การออกแบบโครงสร้างเหล็ก มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

สำหรับเจ้าของบ้าน มีจินตนาการในใจว่าอยากจะมีบ้านสักหลังไว้อยู่อาศัย จะมองหาใครที่ให้คำตอบได้ว่าสิ่งที่มีอยู่ในใจนั้นมันเรียกว่าบ้านแบบไหน เป็นบ้านเหล็กหรือบ้านปูนดีกว่ากัน แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าบ้านที่ต้องการนั้นมีขั้นตอนการออกแบบก่อสร้างยังไงบ้าง วันนี้ SYS จะขอมาแจกแจงขั้นตอนทั่วไปของงานออกแบบ ว่าเจ้าของบ้านควรทำอย่างไรบ้างเพื่อให้แบบที่มีในใจนั้นเป็นจริง

แรกสุด SYS แนะนำให้เจ้าของบ้านทุกท่านปรึกษา สถาปนิก ผู้ที่จะสามารถเปลี่ยนความต้องการของเจ้าของบ้านไปก่อร่างผ่านไอเดียให้เป็นจริงขึ้นมาในรูปแบบต่างๆ ได้ สถาปนิกจะเป็นผู้ที่จัดวางพื้นที่ใช้สอย รู้จักการเลือกใช้วัสดุ และการสร้างสรรค์หน้าตาของบ้าน จะเปลี่ยนความต้องการต่างๆ ให้เป็นรูปธรรม ผ่านการแก้ปัญหาต่างๆ ตามสถานที่ตั้งและการเลือกวัสดุให้เหมาะสม ผ่านการใช้แบบทางสถาปัตยกรรมแสดงภาพให้เห็น และแบบก่อสร้างที่สถาปนิกจะนำไปสื่อสารกับวิศวกรและผู้รับเหมาก่อสร้างต่อไป

ในจุดนี้เองที่เจ้าของบ้านละสถาปนิกจะตกลงกันว่า จะเลือกใช้โครงสร้างปูนหรือเหล็กสำหรับบ้าน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความต้องการเป็นหลัก เช่น อาจเลือกใช้ปูนเพราะไม่กังวลเรื่องเวลาการก่อสร้าง รูปร่างโครงสร้างเป็นแบบเดิมๆ ไม่มีอะไรที่หวือหวา และคุ้นเคยกับบ้านปูนเป็นทุนเดิม ในขณะที่อาจเลือกใช้บ้านเหล็กเพราะต้องการการก่อสร้างที่รวดเร็ว เป็นระบบ ควบคุมมาตรฐานการก่อสร้างได้ง่าย ตอบโจทย์โครงสร้างในรูปแบบแปลกใหม่ได้ หรือเป็นที่ดินที่ค่อนข้างแคบ และต้องการสร้างผลกระทบต่อที่ตั้งให้น้อยที่สุด

เมื่อตัดสินใจเรื่องโครงสร้างได้แล้ว ในที่นี้ หากเจ้าของบ้านเลือกใช้บ้านโครงสร้างเหล็ก ผู้ที่จะคำนวณเพื่อยืนยันความแข็งแรง และออกแบบโครงสร้างโดยละเอียดอีกครั้ง จะเป็นหน้าที่ของวิศวกรโครงสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดชนิดเหล็ก ไม่ว่าจะเป็นเหล็ก H-Beam หรือเหล็กรูปแบบอื่นๆ กำหนดขนาดเหล็ก กำหนดรอยต่อของโครงสร้าง

ในจุดนี้ วิศวกรและสถาปนิก รวมถึงเจ้าของบ้าน จะตกลงกันเพื่อให้รูปแบบโครงสร้างนั้นไม่เบียดบังพื้นที่ใช้สอยหรือรูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่จะตรงตามความต้องการของเจ้าของบ้าน รวมถึงจะแข็งแรงมากพอโดยไม่พังทลาย แต่มากกว่านั้น วิศวกรก็สามารถแนะนำเหล็กที่จะส่งเสริมไอเดียการออกแบบพื้นที่ รวมถึงอาจช่วยประหยัดงบประมาณลงได้ด้วย

เช่น เหล็กกำลังสูง SM520  ซึ่งจะช่วยให้โครงสร้างมีขนาดเล็กลง ตอบโจทย์เรื่องโครงสร้างเพรียวบาง ในขณะที่สามารถรับแรงได้เท่ากันเมื่อเทียบกับเหล็กเกรดปกติ เมื่อคำนวณโดยรวม ก็จะช่วยลดงบประมาณทั้งค่าเหล็กโครงสร้างที่น้ำหนักลดลง และในส่วนอื่นๆ เช่นค่าแรง ค่าขนส่ง รวมถึงลดภาระของเสาเข็มลงได้ด้วย

หรืออาจเป็นเหล็กประเภท Customized Length เหล็กผลิตความยาวพิเศษ โดยเฉพาะความยาวที่มากกว่า 6 เมตรขึ้นไป โดยอาจถูกเลือกใช้ในส่วนที่ถูกออกแบบให้เป็นโครงสร้างช่วงเสากว้างพิเศษ ทั้งนี้การเลือกใช้เหล็ก Customized Length ก็จะช่วยลดการต่อโครงสร้างเหล็ก ซึ่งช่วยเพิ่มมาตรฐานด้านความแข็งแรง และไม่เกิดรอยต่อที่ไม่สวยงามด้วย