เรื่องควรรู้ ก่อนทำงานกับสถาปนิกเพื่อออกแบบอาคารเหล็ก

สำหรับคนที่สนใจบ้านหรืออาคารเหล็ก เป็นรูปแบบอาคารในฝัน ที่หากจะต้องสร้างบ้านของตน ต้องเป็นอาคารเหล็กเท่านั้น… แต่เดี๋ยวก่อน วันนี้เรามีทริปดีๆ ที่จะช่วยให้เราเข้าใจ และเตรียมพร้อมก่อนที่จะไปคุยกับสถาปนิก เพื่อออกแบบบ้านเหล็กให้เรากันครับ


1. ควรตัดสินใจตั้งแต่เริ่มออกแบบว่าจะใช้โครงสร้างเหล็กรูปพรรณรีดร้อน หรือโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก หรือโครงสร้างอื่นๆ

แน่นอนว่าการรู้ว่าต้องใช้โครงสร้างหลักเป็นวัสดุอะไร ย่อมทำให้การออกแบบนั้นเป็นไปได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ช่วยย่นเวลาในการทำแบบและสามารถเห็นภาพรวมของงานได้ชัดเจนมากที่สุด


2. ศึกษาด้วยตนเองหรือสอบถามสถาปนิกถึงข้อดี ข้อจำกัด ของการใช้งานเหล็ก

วัสดุเหล็กรูปพรรณรีดร้อนและคอนกรีตนั้นมีข้อดีและข้อจำกัดที่ต่างกันออกไป ลองพิจารณาถึงข้อดีของวัสดุทั้ง 2 ชนิด แล้วเลือกว่าวัสดุใดเหมาะสมกับความต้องการ หรือแม้กระทั่งข้อจำกัดในการออกแบบก่อสร้างอาคารของเรา


3. สำรวจตนเองและคนในบ้านว่าชอบรูปแบบของบ้าน หรืออาคารเหล็กจริงหรือไม่ ก่อนนำไปคุยกับสถาปนิก

เจ้าของบ้านเองควรศึกษาและถามคนในบ้านว่า เห็นชอบไปในทางเดียวกันหรือไม่ เพราะหลายคนอาจติดกับภาพว่าอาคารเหล็กร้อนบ้าง ดูเป็นโรงงานบ้าง แต่ในความเป็นจริงเหล็กไม่ได้ทำให้บ้านร้อน หรือความเป็นโรงงานก็ไม่ได้เป็นเพราะวัสดุเหล็กเสมอไป


4. ต้องเข้าใจว่างานเหล็กรูปพรรณรีดร้อน จะมีความคืบหน้าของงานเร็วกว่างานคอนกรีตเสริมเหล็ก

เพราะงานเหล็กรูปพรรณรีดร้อนนั้น จะมีการผลิต ตัด และเจาะรูเหล็กมาจากที่โรงงาน ที่หน้าไซต์อาจทำงานส่วนฐานรากและตอม่อกันอยู่ เมื่อถึงช่วงโครงสร้างเหล็ก จะมีการดำเนินงานที่รวมกว่าคอนกรีต เพราะสามารถยกมาติดตั้งได้จบภายในเวลาจำกัดได้


5. หากอยากได้อาคารเหล็กที่ดี ต้องร่วมใส่ใจในแบบรายละเอียด ร่วมกับผู้ออกแบบจริงๆ

แบบอาคารเหล็กจะต้องมีรายละเอียดที่ค่อนข้างครบ เพราะการคลาดเคลื่อนเล็กน้อย อาจหมายถึงการขยับโครงสร้างที่ส่งผลต่อส่วนอื่นๆ ฉะนั้นแบบโครงสร้างจึงมีความสำคัญมากๆ เป็นไปได้หากถึงช่วงของการทำแบบรายละเอียด ขอให้สถาปนิกอธิบายในจุดต่างๆให้ฟัง และเป็นการทบทวนเรื่องแบบไปด้วยในตัว


6. หมั่นตรวจหน้างานพร้อมสถาปนิก เพื่อตรวจเช็คความถูกต้องของแบบ

เพราะงานเหล็กมีความรวดเร็วในการทำงานมาก การที่เจ้าของบ้านและสถาปนิกได้เข้าไปตรวจหน้างานด้วยกัน เป็นสิ่งที่ควรทำ เพราะการควบคุมคุณภาพของงานให้เป็นไปตามแบบมากที่สุด


7. เมื่อแบบลงตัวแล้ว ไม่ควรเปลี่ยนแบบ ในส่วนที่มีผลต่อโครงสร้าง

สำหรับข้อนี้อาจไม่ต่างกับการทำงานด้วยโครงสร้างอื่นๆ เพราะการเปลี่ยนแบบเนื่องจากความไม่แน่นอนในความต้องการของเจ้าของเอง เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะจะทำให้เกิดความผิดพลาดในแบบมากขึ้น แถมยังไม่สามารถคุมเวลาได้ด้วย