Sun Plaza 2 สถาปัตยกรรมตลาดที่เข้าใจผู้ใช้งานมากที่สุด

ท่ามกลางพื้นที่ใจกลางเมืองกรุงเทพมหานคร การใช้งานพื้นที่อย่างจำกัดแต่เต็มไปด้วยความหลากหลาย ภายใต้สภาพแวดล้อม ที่เต็มไปด้วยอาคารสูงหรืออาคารสำนักงาน รวมไปถึงชุมชน ทำให้รูปแบบสถาปัตยกรรมของตลาด Sun Plaza 2 แห่งนี้ แสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ถึงที่มาที่ไป และแน่นอนว่าการใช้งานนั้นต้องตอบสนองได้ดี ที่เหลือนั้นคือภาพลักษณ์และการจดจำสถาปัตยกรรมนั้นในแบบที่ควรจะเป็น

โครงการนี้เป็นการก่อสร้างปรับปรุงจากอาคารตลาดเดิมซึ่งมีการใช้งานไม่ต่างจากที่เป็นอยู่นี้ แต่ด้วยความต้องการใช้พื้นที่ที่มากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการ เจ้าของจึงตัดสินใจปรับปรุงครั้งใหญ่โดยการใช้โครงสร้างเหล็กรูปพรรณรีดร้อน เป็นวัสดุหลักในการออกแบบและก่อสร้างในครั้งนี้

ผู้ออกแบบคือ PoonsookArchitects และ Normalstudio ได้รวมพลังกันกลั่นกรองความคิดจนเกิดภาพจำใหม่ของสถาปัตยกรรมแห่งนี้ โดยความยากที่สุดของการออกแบบก่อสร้างอาคารนี้คือเรื่องของการจัดสรรพื้นที่ให้เหมาะสมกับการใช้งานใหม่ที่เกิดขึ้น โดยพื้นที่ใช้สอยชั้นล่างทั้งหมดเป็นร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าต่างๆ รวมถึงที่จอดรถ ขึ้นมาที่ชั้นบนจะเป็นสวนอาหารแบบ Double Space (ฝ้าสูง) ที่สามารถนั่งรับประทานอาหารได้อย่างโปร่งสบาย

ความยากอีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องของการก่อสร้าง ที่จะต้องทำการปรับปรุงอาคารเดิมซึ่งเป็นอาคารชั้นเดียวซึ่งมีช่วงเสา 3.5 x 3.5 เมตร ที่มีพื้นที่ใช้สอยน้อย และต้องการปรับปรุงเพิ่มพื้นที่ชั้น 2 ซึ่งสุดท้ายจะมีการยกโครงสร้างหลังคาเดิมนั้นขึ้นไปเป็นหลังคาของพื้นที่ทั้งหมด โดยมีข้อแม้ว่าระหว่างการปรับปรุง พื้นที่เดิมที่มีชั้นเดียวนั้น ยังต้องเปิดให้บริการตลอดเวลา ไม่กระทบการใช้งานแต่อย่างใด

การเลือกระบบการก่อสร้างจึงต้องคิดถึงความรวดเร็ว และน้ำหนักโครงสร้างที่เบาที่สุด (เพราะทั้งหมดนั้นตั้งอยู่บนโครงสร้างฐานรากเดิม) โครงสร้างเหล็กจึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด บวกกับที่ตั้งของอาคารอยู่ในพื้นที่เข้าถึงค่อนข้างยาก ถนนทางเข้าไม่กว้างนัก โครงสร้างเหล็กที่สามารถขนส่งได้ง่ายกว่าโครงสร้างคอนกรีต ที่ต้องมีรถปูนขนาดใหญ่เข้ามา จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับโครงการนี้

ส่วนเส้นสายและสีสันของเปลือกอาคารนั้น ออกแบบเพื่อลดทอนความรู้สึกไม่ให้ผู้ใช้งานอึดอัด หรือบีบบังคับมากเกินไป โดยการใช้เส้นตั้งหลายรูปแบบเพื่อลดทอนความยาวของตัวอาคาร อีกทั้งสีสันที่ใช้ก็ตั้งใจให้เกิดเป็นภาพคล้ายพิกเซลสี ที่สะท้อนความเป็นเมืองหลวงซึ่งมีชีวิตชีวาตลอดเวลา ยิ่งเพิ่มความสดใสให้กับผู้คนที่ได้เข้ามาใช้งาน

โครงสร้างเหล็กรูปพรรณรีดร้อนเป็นงานก่อสร้างระบบแห้ง (Dry Process) ทำให้หน้างานมีความสะอาดและมีมลพิษน้อยกว่าการก่อสร้างระบบเปียก (Wet Process) มาก เหมาะกับพื้นที่ที่มีการใช้งานขณะก่อสร้าง อีกทั้งการก่อสร้างบนโครงสร้างเดิม ต้องการใช้โครงสร้างใหม่ที่มีน้ำหนักเบาที่สุด โครงสร้างเหล็กจึงเหมาะสมและยังสามารถคำนวณน้ำหนักส่วนต่อเติมได้อย่างแม่นยำด้วยนั่นเอง

ความน่าสนใจของโครงการนี้ จึงไม่ใช่เพียงการออกแบบก่อสร้างที่น่าสนใจ แต่โครงการนี้ยังเป็นการเติมเต็มชีวิตของผู้คนในย่านนั้น ให้ได้ใช้งานเป็นพื้นที่แห่งการจับจ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยสถาปัตยกรรมที่ไม่อึดอัด ไม่ร้อน และเอื้อต่อทุกคนที่ได้เข้ามาใช้งาน

ขอขอบคุณ

สถาปนิก : Poonsook Architects และ Normalstudio

ภาพ : Soopakorn Srisakul