แต่ความจริงแล้วแฝงไว้ซึ่งวิถีชีวิตไทยแท้ ด้วยแนวคิดหลักในการออกแบบคือ  การประยุกต์รูปแบบการใช้พื้นที่แบบเรือนไทยให้สอดคล้องกับสถาปัตยกรรมยุคใหม่ ทั้งหลังคาทรงจั่ว ทางเดินใต้ชายคา พื้นที่ใต้ถุน และพื้นที่ส่วนสำคัญ ชานบ้าน ที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อให้อาคารแต่ละหลังเกาะเกี่ยวอยู่ร่วมกันเป็นหนึ่งเดียว เพิ่มความรักความสัมพันธ์อันดีให้เกิดขึ้นได้จากสถาปัตยกรรมและรูปแบบการใช้งาน ซึ่งพื้นที่ส่วนกลางตรงนี้ ไม่ได้เป็นแค่เพียงลานนั่งเล่น แต่เลือกใส่ฟังก์ชั่นการใช้งานอย่างห้องครัว ห้องรับประทานอาหาร สระว่ายน้ำ ให้ทุกคนในครอบครัวได้มีพื้นที่ปฎิสัมพันธ์ร่วมกัน

ออกแบบให้มีการแชร์พื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน เช่นในสวนและห้องนั่งเล่นกลาง ให้สมาชิกในบ้านได้ออกมาใช้เวลาร่วมกัน

พื้นที่ว่างและธรรมชาติสีเขียว คือสิ่งสำคัญในการออกแบบบ้านที่กระจายตัวหลายหลังอย่างบ้านหลังนี้ เมื่อสมาชิกในบ้านมีจำนวนมาก สถาปนิกจึงออกแบบสวนที่ร่มรื่นและมีมุมนั่งพักผ่อนได้ทั่วบริเวณบ้าน
ศูนย์กลางของบ้านคือห้องพระของคุณแม่เจ้าของบ้าน ที่จะมาใช้เวลาสวดมนต์ พักผ่อน นั่งสมาธิเป็นประจำ จึงจัดไว้อยู่ในตำแหน่งสูงที่สุดของบริเวณบ้าน เพื่อให้สมาชิกทุกคนสามารถมองเห็นคุณแม่ได้ง่าย

ส่วนปกปิดด้านหน้าบ้านเป็นที่ตั้งของกำแพงรั้วสูงใหญ่และพื้นงานส่วนบริการ จอดรถ เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัว
การเล่นระดับสูงต่ำของอาคารแต่ละหลังช่วยสร้างมิติให้บ้าน  มีระยะยื่นที่ต่างกัน ดูไม่น่าเบื่อ

Structure Concept

แม้บ้านหลังนี้จะมีโครงสร้างหลักเป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก แต่ก็มีการใช้เหล็กรูปพรรณรีดร้อน มาเป็นส่วนของโครงสร้างประกอบที่ช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้ตัวบ้านได้ดี เพราะเจ้าของบ้านอยากให้บ้านดูทันสมัย แม้จะมีผู้สูงอายุอยู่ในบ้าน แต่บ้านก็สามารถออกแบบให้ดูเข้ายุคสมัยได้ โดยเหล็กเข้ามามีส่วนร่วมในส่วนของโครงสร้างบันไดภายนอก โครงสร้างเพื่อรับระแนงไม้ ในด้านที่มีแสงแดดสาดส่อง ซึ่งเหล็กนั้นเหมาะสำหรับการทำดีเทลที่สวยงาม เพราะเหล็กมีการตัดขอบ เก็บขอบที่คม เรียบ ประกอบกับการออกแบบดีเทลที่ดี ทำให้บ้านเกิดความลงตัวในทุกๆจุด ได้ไม่ยาก

และเพื่อให้ได้ความรู้สึกแบบบ้านไทยจึงมีการใช้แผ่นไม้ค่อนข้างมาก ปรากฎตัวอยู่ในงานพื้น ผนัง ฝ้าเพดาน บานกรอบหน้าต่าง ไปจนถึงระแนงบังแดดด้านนอก  ช่วยสร้างบรรยากาศให้ดูอบอุ่นขึ้นด้วยสีของเหล็กดำ  น้ำตาลไม้  และขาวนวลจากผนังปูน

โทนสีขาว ดำ น้ำตาล คือโทนหลักที่ถูกนำมาใช้สร้างบรรยากาศความอบอุ่น เป็นกันเองภายในบ้าน
ป้องกันแสงแดดด้วยระแนงไม้แนวตั้ง ออกแบบรอยต่อการเข้าเดือยไม้ประกบคู่ดูคล้ายลายฝาปะกนของบ้านเรือนไทยสมัยก่อน
เพราะต้องการจะเชื่อมพื้นที่เรือนทั้ง 3 หลังที่มีระดับแตกต่างให้เป็นพื้นที่ผืนเดียวกัน บันไดปรับระดับจึงเป็นตัวช่วยที่กระจายอยู่ในหลายๆจุดของบ้าน (ที่อยู่ของคุณแม่เลือกใช้ทางลาดเพื่อความสะดวกของเก้าอี้วีลแชร์)
แม่บันไดส่วนใหญ่ในบ้านเลือกใช้โครงสร้างเหล็กรูปพรรณรีดร้อนรูปตัวเอช (H-Beam) ลูกนอนพื้นไม้  แม่บันไดเหล็กทำให้บันไดดูเบาลอย ไม่อึดอัด

สิ่งสำคัญที่สุดของงานโครงสร้างเหล็ก ที่มาเจอกับงานคอนกรีต คือการออกแบบรอยต่อให้แข็งแรงและสวยงามมากที่สุด โดยรอยต่อที่ดีเหล็กรูปพรรณรีดร้อนควรฝังเข้าไปในเนื้อคอนกรีตและเชื่อมติดกับเหล็กเสริมในคอนกรีต เพราะด้วยน้ำหนักของเหล็กเอง และวัสดุประกอบอื่นเช่นไม้ระแนง หากยึดเหล็กกับคอนกรีตเพียงที่ผิวของปูนฉาบนั้นจะไม่แข็งแรงพอ

เคล็ดลับการทำบันไดเหล็กลอยตัวด้านนอก  คือการฝังตัวเหล็กรูปพรรณรีดร้อนรูปตัวเอช  (H-Beam) เข้าไปในผนังปูนเพื่อเป็นฐานรับน้ำหนัก แล้วยื่นเหล็กออกกจากผนัง เพื่อเป็นลูกนอน การฝังเหล็กเข้าไปในโครงสร้างผนัง ช่วยป้องกันการสั่นไหวเวลาใช้งาน

จะเห็นได้ว่า บ้านหลังนี้มีวัสดุและโครงสร้างของบ้านที่ผสมผสานหลายแบบ ทั้งคอนกรีต เหล็ก ไม้ กระจก และหิน แต่ทั้งหมดดูกลมกลืนด้วยการจัดวางในตำแหน่งที่เหมาะสมของแต่ละวัสดุ ไม่ให้แข็งกระด้างหรืออ่อนหวานจนเกินไป โดยวัสดุหนึ่งที่สถาปนิกนิยมใช้คือ เหล็กเอชบีม เพราะเป็นวัสดุเดียวที่สามารถเข้าได้กับหลากหลายวัสดุ ไม่ว่าจะเป็นเหล็กกับไม้ เหล็กกับปูน เหล็กกับกระจก เพราะเหล็กเป็นโครงสร้างที่มีความเป็นกลางสูง เรียบง่าย ทาสีทับได้ แถมยังแข็งแรงทนทาน ทำงานง่ายและเร็วอีกด้วย

บนวิถีชีวิตของผู้คนที่ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา เราก็ยังคงสามารถรักษาแก่นของวิถีชีวิตแบบไทย เอาไว้ได้ในรูปลักษณ์ที่ดูร่วมสมัย หากเพียงรู้จักนำแนวคิดจากคนรุ่นก่อนมาปรับให้เข้ากับวิถีชีวิตปัจจุบัน ผ่านวัสดุ รูปแบบสมัยใหม่ เพื่อเพาะเลี้ยงคติคำสอนจากคนรุ่นก่อนให้เติบโตขึ้นได้ในผืนดินที่แปรเปลี่ยนไปอยู่เสมอ


ข้อมูลและภาพ : ธเนศ เปี่ยมหน้าไม้ และ Siam Yamato Steel (SYS)

ที่มา : dsignsomething.com