S112 HOUSE : LIVING WITH STYLE อยู่อย่างมีสไตล์ในบ้านเหล็ก

เจ้าของ : คุณณัฐบูร ไตรณัฐี และ คุณยศสินี ณ นคร

สถาปนิก : MOD Architects

“หน้าที่และบทบาทของเราคือ การออกแบบอาคาร โดยคำนึงถึงความต้องการของลูกค้า ตามบริบทที่เป็นอยู่ ภายใต้เงื่อนไขที่เกิดขึ้น” คุณมฤคย์ จันทวิมล คุณภัค พรมเชิดชู และคุณณัฐ เชิดชีวศาสตร์ จาก MOD Architects ได้พูดถึงวิธีการทำงาน และความเป็นมาของบ้าน S112“


Combination: แตกต่าง ผสม กลมกลืน

หากสมาชิกในครอบครัวมีมุมมองและการรับรู้ถึงความงามในแบบที่ต่างกัน คำถามคือ แล้วเราจะหาจุดที่ลงตัวของทั้งสอง Style ได้อย่างไร

จากความชื่นชอบและรักในการขับขี่รถบิ๊กไบค์ของเจ้าของบ้าน ส่งผลให้เกิดความประทับใจในสถาปัตยกรรมแนว Industrial loft  ในขณะที่ทางภรรยากลับหลงใหลในความนุ่มนวลและเส้นสายที่อ่อนช้อยแบบ Modern Vintage สถาปนิกจึงผสมผสานความต้องการทั้งสองโดยจับเอาเอกลักษณ์ที่สำคัญของแต่ละ Style มาใช้ในการออกแบบ จึงกลายเป็นIndustrial Loft แบบ Ralph Lauren (ลักษณะการตกแต่งที่เน้นความดิบแต่เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวที่ค่อนข้างหรูหรา)

โดยสถาปนิกออกแบบให้โครงสร้างหลักเป็นแนว Industrial Loft เน้นโชว์ความดิบ เท่ ของวัสดุซึ่งก็คือ อิฐ เหล็ก และคอนกรีต ในขณะเดียวกันก็ออกแบบช่องเปิดที่ผิวโดยรอบอาคารให้มีรายละเอียดที่นุ่มนวลขึ้นมา เพื่อให้เข้ากับการตกแต่งพื้นที่ภายในด้วยเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวแบบ Vintage ซึ่งป็นของสะสมของคุณภรรยาอีกด้วย

อาคารหลังนี้เป็นส่วนต่อเติมโดยถูกจัดวางให้เป็นแนวยาวตั้งฉากกับบ้านเดิมซึ่งตั้งอยู่ด้านในสุดของที่ดิน  อาคารใหม่นี้มีฟังก์ชั่นเป็นที่จอดรถยนต์ 4 คัน และบิ๊กไบค์ 2 คัน ในส่วนของชั้นสองจะเป็นห้องนอนและห้องพักผ่อน ซึ่งมีพื้นที่รวมประมาณ 220 ตารางเมตร


Intersection: พื้นที่ส่วนตัว พื้นที่ส่วนรวม พื้นที่ชีวิต

เนื่องจากในบริเวณบ้านเดิมนั้นมีบ้านญาติเรียงถัดไปอีกสองหลัง ทั้งสามหลังนี้จะใช้สวนด้านหน้าบ้านร่วมกัน การวางแนวอาคารต่อเติมนี้ จึงตั้งฉากกับบ้านเดิมโดยด้านข้างที่เปิดเข้าหาสวนนั้นถูกออกแบบให้เป็นช่องเปิดเพื่อให้สามารถเปิดมุมมองไปยังสวนได้เต็มที่ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือการเชื่อมพื้นที่ชีวิตของคนในครอบครัว ให้ตนเองสามารถมองเห็นและมีปฏิสัมพันธ์กับแม่และน้องชายที่อาศัยอยู่ในบ้านอีกสองหลังได้

แต่เนื่องจากบริเวณชั้น 2 เป็นห้องนอนซึ่งต้องคงความเป็นส่วนตัวไว้เช่นกัน สถาปนิกจึงแก้ไขโดยการออกแบบให้มีทางเดินไว้ทางด้านที่ติดกับสวน ไปยังห้องพักผ่อนซึ่งสามารถกั้นระหว่างห้องนอนกับพื้นที่สวนได้ แต่ถึงกระนั้นก็ยังสามารถมองเห็นภายในห้องนอนได้อยู่ จึงปรับให้ชุดด้านล่างของตัวหน้าต่างเป็นกระจกฝ้าเพื่อความเป็นส่วนตัวและไม่รู้สึกเคอะเขินจนเกินไป

ในส่วนของบริเวณด้านหน้าบ้านนั้นปิดทึบเกือบทั้งหมดเพื่อความเป็นส่วนตัว แต่เพื่อให้สามารถมองเห็นบริเวณหน้าบ้านได้ ด้านขวาของตัวอาคารจึงถูกคว้านให้เป็นช่องเปิด และดันระนาบของช่องเปิดกระจกเข้าไปข้างใน สร้างระยะลึกให้เกิดมิติ ซึ่งช่วยเพิ่มความแปลกตา ให้อาคารได้อย่างดี

ผนังเอียงตรงมุมด้านหน้าตัวอาคารเดิมที่ถูกออกแบบมาเพื่อต้องการหลบศาลพระภูมิ และต้นลีลาวดีของคุณแม่ที่ปลูกไว้ สถาปนิกจึงเพิ่มลูกเล่นด้วยการทำให้เป็น Bay  (บริเวณหน้าต่างที่ยื่นออกไปจากตัวกรอบโครงสร้างทำให้เกิดพื้นที่ของห้องที่เป็นโค้งหรือเหลี่ยม) เพิ่มช่องเปิดและช่วยลดทอนความทึบของตัวอาคารไปในตัว


Keep quiet clean: ข้อจำกัดที่กำจัดได้

บ้านเดิมนั้นมีพื้นที่ส่วนหนึ่งที่ถูกปรับเป็นสตูดิโอสำหรับบันทึกเทปรายการโทรทัศน์ ซึ่งต้องมีการใช้งานตลอด ความรวดเร็วในการก่อสร้างจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง ผู้ออกแบบจึงเลือกใช้โครงสร้างเหล็กรูปพรรณรีดร้อน เพราะนอกจากจะตอบโจทย์ในเรื่องของการดีไซน์ให้เข้ากับสไตล์ Loft ที่เจ้าของบ้านต้องการแล้ว การใช้โครงสร้างเหล็กรูปพรรณรีดร้อนยังสามารถก่อสร้างได้อย่างรวดเร็วกว่าโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กมาก ทั้งยังสามารถควบคุมระยะเวลาในการก่อสร้างได้ค่อนข้างแน่นอน ส่งผลให้สามารถลดต้นทุนด้านแรงงานได้อีกด้วย

บ้านอีกสองหลังที่ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันนั้น ซึ่งเป็นของคุณแม่และน้องชายก็มีคนอยู่อาศัยตลอดเวลา นอกจากเรื่องเสียงแล้วความสะอาดและฝุ่นละอองที่จะเกิดขึ้นบริเวณไซต์ก่อสร้างจึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องควบคุมและจัดการให้ได้ การเลือกใช้โครงสร้างเหล็กรูปพรรณรีดร้อนนั้นก็สามารถตอบโจทย์ ที่ว่านี้ได้ดีทีเดียว เนื่องจากโครงสร้างเหล็กนั้นเป็นการก่อสร้างระบบแห้ง ซึ่งช่วยลดมลพิษที่เกิดขึ้นได้อย่างดี

การรับน้ำหนักของโครงสร้างเหล็กสำหรับอาคารต่อเติมหลังนี้นั้นสามารถใช้เสาและคานขนาดประมาณ 200 x200 มม.ได้ แต่สถาปนิกเลือกใช้เหล็กรูปพรรณรีดร้อน (H-Beam) ขนาด 300×300 มม. และ 300×400 มม. ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เหมาะสมกับขนาดของตัวอาคารแทน โครงสร้างเหล็กทั้งหมดทาสีกันสนิมและพ่นทับด้วยสีดำตัดกับสีสันของอิฐบล็อค ขนาด 23X11X7 มม. เพิ่มความโดดเด่นให้กับตัววัสดุเอง พร้อมทั้งถูกจัดวางอย่างเป็นระเบียบแสดงถึงความละเอียดอ่อนในการสร้างสรรค์งานผนวกกับความประณีตของฝีมือช่างจึงปรากฏเป็นเส้นสายที่คมคาย เรียบง่ายแต่ลงตัว

พื้นชั้น 2 เลือกใช้เป็นระบบ Metal Deck ซึ่งสามารถตอบโจทย์ในเรื่องความรวดเร็วในการก่อสร้างและการรับน้ำหนักได้ดี โดยสามารถ ทำช่วงพาด ได้กว้างตามที่ออกแบบมาได้ และ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นบริเวณใต้ท้องพื้นนั้นก็สวยงามเข้ากับองค์รวมของตัวอาคารซึ่งทำให้ที่จอดรถธรรมดาดูมีความน่าสนใจมากขึ้น

“วัสดุภายนอกนั้นแม้ว่าเป็นการโชว์โครงสร้างและวัสดุทั้งหมด แต่ผลลัพธ์ตอนสร้างเสร็จออกมาเป็นที่น่าพอใจ คือ ตัวบ้านไม่ได้ดูโดดเด่นมาก ยังคงกลมกลืนไปกับตัวบ้านเดิมและบ้านข้างๆ เพราะการออกแบบต้องคำนึงถึงบริบทเป็นสำคัญ” คุณมฤคย์ กล่าวถึงความรู้สึกของผู้ออกแบบ และเจ้าของบ้านที่มีต่อบ้านหลังนี้


Detail in Design: รายละเอียดที่ซ่อนไว้ใต้ความงาม

อิฐโชว์แนวโดยรอบทั้งหมดนั้นก่อแบบ Double Wall คือมีช่องว่างตรงกลางเพื่อช่วยในการกันความร้อนจากภายนอก ซึ่งเป็นหลักการการออกแบบอาคารเขียวหรืออาคารประหยัดพลังงานแบบ Passive Design  (การจัดการธรรมชาติเพื่อทำให้อาคารมีสภาวะน่าสบายโดยไม่ต้องอาศัยเครื่องกล เช่น เครื่องปรับอากาศแบบประหยัดพลังงานมาช่วยหากเป็นลักษณะนี้จะเรียกว่า Active Design)

ทั้งนี้ยังเพิ่มการระบายอากาศด้วยหลังคา 2 ชั้น อากาศร้อนนั้นจะลอยสูงขึ้นไปด้านบนการมีหลังคาสองชั้นและเพิ่มเติมในส่วนของช่องระบายกาศก็สามารถทำให้บ้านเย็นเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน ทั้งนี้คุณมฤคย์ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “รายละเอียดเหล่านี้ต้องอาศัยความเข้าใจในการออกแบบ ถึงแม้ว่าจะเป็นส่วนที่มองไม่เห็นแต่สถาปนิกควรออกแบบและจัดการ เพราะมันเป็นสิ่งที่เจ้าของบ้านจะรู้สึกได้”

ขอขอบคุณเจ้าของ : คุณณัฐบูร ไตรณัฐี และ คุณยศสินี ณ นคร

สถาปนิก : MOD Architects