‘งานดีไซน์ขี้เล่น ที่ออกแบบมาให้อาคารล้อไปกับบริบท สร้างสเปซที่จูงใจให้ผู้ใช้งาน อยากเข้าไปค้นหาความสนุกที่ซุกซ่อนตัวอยู่ในเมือง’

Location : 4/5 Chaiyaphoom Road, T. Chang Moi, 50300 Chiang Mai, Thailand

Owner : คุณเฟิร์ส พัฒนวนันท์  วิริยดิลกธรรม

Architect & Interior : Full scale Studio


จะทำอย่างไรเมื่อของเก่าก็ควรค่าแก่การเก็บไว้ ในขณะที่คนและเมืองก็ยังต้องก้าวไปข้างหน้า?

แม้จะเป็นโฮสเทลเปิดใหม่ในตัวเมืองเชียงใหม่ แต่ความจริงแล้ว ม่วน เชียงใหม่ ไม่ได้เป็นละอ่อนน้อยในวงการที่พักนักเดินทางแต่อย่างใด กลับเป็นมือเก่าเก๋าเกมส์ที่เคยเป็นเกสต์เฮาส์เจ้าแรกๆของเมืองมาก่อน และเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักเดินทางชาวต่างชาติสาย Lonely Planet ด้วยซ้ำ กระทั่งเวลาผ่านไป คุณเฟิร์ส พัฒนวนันท์  วิริยดิลกธรรม ผู้สืบทอดรุ่นปัจจุบัน จึงเลือกที่จะรีโนเวทครั้งใหญ่โดยการปรับรูปแบบของกิจการให้เข้ากับยุคสมัย มีความเฟรนด์ลี่มากขึ้น ด้วยความ ‘ม่วน’ หรือความสนุกสนาน เพลิดเพลิน ที่ไม่ว่าใครที่มาเที่ยวเชียงใหม่ต่างก็รู้สึกเหมือนกันนั่นเอง โดยคุณเฟิร์สไม่ได้มองว่า ม่วน เชียงใหม่ จะเป็นแค่ที่พักเท่านั้น แต่ยังมองไปถึงการสร้างให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่สร้างสรรค์ในอนาคต


เพราะความสนุกไม่ได้มีเพียงมิติเดียว

เมื่อพูดถึง ความม่วน หรือความสนุกสนาน กับงานสถาปัตยกรรม เรากำลังเล่าถึงหัวใจหลักหรือคอนเซปต์ของงานนี้ ซึ่งเป็นการวางแนวทางในการออกแบบที่เข้าใจได้ง่ายๆ เป็นประสบการณ์ ความรู้สึกพื้นฐาน ที่คนเราคุ้นเคยกันดี แต่ในแง่งานออกแบบ มันคือการจับเอาความรู้สึกที่เป็น นามธรรม มาตีความ และออกแบบให้เป็น รูปธรรม  มันคือการสร้างสรรค์พื้นที่บางอย่างที่เอื้อให้ผู้ใช้งาน ซึ่งเป็นนักเดินทางจากทั่วโลก รู้สึก สนุก ไปกับการได้ทำกิจกรรมกับพื้นที่นี้  แล้วจะทำได้อย่างไร?

ฟูลสเกล สตูดิโอ ใช้วิธีแปลความ ม่วน มาจากบริบท จับเอาความสนุกที่เกิดจากความ เคลื่อนไหว ในบริบท ดึงเข้ามาสู่งานออกแบบ เลือกใช้วัสดุเดียวกับกำแพงเก่า เป็นสะพานเชื่อมกาลเวลา ข้ามคูเมือง ไหลมายัง facade ใหม่ของอาคาร ความบิดพลิ้วของวัสดุแสดงถึงการก้าวผ่านเวลายาวนานของอิฐบนกำแพงเก่าที่ทรุดตัวจนเกิดเป็นชั้น contour นำความเก่าตรงนั้นมาจัดระเบียบใหม่เป็นส่วนหนึ่งของดีไซน์ที่ส่งต่อความเคลื่อนไหว ไปยังวัสดุอื่นๆ จากล่างขึ้นบน จากภายนอกสู่ภายใน ลื่นไหลทะลุทะลวงไปกับสเปซอย่างมั่นคง สูบฉีดความม่วนให้แทรกซึมเข้าสู่ทุกฟังก์ชั่นการใช้งานไว้อย่างแนบเนียน พลังงานที่ถูกถ่ายเทมาเป็นทอดๆนี้เอง ที่ไม่อาจทำให้ผู้ใช้งานอยู่นิ่งเฉยได้

“อิฐมอญ” วัสดุที่ใช้เป็นโครงสร้างและตกแต่งในเวลาเดียวกัน เน้นการใช้สีเดิมของวัสดุ ส่วนบรรยากาศและความรู้สึกของผู้ใช้งานนี้เอง ที่จะกลายมาเป็นสีสันสดใหม่ให้กับสถานที่แห่งนี้อย่างไม่จำเจ

หน้ากากใหม่หรือ facade ของโฮสเทลแห่งนี้ ออกแบบครอบตัวตึกเดิมเอาไว้ โดยสถาปนิกเลือกใช้เป็นโครงสร้างเหล็กรูปพรรณรีดร้อน เพราะง่ายต่อการปรับปรุงต่อเติม อีกทั้งยังเข้ากับแนวคิดของตัวอาคาร ที่ต้องการให้มีเส้นสายที่เคลื่อนไหว บางเบา ซึ่งโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กนั้นไม่สามารถทำได้

และในแง่ของการก่อสร้าง ที่ตั้งของโฮสเทลแห่งนี้อยู่ในเขตพื้นที่ที่มีการใช้งานหนาแน่น มีอาคารอื่นล้อมรอบอยู่ การก่อสร้างโดยส่งผลกระทบต่อเพื่อนบ้านน้อยที่สุดเป็นสิ่งที่สำคัญที่สถาปนิกคิดถึง ในการปรับปรุงอาคารภายในนั้นอาจไม่ได้ส่งผลกระทบเท่าไรนัก แต่กับส่วนภายนอกอาคาร ต้องเลือกวัสดุและวิธีการก่อสร้างที่รวดเร็วและก่อมลพิษน้อยที่สุด

เหล็กรูปพรรณรีดร้อน ยังสามารถรับน้ำหนักได้มากในขณะที่ตัวมันเองมีน้ำหนักน้อย ตรงข้ามกับโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กที่ตัวของมันเองก็มีน้ำหนักมากอยู่แล้ว แถมมีขนาดใหญ่และรับน้ำหนักได้ไม่เท่าเหล็กรูปพรรณรีดร้อน ในขนาดหน้าตัด member ที่เท่ากัน… facade ของโฮสเทลแห่งนี้จึงดูเบาลอย เหมือนมีการเคลื่อนไหวได้จริง


Behind the wall

จากก้อนอิฐที่บิดเลื้อยบนแผงfacade นำเราขึ้นไปยังห้องพักบนชั้นสอง ผ่านโถงบันได ที่ด้านหนึ่งเป็นกล่องลูกบาศก์ไม้อัดวางเรียงซ้อนกันเป็นชั้นวางรองเท้าในขณะที่อีกด้านเป็นฝั่งราวบันไดที่ก่อขึ้นจากฟอร์มเดียวกันในสเกลเล็กกว่า ด้วยอิฐช่องลมที่ร้อยเรียงขึ้นไป ค่อยๆบิดหันองศาไปมาอย่างพลิ้วไหว จากพื้นขึ้นไปยังเพดาน นำเราไปพบกับห้องพักแบบเตียงสองชั้น ทั้ง 4 ห้อง มีดีที่แต่ละห้องดีไซน์ด้วยธีมที่ไม่เหมือนกันเลยแต่ต่างก็ช่วยกันเล่าเรื่องของเมือง พร้อมด้วยดีเทลเล็กๆให้เล่นได้อีก

เริ่มต้นความสนุกด้วยห้อง ม่วนท่าแพ ห้องพักสำหรับ 8 คน ติดกับระเบียงด้านหน้า นอกจากจะมองเห็นประตูท่าแพได้อย่างชัดเจนแล้ว บางส่วนยังสะท้อนเข้ามาภายในห้องพักในรูปแบบของเตียงสองชั้นที่ปีนป่ายได้เสมือนกำลังปีนกำแพงเมืองเก่า ที่หากไปปีนของจริงแล้วอาจจะโดนจับโดยไม่รู้ตัว แต่ในห้องนี้อนุญาตให้ซ่าได้เลยเต็มที่

ถัดมาเป็นห้องสำหรับผู้หญิง ห้องม่วนจ๊ะเอ๋ จุดเด่นของห้องนี้คือการใช้บานเลื่อนไม้ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก ฝาไหล หน้าต่างบานเลื่อนทำจากไม้ที่มีเอกลักษณ์แบบล้านนา ฟังก์ชั่นเดิมของมันคือใช้เลื่อนเปิดปิดบางส่วน แทนที่จะเป็นบานเปิดทั้งบาน ช่วยกันแดดและถ่ายเทอากาศได้ดี สำหรับห้องนี้ถูกนำมาใช้แบ่งความเป็นส่วนตัวแทนผ้าม่าน ที่เรามักพบเห็นตามโฮสเทลทั่วไป เหมาะกับห้องนอนผู้หญิงที่ไม่จำเป็นต้องปิดกั้นมิดชิด

กลับมายังโถงกลาง บันไดที่จะนำเราขึ้นไปยังห้องพักบนชั้นสาม จากเดิมที่มีอิฐช่องลมทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส กลายเป็นแผ่นเหล็กบางเฉียบ ที่เชื่อมติดกันในรูปฟอร์มเดิม แต่ให้ความรู้สึกที่บางเบากว่า สร้างความต่อเนื่องให้ภาพรวมเป็นไปในทางเดียวกัน

ไปม่วนกันต่อกับห้องที่ขยับขยายขนาดได้!? ม่วนตวยกั๋น ห้องนอนเตียง 2 ชั้นสำหรับ 12 คน ที่สามารถหั่นย่อยเป็นห้องเล็กๆด้วยผนังที่เลื่อนมากั้นเพื่อปรับขนาดห้อง จากหนึ่งห้องนอนรวมใหญ่ กลายเป็น 3 ห้องเล็ก ห้องละ 4 เตียง แม้จะมีลักษณะเป็นเหมือนเตียงนอนแคปซูล แต่ในพื้นที่เล็กๆนั้นจัดเต็มด้วยวิวของย่านท่าแพสำหรับทุกเตียง กลายเป็นทางเลือกใหม่สำหรับชาวแก๊งค์ที่อยากนอนรวมกันและอยากมีความเป็นส่วนตัว

มากกว่าความเป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ แลนด์มาร์คของเมือง คือวิถีชีวิตที่คอยขับเคลื่อนเรื่องราวให้ดำเนินไปรอบๆกำแพงแห่งนี้มาอย่างยาวนานนับร้อยๆปี แม้วันนี้บทบาทหน้าที่ของสิ่งปลูกสร้างนี้จะเปลี่ยนไป แต่บางอย่างยังคง ‘เคลื่อนไหว’ ไม่เคยหยุดนิ่ง

ขอขอบคุณ

Owner : คุณเฟิร์ส พัฒนวนันท์  วิริยดิลกธรรม

Architect & Interior : Full scale Studio