Café Amazon Concept Store สาขาวังน้อย แลนด์มาร์คคาเฟ่จากโครงสร้างเหล็ก กับการตีความใหม่ในมุมมองที่เป็นธรรมชาติ

จากความตั้งใจที่อยากจะสร้างสถาปัตยกรรมแห่งนี้ ให้เป็นอีกหนึ่งสีสันที่น่าสนใจของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา จึงจุดประกายให้ คุณเชอร์รี่-ชลลดา ตั้งมั่นคงวรกูล ได้พัฒนาพื้นที่นี้ขึ้นเป็นโครงการ Café Amazon Concept Store สาขาวังน้อย ซึ่งเป็น Café Amazon Drive-Thru แห่งแรกที่มีความสวยงามโดดเด่น ด้วยเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมโครงสร้างเหล็กที่แปลกตาและมีความสูงกว่า 20 เมตร จนเรียกได้ว่าเป็นแลนด์มาร์ค แห่งใหม่ที่คนไทยต้องไปเยือนสักครั้ง

“เราอยากสร้างความน่าสนใจด้วยการโชว์โครงสร้างเหล็กร่วมกับการใช้วัสดุจากธรรมชาติ”
.
“เริ่มต้นเลย คือเรามีพื้นที่และอยากจะพัฒนาเป็นธุรกิจ ซึ่งเรามีความเชื่อมั่นในแบรนด์อเมซอน แล้วก็ได้รับโอกาสจากทางคุณนิวัฒน์ จิตจำนงค์เมต ผู้จัดการฝ่ายบริหารธุรกิจร้านคาเฟ่อเมซอน และคุณพิมาน พูลศรี ผู้จัดการฝ่ายบริหารธุรกิจพื้นที่เชิงพาณิชย์ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ที่เลือกให้เราพัฒนาพื้นที่แปลงนี้ขึ้นเป็นอเมซอนแบบ Drive-Thru แห่งแรก และยังให้อิสระเราในการออกแบบอย่างเต็มที่” คุณเชอร์รี่-ชลลดา ตั้งมั่นคงวรกูล ผู้พัฒนาโครงการ กล่าวจึงจุดเริ่มต้นเนื่องจากที่ตั้งของโครงการอยู่ริมพหลโยธิน กม.56 ซึ่งเป็นพื้นที่ทางผ่านสำหรับการเดินทางออกสู่ต่างจังหวัด ตัวอาคารจึงถูกออกแบบให้มีความสูงเป็นพิเศษ เพื่อให้เป็นจุดสังเกตของคนที่ขับรถมองเห็นได้ง่ายจากที่ไกล ๆ

คุณชลลดา ตั้งมั่นคงวรกูล

คุณเชอร์รี่ ชลลดา ตั้งมั่นคงวรกูล

“เราอยากสร้างความน่าสนใจด้วยการโชว์โครงสร้างเหล็กร่วมกับการใช้วัสดุจากธรรมชาติ ซึ่งก็ตรงกับแนวคิดของ PTT OR ที่เน้นเรื่องการใช้วัสดุรีไซเคิล ซึ่งนอกจากจะมีเฟอร์นิเจอร์ภายในร้านที่เป็นผลิตภัณฑ์รีไซเคิลแล้ว ตัวโครงสร้างเหล็กเองก็ยังเป็นวัสดุที่รีไซเคิลได้ 100%” คุณเชอร์รี่ ชลลดา ตั้งมั่นคงวรกูล กล่าวเสริม

ซึ่งในโครงการนี้ก็ได้ทีมสถาปนิกจาก P.O.P Design Studio มารับบทบาทอย่างเต็มที่ เพื่อพัฒนาแนวทางการออกแบบให้ตอบโจทย์กับทั้งบริบทสภาพแวดล้อมและความเหมาะสมกับพื้นที่ โดยที่ยังคงแสดงถึง Brand identity ของอเมซอนออกมาได้อย่างกลมกล่อมและน่าสนใจ

ตัวตนของอาคาร ที่เกิดจากการผสมผสานทุกโจทย์อย่างลงตัว
.
“หากพูดถึงอเมซอน ภาพแรกที่หลายคนนึกถึงคืออาคารทรงจั่วแบบ Glass House ซึ่งเราได้นำเอกลักษณ์นี้มาพัฒนาต่อให้คนอยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น โดยการออกแบบอาคารทรงจั่วที่สามารถป้องกันความร้อนและระบายอากาศได้ดี เพื่อให้เข้ากับภูมิอากาศของเมืองไทยที่ต้องเจอทั้งแดดแรงและฝนตกหนัก” คุณแมว-ภราดร กู้เกียรตินันท์ สถาปนิกแห่ง P.O.P Design Studio กล่าว


ตัวอาคารหลังนี้จึงถูกดีไซน์ระนาบต่าง ๆ ให้แยกออกจากกันจนเกิดเป็น Air Gap ที่มีผนังอาคาร 2 ชั้น โดยมีชั้นแรกเป็นผนังหินหน้าจั่วซึ่งทำหน้าที่เป็นผิวกันแดด และผนังชั้นในเป็นผนังอาคารกระจก ซึ่งมีช่องว่าง (Air Gap) ให้ลมพัดผ่านได้ เพื่อถ่ายเทความร้อนให้ลดลงก่อนเข้าสู่ภายในอาคาร และออกแบบแนว skylight ด้านบนให้เปิดรับแสงธรรมชาติในทิศตะวันออก ซึ่งยังให้ความสว่างระหว่างวันแต่ไม่นำความร้อนเข้ามามากเกินไป จึงส่งผลให้อาคารประหยัดพลังงานได้มากขึ้น


“นอกจากนี้เรายังตีความแบรนด์ในมุมที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งจุดนี้มีความสอดคล้องกับมนุษย์ที่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ สีเขียวของต้นไม้จึงสื่อสารกับคนที่เข้ามาได้ง่ายที่สุด เราจึงสร้างพื้นที่ในคาเฟ่ให้มีธรรมชาติเข้ามาสอดแทรก ซึ่งมีความสอดคล้องอ่อนโยนต่อผู้ที่เข้ามาใช้ และทำให้พื้นที่ดูมีชีวิตมากขึ้น”

เมื่อการออกแบบสอดคล้องกับบริบท ความต้องการ ไลฟ์สไตล์ต่าง ๆ จึงส่งเสริมอาคารให้มีความเป็นเอกลักษณ์ โดยผสมผสานทั้งความเหมือน (brand identity) และความแตกต่าง (ตามบริบท) ได้อย่างลงตัว ทำให้สถาปัตยกรรมกลายเป็นแลนด์มาร์ค ได้โดยตัวตนของมันเอง

การออกแบบพื้นที่ เพื่อสร้างประสบการณ์รับรู้ที่แตกต่าง
.
สำหรับการออกแบบ space ในส่วนต่าง ๆ ผู้ออกแบบก็เลือกที่จะเล่นกับความรู้สึกของผู้คน ในการสร้างประสบการณ์การเข้าถึงในแต่ละพื้นที่ไว้อย่างน่าสนใจ


“ตั้งแต่เห็นอาคารจากที่ไกล ๆ คนจะเริ่มเกิดคำถาม และสนใจมากขึ้น เกิดความรู้สึกที่อยากจะเข้าไปสำรวจ ซึ่งเราจะให้คนค่อย ๆ ปรับความรู้สึก ด้วยการเดินผ่านส่วนที่เป็นธรรมชาติ ฟังเสียงน้ำตก ลัดเลาะไปตามซุ้มโค้ง และผ่านสวนในส่วน Semi-outdoor ซึ่งเชื่อมระหว่างพื้นที่ภายในและภายนอก เมื่อเข้าสู่ภายในอาคารก็จะพบกับความโปร่งโล่งของ Space และเคาน์เตอร์ยาวที่นำสายตาไปยังจุดสั่งเครื่องดื่ม ที่เหลือก็ปล่อยให้เป็นประสบการณ์ของแต่ละคน ซึ่งเราได้ซ่อนขุมทรัพย์ไว้บนภูเขา ด้วยการสร้างพื้นที่ชั้น 2 ที่ดึงดูดให้คนอยากเดินขึ้นไป มีการออกแบบซอยพื้นที่บันไดให้เป็นชานพักใหญ่ เป็นซุ้มต้นไม้ มีกรงนกตรงกลาง และโพรงที่นั่งไม้ด้านบน โดยให้คนสามารถเดินขึ้นลงโดยไม่บังคับด้วยบันไดสองฝั่ง จึงยิ่งเพิ่มความรู้สึกสนุก ให้ผู้คนอยากค้นหา”

วัสดุเหล็กกับการดีไซน์ Space โปร่งโล่ง
.
“สำหรับโครงสร้าง เราเลือกใช้เป็นเหล็ก H-beam ทั้งหมด ตั้งแต่เสา-คาน และโครงหลังคา โดยในส่วนของหลังคาได้เลือกใช้เป็น Cellular Beam ซึ่งทำให้โครงสร้างของหลังคาเบาขึ้น สามารถยื่นได้ยาว และเพิ่มความกว้างของ span ได้โดยไม่ต้องมีเสา โดยส่วนที่เป็นช่องว่างของเหล็ก Cellular Beam ยังช่วยทำให้ Space ดูโปร่ง โดยที่ไม่รู้สึกถึงความหนักหรือทึบตันของชุดหลังคาเลย” สถาปนิก กล่าวเสริม

ซึ่งในมุมมองของผู้รับเหมา โดยคุณนิติรักษ์ ดาวลอย จาก Dowloy Integration Co.,Ltd ก็ยังได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า เหล็กเข้ามาตอบโจทย์ในเรื่องของความสูงของอาคาร โดยโครงการนี้ได้เลือกใช้เป็นเหล็ก H-Beam กำลังสูง (SM520) เพื่อความแข็งแรงคงทนในระยะยาว เพราะพื้นที่โครงการอยู่ริมถนนที่ต้องรับแรงสั่นสะเทือนจากรถบรรทุกขนาดใหญ่ และเหล็ก H-Beam เกรด SM520 ยังช่วยให้การออกแบบประหยัดเหล็กได้มากขึ้นอีกด้วย

นอกจากนี้ ผู้ออกแบบยังมีการเลือกใช้วัสดุเหล็กในงานภายในอื่น ๆ ทั้งในส่วนของบันไดและพื้นชั้นลอย ซึ่งสามารถดีไซน์บันไดเหล็กที่ดูบางเบาแต่แข็งแรง และเพิ่มลูกเล่นให้เป็นชุดบันไดลอยที่ไม่แตะพื้น เพื่อเพิ่มความโปร่งภายใน รวมทั้งการนำเหล็ก Cut-beam มาดัดโค้งเพื่อทำขอบของชั้นลอยต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับภาษาของแพทเทิร์นอาร์กโค้ง (Arch) และเส้นสายโดยรวมทั้งหมดในอาคาร การเลือกใช้วัสดุเหล็กจึงเข้ามาช่วยส่งเสริมการออกแบบอย่างลงตัว

“โครงสร้างเหล็กช่วยให้เราทำงานได้เร็วกว่า ควบคุมเวลา และควบคุมต้นทุนได้”
.
“ในด้านของการทำงาน โครงสร้างเหล็กยังมาช่วยให้เราทำงานได้เร็วกว่า ควบคุมเวลา และควบคุมต้นทุนได้ ซึ่งมาช่วยในเรื่องการควบคุมงบประมาณการก่อสร้าง เมื่อเสร็จเร็วกว่าก็ยิ่งคืนทุนได้เร็วขึ้น” คุณนิติรักษ์ ดาวลอย ผู้รับเหมา

ซึ่งการเลือกใช้เหล็กจาก SYS ก็มาช่วยส่งเสริมให้งานก่อสร้างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งผู้รับเหมามองว่าคุ้มค่ากับการลงทุนในระยะยาว เพราะมั่นใจได้ในเรื่องคุณภาพของเหล็กที่ได้มาตรฐาน มีการแสดงรายละเอียดสินค้าใน Mill Certificate ทุกท่อน และมีบริการจัดส่งสินค้าที่รวดเร็ว จึงทำให้การก่อสร้างเป็นไปตามกำหนด ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในกระบวนการทำงานได้เป็นอย่างดี โดยสามารถจบงานโครงสร้างเหล็กได้ภายในระยะเวลา 3 เดือนเท่านั้น

แนวคิดการเลือกใช้วัสดุ ที่สื่อสารความเป็นเอกลักษณ์ของอเมซอน
.
ทั้งนี้ผู้ออกแบบยังมีแนวคิดในการเลือกใช้วัสดุธรรมชาติ มาดีไซน์ร่วมกับความเป็นเหล็กและกระจกของ Glass House ซึ่งจะมาช่วยลดทอนความใหญ่และความแข็งของอาคารให้ดูนุ่มนวลขึ้น ทั้งการเลือกใช้หินภูเขาสีเทามาประกอบเป็นผนังหน้าจั่ว และหลังคาไม้สนซีดาร์ ซึ่งให้สีสันตามธรรมชาติ มีความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้อาคารดูมีชีวิต รวมถึงการออกแบบร่วมกับวัสดุตกแต่งภายในต่าง ๆ การเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล ซึ่งก็มาสอดคล้องกับความเป็นแบรนด์ของอเมซอนได้อย่างเหมาะสม

ความสำเร็จด้วยยอดขายอันดับ 1* จาก 3,000 กว่าสาขา
.
“หลังโปรเจคเสร็จสมบูรณ์ ต้องบอกว่าทีมงานทุกคนมีความประทับใจ ที่ได้สร้างสิ่งดี ๆ ให้กับพื้นที่ และตัวสถาปัตยกรรมก็ออกมาสวยสมบูรณ์แบบตามที่เราได้คิดไว้ ซึ่งก็ได้รับคำชื่นชมจากทุกคนว่า Café Amazon Concept Store สาขานี้มีความแตกต่างไม่เหมือนที่อื่น ซึ่งหลังจากเรากลับมาเปิดขายได้เพียง 2 อาทิตย์ เราก็สามารถทำยอดขายขึ้นเป็นอันดับ 1 ของเมืองไทย (ข้อมูลจากเดือนกันยายน 2564) ซึ่งเป็นยอดขายที่ดีที่สุดจาก 3,000 กว่าสาขา
.
โดยเราก็ต้องขอขอบคุณโอกาสจากทางผู้บริหาร PTT OR ทั้ง 2 ท่าน คุณนิวัฒน์ จิตจำนงค์เมต ผู้จัดการฝ่ายบริหารธุรกิจร้านคาเฟ่อเมซอน และคุณพิมาน พูลศรี ผู้จัดการฝ่ายบริหารธุรกิจพื้นที่เชิงพาณิชย์ อีกครั้ง ซึ่งมีส่วนตั้งแต่จุดเริ่มต้น จนก่อเกิดเป็น Café Amazon Concept Store แบบ Drive-Thru สาขาแรก ณ พื้นที่แห่งนี้” คุณเชอร์รี่ กล่าวปิดท้าย

 

Project Information :

Location: พหลโยธิน กม.56 อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา

Architect : P.O.P Design Studio Team

Interior : P.O.P Design Studio Team

Owner : Ptt OR

Main contractor : นิติรักษ์ ดาวลอย Dowloy Integration Co.,Ltd

Interior contractor : นิติรักษ์ ดาวลอย Dowloy Integration Co.,Ltd

Civil Engineer : สุนทร เกียรติคงศักดิ์

SKS Engineers&Architects Co.,Ltd.

Electrical Engineer : ยุทธพล คงอุบล

Mechanical  Engineer : ไกรธเนศ บุญชู

Building Area:  700 sq.m.