ออกแบบบ้านเหล็กอย่างไร ให้อยู่สบายในอากาศร้อนแบบไทย

แม้ว่าเหล็กมักจะถูกจดจำว่าเป็นโลหะที่มีคุณสมบัติสะสมและนำความร้อน ทำให้หลายกรณีวัสดุชนิดนี้ถูกมองข้ามความสามารถในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะในด้านโครงสร้างที่มีคุณสมบัติทั้งด้านการยืดหยุ่นและสามารถทำโครงสร้างช่วงยาวได้ดี ซึ่งเสาที่อยู่ห่างกันมากๆในแต่ละช่วง จะกลายเป็นประโยชน์และเอื้อต่อการสร้างบ้านในประเทศเขตร้อนชื้นอย่างบ้านเราเป็นอย่างมาก วันนี้เราจึงมีไอเดียการออกแบบและประโยชน์ของ ‘เหล็ก’ ที่สามารถประยุกต์ให้เข้ากับบ้านในแบบไทยๆ ได้อย่างลงตัวมาฝากกัน


1. การยกระดับความสูง

ภาพบ้านทรงไทยยกใต้ถุนสูงถือเป็นหนึ่งในภาพคุ้นชินของคนไทย ซึ่งการยกใต้ถุนสูงนั้นเกิดจากภูมิปัญญาของคนไทยสมัยก่อนที่ต้องการยกตัวบ้านให้พ้นระดับน้ำท่วมในฤดูฝน และใช้เป็นพื้นที่นั่งเล่นหรือทำหัตกรรมในท้องถิ่นเมื่อน้ำลด ปัจจุบันถึงแม้ว่าการก่อสร้างบ้านจะไม่ได้ยกใต้ถุนให้สูงได้เท่าสมัยก่อนแต่การยกระดับก็ยังสามารถพบเห็นได้ทั่วไปเพื่อช่วยระบายความชื้นที่สะสมเป็นหลัก และเปลี่ยนจากการใช้ไม้ มาเป็นโครงสร้างคอนกรีต จึงถึงปัจจุบันที่เริ่มหันมาใช้โครงสร้างเหล็กกันมากขึ้น เนื่องจากก่อสร้างได้ง่ายและไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม


2. ชายคาบังฝน (Awning)

ด้วยช่วงเวลาฤดูฝนและฤดูร้อนในบ้านเราที่มีความยาวนาน อีกทั้งเกิดเป็นพายุอยู่บ่อยครั้ง การแก้ปัญหาด้วยโครงสร้างโดยการยื่นชายคายาวออกจากตัวบ้านไปมากกว่าปกติ (ชายคาปกติยื่น 80-120 ซม.) จึงมีโอกาสที่จะลดปริมาณการสาดของฝนไปได้มาก โดยที่วิธีนี้ยังได้รับความเย็นสดชื่นของลมที่ผสมไอน้ำเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งการสร้างชายคาในลักษณะนี้สามารถเชื่อมต่อจากโครงสร้างหลัก ที่เป็นโครงสร้างเหล็กอยู่แล้วได้เลย ทำให้ภาพรวมของบ้านดูสวยงามและยังสามารถใช้ประโยชน์จากธรรมชาติได้เช่นเดิม


3. แผงกันแดด (Sunscreen)

มีชายคาแล้วจะไม่พูดถึงแผงกันแดดก็คงไม่ได้ เพราะนอกจากดวงอาทิตย์จะโคจรเปลี่ยนไปจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตกในแต่ละวันแล้ว การเคลื่อนตัวของดวงอาทิตย์จะเปลี่ยนไปในแต่ฤดูกาลด้วย นั่นจึงทำให้เงาและองศาส่งผลต่อตัวบ้านเปลี่ยนแปลงไปตลอดเช่นกัน การใช้โครงสร้างเหล็กในการทำแผงกันแดดจะช่วยให้สามารถช่วยเพิ่มระยะห่างของตัวแผงกันแดดออกจากตัวบ้านได้มากกว่าโครงสร้างทั่วไป ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างโครงสร้าง (air gap) ลดความอึดอัด อีกทั้งยังได้เงาเพื่อลดการสะสมความร้อนในบ้านอีกด้วย


4. การระบายอากาศ

ด้วยความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี การสร้างบ้านเพื่อดึงลมธรรมชาติเข้ามาในบ้านเพื่อการระบายอากาศ จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก ซึ่งนอกจากการวางตำแหน่งตัวบ้านให้สัมพันธ์กับทิศทางลมและดวงอาทิตย์แล้ว การออกแบบขนาดและตำแหน่งของช่องเปิดก็ช่วยให้บ้านเกิดภาวะน่าสบายได้เช่นกัน ด้วยคุณสมบัติของเหล็กที่ทำให้การสร้างโครงคร่าวผนังเพื่อเจาะช่องเปิดทำได้มากกว่าโครงคร่าวไม้ที่ถูกจำกัดเรื่องขนาดและระยะในการก่อสร้าง จึงทำให้บ้านได้ช่องเปิดที่มีขนาดใหญ่และปริมาณที่มากกว่าโครงสร้างทั่วไปนั่นเอง

5. น้ำหนักโครงสร้างน้อย กักเก็บความร้อนก็น้อย

เป็นที่ทราบกันดีว่า ในการรับน้ำหนักได้เท่ากัน อาคารโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กนั้นจะมีมวล มีน้ำหนัก ที่มากกว่าโครงสร้างเหล็ก สิ่งนี้ไม่ได้หมายถึงแค่ว่าอาคารคอนกรีตมีน้ำหนักที่ส่งผลต่อฐานรากมากกว่าอาคารโครงสร้างเหล็กเท่านั้น แต่ยังหมายถึง “การกักเก็บ หรือ อมความร้อน” ของอาคาร ที่มากกว่าด้วยเช่นกัน เพราะเหล็กรูปพรรณรีดร้อน แม้จะมีคุณสมบัติในการนำความร้อนได้ดีกว่าคอนกรีต แต่สำคัญอยู่ที่การคายความร้อน เพราะเหล็กสามารถคายความร้อนออกไปได้เร็วกว่าคอนกรีตหลายเท่า บวกกับหากบ้านเหล็กนั้นใช้โครงสร้างผนังเบา และมีการออกแบบเพื่อระบายความร้อนที่ดี อาคารนั้นก็จะหมดห่วงเรื่องการสะสมความร้อนไปได้เลย