5 โปรเจกต์ สถาปัตยกรรมเหล็กผสมกระจกสุดโมเดิร์น

อาคารสไตล์โมเดิร์น ถือว่าเป็นสไตล์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากมีรูปแบบอาคารที่สวยและได้รับอิทธิพลมาจากสิ่งก่อสร้างยุคปฏิวัติอุตสาหกรรรมของชาติตะวันตก โดยเน้นการนำเอาวัสดุอุตสาหกรรมมาใช้ โดยเฉพาะส่วนของเหล็กและกระจก เพื่อให้เป็นจุดเด่นของอาคาร มอบความสวยงาม หรูหรา พร้อมความเรียบง่าย ที่เน้นโชว์ธรรมชาติของวัสดุและโครงสร้าง โดยเฉพาะเส้นสายของเหล็กที่เนี้ยบคม เมื่อนำมาผสมผสานกับความโปร่งใสของกระจกก็จะมอบความสวยงามทันสมัยให้กับอาคารได้อย่างน่าสนใจ


เทคนิคการติดตั้งผนังกระจกกับโครงสร้างเหล็ก 

เพื่อตอบโจทย์ทั้งการดีไซน์ที่ให้ความสวยงามเรียบง่ายและการใช้งาน กระจกจึงมักเป็นวัสดุที่ถูกเลือกนำมาใช้ร่วมกับโครงสร้างเหล็ก ในรูปแบบระบบโครงสร้างผนังกระจก โดยมีเหล็กรูปพรรณทำหน้าที่เป็นโครงสร้างหลัก (Steel Structure System) ซึ่งมีเทคนิคในการติดตั้งทั้งแบบที่เป็นกรอบหน้าต่างกระจกและผนังกระจกได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการยึดเฟรมกระจกในแนวเสาหรือติดกับเสา การใช้อุปกรณ์ยึดผนัง (Spider) หรือการติดตั้งให้แนวผนังกระจกถัดออกไปจากแนวเหล็กเพื่อลดปัญหารอยต่อระหว่างวัสดุได้มากขึ้นซึ่งก็จะช่วยให้อาคารดูโปร่งมากขึ้นอีกด้วย จะเห็นได้ว่าเหล็กสามารถติดตั้งร่วมกับกระจกได้ง่ายและหลากหลาย จึงมีโปรเจกต์โครงการเหล็กมากมายที่ดีไซน์ร่วมกับความโปร่งใสของกระจกได้อย่างน่าสนใจ ช่วยสร้างเอกลักษณ์ของอาคารให้สวยทันสมัยมากขึ้น


โดดเด่นด้วยดีไซน์โมเดิร์นและเส้นสายของเหล็ก | Glass House at Sindhorn Building 

อาคารที่เน้นความโดดเด่นด้วยรูปทรงที่ดูโฉบเฉี่ยวกับหลังคาที่ให้เส้นสายลื่นไหลเหมือนต้นไม้ใหญ่ ระบบโครงสร้างอาคารจึงต้องออกแบบเป็นพิเศษ และเพื่อไม่ให้เสาของโครงสร้างหลังคาไปอยู่ในร้านค้า จึงออกแบบให้มีเสาเพียง 3 ต้น อยู่ในตำแหน่งช่องว่างทางเดินระหว่างก้อนอาคารทั้ง 4 หลังที่มีลักษณะเป็น “ก้อนคริสตัลใส” จากโครงสร้างเหล็กรูปพรรณรีดร้อน ที่มีกระจกห่อหุ้มอยู่โดยรอบซึ่งเน้นใช้กระจกแบบพิเศษ “Heat Strange” เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและป้องกันความร้อนได้ดีขึ้น ติดตั้งบนวงกบอลูมิเนียมขนาดพิเศษที่มีโครงสร้างเหล็กเสริมอยู่ภายใน ด้วยรูปทรงของอาคารและการรักษาต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่

การใช้เหล็กจึงมาตอบโจทย์โดยการออกแบบโครงสร้างคานหลังคาวิ่งตัดกันเป็นรูปตัวเอ็กซ์ (x) เพื่อเพิ่มความแข็งแรงในขณะที่ยังมีพื้นที่สำหรับต้นไม้ และด้วยหลังคาที่ยาวถึง 90 เมตร จากระยะห่างของเสาทั้ง 3 ต้นที่ห่างกันต้นละ 25 เมตร และมีระยะยื่นด้านข้างออกไปถึง 20 เมตร การใช้วัสดุเหล็กที่มีความยาวพิเศษจึงเป็นประโยชน์สำหรับการออกแบบในลักษณะ Long span และมีระยะยื่นมาก ๆ ได้อย่างตรงใจผู้ออกแบบและเจ้าของโครงการมากยิ่งขึ้น

อ่านต่อที่: Glass House at Sindhorn Building : สถาปัตยกรรมไอคอนกลางถนนวิทยุ


ดิบเท่ โปร่งใส สะท้อนบริบทธรรมชาติ | Café Amazon 

โครงการรีโนเวทร้านกาแฟด้วยโครงสร้างเหล็ก ที่สร้าง Movement ให้กับตัวอาคารด้วยการออกแบบให้เป็น Glass House โดดเด่นด้วยเฟรมกระจกที่โปร่งใสสะท้อนทุกบริบทของธรรมชาติโดยรอบ ทั้งการเคลื่อนไหวของสิ่งมีชีวิตอย่างต้นไม้ และบ่อปลาคราฟที่อยู่ภายใต้ตัวอาคารได้อย่างน่าสนใจ ช่วยมอบความรู้สึกที่ผ่อนคลายเป็นธรรมชาติให้แก่ผู้ที่เข้ามานั่งดื่มกาแฟได้ตลอดทั้งวัน ภายในบรรยากาศแบบโมเดิร์นลอฟท์ เพิ่มดีไซน์ดิบเท่ด้วยผนังปูนเปลือย

ซึ่งการเลือกใช้โครงสร้างเหล็กที่มีพื้นผิวของวัสดุที่สวยงามจึงทำให้ง่ายต่อการตกแต่งร่วมกับวัสดุอื่นๆ โดยเฉพาะกระจก อีกทั้งเหล็กยังติดตั้งง่ายและมีความแม่นยำสูง จึงทำให้งานออกแบบก่อสร้างเป็นไปได้อย่างสะดวกรวดเร็วตอบโจทย์สำหรับงานรีโนเวท และช่วยให้โครงการประหยัดงบประมาณในส่วนของค่าแรงไปได้อย่างมากในระยะสั้น

อ่านต่อที่: โครงสร้างเหล็กกับแนวคิดการออกแบบ Café Amazon ให้เป็นมากกว่าแค่ร้านกาแฟ


ความงามแบบโมเดิร์น โปร่งสบายด้วยวิว 360 องศา | บ้านเหล็กขนาดพอดี  

บ้านที่ให้ความน่าอยู่ในสไตล์โมเดิร์นทรอปิคอล โดยสถาปนิกออกแบบผังบ้านเป็นรูปตัวยู (U) โดยหันขาตัวยูไปยังทิศใต้ เพื่อให้พื้นที่ชานบ้านหรือระเบียงได้รับลมเย็นสบายตลอดทั้งวัน อีกทั้งสถาปนิกยังออกแบบให้บ้านเชื่อมต่อกับทิวทัศน์ภายนอกด้วยการเปิดมุมมองโดยรอบ จึงใช้การดีไซน์ร่วมกับวัสดุกระจกใสค่อนข้างมากและออกแบบให้เป็นบานหน้าต่างที่สูงจากพื้นถึงฝ้าในหลายบริเวณ เพื่อให้เกิดการไหลเวียนของอากาศตามธรรมชาติตลอดวันทำให้คนในบ้านสามารถมองออกไปเห็นธรรมชาติรอบตัวได้อย่างเป็นสุข ซึ่งการเลือกใช้โครงสร้างเหล็กในบ้านขนาดเล็กยังทำให้การก่อสร้างมีความรวดเร็ว เพราะใช้จำนวนแรงงานน้อยกว่างานคอนกรีต ติดตั้งง่าย จึงสามารถก่อสร้างเสร็จได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งช่วยประหยัดงบประมาณในส่วนของค่าแรงไปได้อย่างมาก

อ่านต่อที่: บ้านเหล็กขนาดพอดี ที่มีกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมเมืองร้อน


บ้านอินดัสเทรียลที่เน้นการเชื่อมต่อพื้นที่แบบไทย ๆ | Steel Family House

บ้านที่ออกแบบมาเพื่อการอยู่อาศัยแบบครอบครัวใหญ่ที่ต้องการความเป็นส่วนตัว ด้วยการออกแบบให้มีแปลนบ้านแบบกระจายตัว เชื่อมต่อแต่ละห้องด้วยชานที่ให้ space ของการพื้นที่ใช้งานแบบเรือนไทย ที่มีส่วนกลาง และทางเดินเชื่อมต่อภายในบ้านซึ่งเป็นทางเดินที่มีหลังคาคลุม ทำให้มีพื้นที่กึ่งภายนอกที่ให้ทุกคนได้ออกมาเดินเล่นรับรู้สภาพแวดล้อมนอกห้อง ได้เชื่อมโยงกับสิ่งรอบตัว และทำให้เราได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างมากขึ้น การตกแต่งทั้งหมดเกิดจากเนื้อแท้ของวัสดุ เช่นโครงสร้างเหล็กรูปพรรณรีดร้อน กระจก ผนังอิฐโชว์แนว หรือพื้นไม้ต่างๆ เพื่อการเปิดเผยเนื้อแท้ที่มีความงามในตัวโดยปราศจากการตีวัสดุปิดทับ

ซึ่งการเลือกใช้โครงสร้างเหล็กในบ้านหลังนี้ตอบโจทย์ทั้งความชอบของเจ้าของ และความลงตัวกับสไตล์การออกแบบมากที่สุด เหมาะกับบ้านที่มีรูปทรงไม่สมมาตรเพราะโครงสร้างเหล็กตอบโจทย์การใช้งานแบบ Freeform ได้มากกว่าคอนกรีต และในการรับแรงที่เท่ากันนั้นเหล็กยังสามารถทำโครงสร้างได้บางกว่ามาก จึงให้หน้าตัดที่เล็ก ทำให้ตัวบ้านดูมีความทันสมัยมากขึ้น

อ่านต่อที่: บ้านเหล็ก ของครอบครัวขยายสไตล์อินดัสเทรียลลอฟท์ Steel Family House


เผยความงามของวัสดุผ่าน Space ดีไซน์เรียบง่ายมีมิติ | LADPRAO 80 House

บ้านที่ถูกรีโนเวทให้เป็นอาคารโครงสร้างเหล็กสุดโมเดิร์นซึ่งให้ความเบาลอยเมื่อถูกดีไซน์ร่วมกับกระจก บ้านเน้นการออกแบบให้เข้ากับบรรยากาศ ในทิศใต้ที่มีแสงส่องมาก สถาปนิกจึงออกแบบให้มีผนังสำหรับการกรองแสงอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยชั้นของต้นไม้ ระแนงบังแดด และกระจก ทั้งหมดเพื่อกันความร้อนแต่ไม่กันบรรยากาศดี ๆ ออกไปจากบ้าน โดยใช้จังหวะและเส้นสายที่ลงตัวของวัสดุเกิดเป็นลูกเล่นที่น่าสนใจให้กับโถงรับแขก เมื่อแสงแดดกระทบกับระนาบของระแนง เฟรมเหล็กและกระจกจะให้แสงเงาที่มีมิติ ซึ่งจะปรับเปลี่ยนเคลื่อนไหวไปตลอดทั้งวัน

ซึ่งการเลือกใช้โครงสร้างเหล็กก็ตอบโจทย์ในการรีโนเวทบ้านหลังนี้ เนื่องจากเหล็กมีน้ำหนักเบาจึงช่วยให้น้ำหนักที่ถ่ายลงยังฐานรากน้อยลงมาก ดังนั้น จึงสามารถสร้างอาคารใหม่บนโครงสร้างฐานรากเดิมได้อย่างสบายๆ และด้วยระบบการก่อสร้างซึ่งเป็นแบบ Dry process ที่ไม่ก่อให้เกิดฝุ่นผงหรือควันจากรถปูนซีเมนต์ที่เข้าออกระหว่างการก่อสร้าง และวัสดุเหล็กซึ่งถูก Fabricated มาเรียบร้อยจากโรงงาน จึงทำให้ง่ายในการก่อสร้าง สามารถลดจำนวนงานที่หน้างาน ซึ่งช่วยลดผลกระทบต่อมลพิษจากการก่อสร้างให้น้อยลงได้ และลดการรบกวนต่อเพื่อนบ้านรอบข้างได้ดีกว่า

อ่านต่อที่: LADPRAO 80 House : บ้านที่สถาปนิกชอบ