O-NES TOWER แลนด์มาร์คสำนักงานแห่งใหม่ ในยุค New Normal ด้วยโครงสร้างเหล็ก SYS

เป็นที่ทราบกันดีสำหรับบริษัท นันทวัน จำกัด หรือ ไทยโอบายาชิ บริษัทผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมก่อสร้างสัญชาติ ไทย – ญี่ปุ่น กับชื่อเสียงการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีการก่อสร้าง และประสบการณ์ทำงานในโครงการใหญ่ๆ มาอย่างยาวนาน  ซึ่งอีกหนึ่งโครงการใหญ่ที่น่าสนใจและกำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ ณ ปัจจุบันนี้ ก็คือ โครงการก่อสร้างสำนักงานใหญ่แห่งใหม่ของไทยโอบายาชิ หรือ O-NES Tower อาคารที่ไม่เพียงแต่เป็นอาคารสำนักงานของไทยโอบายาชิ แต่ยังเป็นพื้นที่ที่มอบประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้เข้ามาใช้งาน และเป็นศูนย์รวมของธุรกิจต่างๆ บนพื้นที่ 85,000 ตารางเมตร กับความสูงอาคารถึง 29 ชั้น ด้วยคอนเซ็ปต์การออกแบบที่เน้นเรื่องของพื้นที่ใช้สอยเป็นหลัก จึงทำให้ตัวอาคารมีการออกแบบ Span กว้างเป็นพิเศษถึง 18 เมตร เพื่อเพิ่มความสะดวกและประสิทธิภาพของการใช้งานภายในตัวอาคารมากขึ้น อีกทั้งยังออกแบบสภาพแวดล้อมทั้งภายในและโดยรอบอาคารให้เป็น Green Building หรือ อาคารอนุรักษ์พลังงาน (Energy Saving) ที่สามารถช่วยลดการใช้พลังงานต่างๆ และมีบรรยากาศที่ล้อมรอบไปด้วยธรรมชาติ เพื่อสร้างบรรยากาศที่ร่มรื่น ผ่อนคลายให้กับผู้มาใช้งาน O-NES Tower อีกด้วย

Photo Credit : https://www.bangkokbiznews.com/recommended/detail/1247
Photo Credit : https://www.bangkokbiznews.com/recommended/detail/1247

ซึ่งเบื้องหลังของการเป็น Green Building ของ O-NES Tower ที่กำลังถูกก่อสร้างอยู่นั้น ทางวิศวกรจากไทยโอบายาชิ คุณอภิสิทธิ์ โรจนประดิษฐ์ (ผู้จัดการโครงการ) และ คุณจักรา พรประสิทธิ์ (รองผู้จัดการโครงการ) ได้พูดคุยให้กับทาง SYS ฟังว่า “การก่อสร้างอาคารแห่งนี้ เป็นรูปแบบโครงสร้างตามแบบฉบับของสำนักงานออฟฟิศส่วนใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น ด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงการคำนึงถึงสถานการณ์ทั้งเรื่องของแรงงานและสภาพแวดล้อมต่างๆ ด้วย” บทสนทนาการสัมภาษณ์จึงได้เริ่มต้นขึ้นด้วยประเด็นของการเลือกใช้วัสดุอย่าง “โครงสร้างเหล็กเป็นหลัก” เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นได้


เหตุใดโครงการ ONES Tower จึงเลือกใช้โครงสร้างเหล็ก? 

“ด้วยการออกแบบของอาคารมีการใช้ Span ยาวถึง 18 เมตร และมองเรื่องของอนาคตของการก่อสร้างในประเทศไทยด้วยที่ควรมีการปรับเปลี่ยนในเรื่องของการรองรับสถานการณ์ต่างๆ อย่าง แผ่นดินไหว หรือมลภาวะของฝุ่น PM2.5 รวมถึงสถานการณ์ COVID ในปัจจุบันก็เป็นประเด็นเช่นกัน เพราะทำให้ขาดแคลนแรงงาน หรือในอนาคตเราอาจมีแรงงานน้อยลงไปอีก การใช้โครงสร้างเหล็กในการก่อสร้างจึงเป็นทางเลือกที่สามารถช่วยลดคนในการทำงานได้และช่วยลดปัญหาเรื่องของฝุ่นหรือวัสดุเหลือใช้ต่างๆ ได้ด้วยเพราะนำไปรีไซเคิลได้ทั้งหมด อย่างประเทศญี่ปุ่นก็เจอปัญหาเหล่านี้มาก่อนเราและแก้ปัญหาด้วยการเลือกใช้โครงสร้างเหล็กเช่นกัน แต่จะทำตามญี่ปุ่นล้วนๆ ก็ยังไม่ได้ เพราะโครงสร้างของเขาต้องคำนึงถึงเรื่องของแผ่นดินไหวมากกว่าเรา ฝั่งของเราจึงยังมีส่วนผสมของคอนกรีตอยู่บ้าง โดยดีไซน์ให้เป็นคานโครงสร้างเหล็ก และ บิลท์อัพ บ็อกซ์คอลัมน์ วางเป็นเสาโดยรอบอาคาร”

“เสริมอีกนิดสำหรับข้อดีของโครงสร้างเหล็กก็คือ สามารถเอื้อต่องานระบบ ลดแรงสั่นสะเทือน มีความยืดหยุ่นได้ดี ในตัวอย่างจากกรณีมีการทดสอบของโครงเหล็กเมื่อเจอแรงสะเทือนของพื้นดิน กระจกจะไม่หลุดออกจากโครงสร้าง ซึ่งสามารถยืดหยุ่นและเอียงได้ถึง 10 ซม. จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประเทศญี่ปุ่นจะนิยมใช้โครงสร้างเหล็กทั้งอาคารและบ้านญี่ปุ่นด้วย”


โครงสร้างเหล็กช่วยเอื้อขั้นตอนและระยะเวลาการก่อสร้างได้อย่างไรบ้าง?

“เห็นได้อย่างชัดเจนกับตอนนี้ที่กำลังเจอปัญหาจากสถานการณ์ COVID ที่ไซต์โครงการแทบไม่ได้รับผลกระทบอะไรเลย ในขณะที่ทุกอย่างหยุดชะงัก แต่ขั้นตอนการผลิตจากโรงงานก็ยังสามารถดำเนินการได้อยู่ อีกทั้งในระหว่างที่เราอยู่ชั้นใต้ดินทั้งหมด 5 ชั้น ซึ่งตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของชั้นที่ 4 แต่ 90% ของโครงสร้างเหล็กถูกผลิตและอยู่ที่โรงงานแล้ว เมื่อฝั่งของเราเตรียมพร้อม เราก็สามารถนำโครงสร้างเหล็กที่เสร็จเรียบร้อยแล้วขนย้ายมาติดตั้งได้ในทันที รวมถึงทางโครงการก็ตั้งใจไว้ว่าต้องการให้ก่อสร้างเสร็จเร็วขึ้นมาอีกประมาณ 4 เดือน ซึ่งคิดว่าโครงสร้างเหล็กสามารถทำได้ และยังถูกควบคุมคุณภาพมาจากโรงงาน ไม่ต้องเชื่อมหน้างาน ทำให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย”


ในแง่ของ Architecture โครงสร้างเหล็กสามารถตอบโจทย์ได้อย่างไรบ้าง?

“แน่นอนว่าสถาปนิกส่วนมากไม่ชอบให้เสาดูใหญ่อยู่แล้ว ซึ่งโครงสร้างเหล็กก็สามารถทำให้รูปลักษณ์ของอาคารดูเพรียวโปร่งได้เป็นอย่างดี และตอบโจทย์งานในเรื่องของการรองรับกับระบบเทคโนโลยีได้ดีด้วย เพราะได้ออกแบบให้ส่วนของ Auto park เข้ามา และวาง Set back ตัวอาคารให้ถอยลงไปอีกเพื่อรองรับพื้นที่สีเขียวตามสไตล์ญี่ปุ่นที่ด้านหน้าจะดูโล่งเป็นพิเศษ รวมถึงถ้าสังเกต Japanese Office ก็จะพบว่าโครงสร้างภายในอาคารจะโล่งและใช้เป็นเพียงพาร์ติชันกั้นแบ่งสัดส่วนเท่านั้น เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้งาน” 


ทำไมจึงเลือกเหล็กของทาง SYS

“SYS ก็เป็นบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ และด้วยความที่เป็นบริษัทที่มาตรฐานสูงแบบญี่ปุ่น แต่อยู่ในไทย ทำให้มั่นใจที่จะใช้งาน นอกจากนี้ ยังสามารถตอบโจทย์ในเรื่องของการผลิตตามความยาวที่เราต้องการ ก็ทำให้ประหยัดเวลาในการทำงานมากขึ้น และไม่เหลือเศษจากการตัดด้วย”

สำหรับระยะเวลาการก่อสร้างของ O-NES Tower คาดว่าอีกไม่นาน เราก็จะได้พบกับแลนด์มาร์คของอาคารสำนักงานยุคใหม่ สุดล้ำสมัย ให้บริการแก่พนักงานและผู้ประกอบธุรกิจต่างๆได้เข้าไปใช้บริการกันแล้ว รวมถึงหากประเทศไทยของเราสามารถปรับเปลี่ยนเรื่องของมุมมองอุตสาหกรรมก่อสร้างในอนาคตอย่างที่วิศวกรทั้งสองท่านได้กล่าวไว้ได้ เพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคตที่กำลังจะมาถึง ก็คงจะเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อยที่จะทำให้เราพัฒนาไปได้ทันประเทศชั้นนำของโลกในอีกไม่ช้า