ไขข้อข้องใจ! วิศวกรกับสถาปนิก ต่างกันอย่างไร

นอกจากชื่อที่ต่างกันแล้วบอกเลยว่าในส่วนของหน้าที่การทำงานระหว่างวิศวกรกับสถาปนิกก็แตกต่างกันเช่นกัน ซึ่งในส่วนของงานวิศวกรรรมที่สถาปนิกต้องเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องมีหลายส่วน เช่น วิศวกรโครงสร้าง วิศวกรงานระบบต่างๆ ดังนั้นการก่อสร้างอาคารหลังหนึ่งจำเป็นต้องมีทั้งวิศวกรและสถาปนิกเพราะขอบเขตของงานที่รับผิดชอบนั้นมีหลายประเด็นต้องพึ่งพาซึ่งกันและกันและที่สำคัญคือทำแทนกันไม่ได้!


1. วิศวกรไม่ได้ออกแบบอาคารทั้งหมด

หน้าที่ออกแบบภาพรวมและหน้าตาของอาคารจะเป็นของสถาปนิก ตั้งแต่ดูข้อกฎหมายในการวางผังโครงการ การสำรวจไซต์งานว่าควรสร้างอาคารตำแหน่งใดและควรหันหน้าอาคารไปทิศใด ไปจนถึงขั้นตอนการออกแบบอาคารให้ได้ฟังก์ชั่นและความสวยงามครบถ้วน ส่วนวิศวกรโดยเฉพาะวิศวกรโครงสร้างที่มักจะถูกเข้าใจผิดว่าทำงานในลักษณะเดียวกับสถาปนิกนั้นมีหน้าที่ในการคำนวณขนาดของโครงสร้างอาคาร เช่น ขนาดเสา และ ขนาดคาน เพื่อให้สามารถรับน้ำหนักบรรทุกและมีความเป็นได้ในการก่อสร้าง ที่สำคัญที่สุดคือโครงสร้างต้องปลอดภัยที่สุดสำหรับผู้เข้าใช้อาคาร


2. สถาปนิกคำนวณและเซ็นต์แบบโครงสร้างไม่ได้

ถ้าเอ่ยว่าโครงสร้างขอให้นึกถึงวิศวกรโครงสร้างเอาไว้ก่อนเลย สถาปนิกอาจจะสามารถคำนวณได้แค่คร่าวๆ ถึงระยะห่างช่วงเสาหรือขนาดความลึกของคานได้ในระดับเบื้องต้นเท่านั้น แต่ยังไงการก่อสร้างอาคารก็จำเป็นและถือเป็นกฎหมายที่ต้องให้วิศวกรโครงสร้างช่วยคำนวณความเป็นได้ในการการก่อสร้าง รวมถึงต้องเซ็นต์แบบกำกับเพื่อเป็นการรับประกันว่าอาคารแห่งนี้ได้คำนวณการออกแบบโครงสร้าง และสามารถก่อสร้างโครงสร้างได้อย่างปลอดภัย


3. วิศวกรไม่ได้มีวิศวกรโครงสร้างอย่างเดียว

อาคาร (ที่ได้มาตรฐาน) ไม่สามารถแล้วเสร็จได้ด้วยฝีมือของสถาปนิกเพียงฝ่ายเดียว แต่ยังต้องอาศัยการร่วมมือจากวิศกรอีกหลายฝ่ายไม่เฉพาะวิศวกรโครงสร้างเท่านั้น แต่ยังต้องมีวิศวกรไฟฟ้า วิศวกรงานระบบสุขาภิบาล และยิ่งถ้าอาคารที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเท่าไหร่ หรือเป็นที่อาคารที่ประหยัดพลังงานเป็นพิเศษก็ยิ่งต้องให้วิศวกรเฉพาะด้านนั้นๆ มาช่วยเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบ เช่น ต้องการสร้างอาคารประหยัดพลังงานก็ต้องให้วิศวกรสิ่งแวดล้อมเข้ามาช่วยดูแลนั่นเอง


4. ในการขออนุญาตสร้างอาคารต้องมีลายเซ็นต์

ก่อนจะสร้างอาคารจะมีการทำแบบก่อสร้าง ซึ่งในแบบก่อสร้างนี้จะต้องมีการเซ็นต์ชื่อเพื่อรับรองงานในส่วนที่ตนเองออกแบบ เช่นสถาปนิกจะต้องเซ็นต์ชื่อรับรองการออกแบบอาคาร ภูมิสถาปนิกต้องเซ็นต์ชื่อรับรองในการออกแบบภูมิสถาปัตย์ วิศวกรแต่ละฝ่ายก็ต้องเซ็นต์ชื่อให้ส่วนของงานที่ตนเองรับผิดชอบ ซึ่งนอกจากจะได้ทราบว่าใครรับผิดชอบงานส่วนไหนแล้ว ในกรณีที่อาคารเกิดปัญหาขึ้นในอนาคต ก็จะสามารถตรวจสอบและตามหาผู้รับผิดชอบมาชี้แจงได้ในอนาคต


5. สถาปนิกและวิศวกรต้องทำงานร่วมกัน

อาคารที่สร้างเสร็จสมบูรณ์จะไม่มีทางสร้างเสร็จได้เลยถ้าไม่เกิดจากความร่วมมือกันของทุกฝ่าย โดยเฉพาะในส่วนของงานออกแบบของสถาปนิกที่บางที (หรือหลายๆที) มักจะออกแบบล้ำไปสักนิด ซึ่งก็ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากบรรดาวิศวกรที่จะต้องมาช่วยทำให้โครงสร้างเป็นไปได้ เพื่อให้อาคารตรงกับที่สถาปนิกออกแบบมากที่สุด ดังนั้นเวลาที่คุณเห็นอาคารอะไรที่แปลกๆ โครงสร้างดูแปลกตาอย่างเพิ่งยกความดีความชอบให้สถาปนิกเพียงฝ่ายเดียว เพราะอาคารจะไม่สามารถสร้างได้เลยจริงๆ ถ้าทุกฝ่าย (ทั้งสถาปนิกและวิศวกร) ไม่ร่วมมือร่วมใจกัน