บ้านเหล็กร้อนไหม?

คุณสมบัติของเหล็กที่เรามีความกังวลเมื่อนำมาใช้เป็นโครงสร้างบ้านมักหนีไม่พ้นเรื่องของ ‘การสะสมความร้อนที่รวดเร็ว’ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้บ้านร้อนขึ้น แต่ในทางกลับกันถึงแม้ว่าเหล็กจะสะสมความร้อนได้รวดเร็วแต่ก็คายความร้อนได้รวดเร็วเช่นกัน ซึ่งหลักการดังกล่าวจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเหล็กได้รับความร้อนโดยตรง เช่น การนำเหล็กมาทำเป็นเปลือกอาคาร (Facade) หรือโครงสร้างโดยที่ไม่มีอะไรมาห่อหุ้ม อย่างเช่น สะพานเหล็กต่างๆ แต่การนำเหล็กมาทำโครงสร้างอาคารไม่ใช่สาเหตุหลักที่จะทำให้อาคารร้อนขึ้น ครั้งนี้เราจะขอยกตัวอย่างพร้อมทั้งคลายข้อสงสัยให้เห็นว่าความร้อนนั้นอาจมาจากปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่ใช่เหล็กได้ด้วยเหมือนกัน


บ้านออกแบบโดย mee-d architect

1. ตำแหน่งที่ตั้งและบริบท

ถ้าลองอยู่บ้านที่สร้างด้วยโครงสร้างเหล็กแล้วแต่ยังรู้สึกว่าอากาศภายในบ้านนั้นยังคงร้อนอยู่ เบื้องต้นลองพิจารณาถึงตำแหน่งที่ตั้งของบ้านว่าหันหน้าไปรับความร้อนจากทางทิศใต้และทิศตะวันตกหรือไม่ เพราะทิศดังกล่าวจะส่งความร้อนโดยตรงและต่อเนื่องเป็นเวลานาน สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการติดตั้งฉนวนกันความร้อน และสาเหตุของความร้อนอีกประการ คือบริบทรอบบ้าน เช่น การไม่มีตึกสูงของเพื่อนบ้านหรือต้นไม้สูงที่ให้ร่มเงาทางทิศดังกล่าวก็เป็นสาเหตุที่ทำให้บ้านร้อนขึ้นเช่นกัน


บ้านออกแบบโดย mee-d architect

2. พื้นที่รับความร้อน

ส่วนของบ้านที่รับความร้อนในช่วงกลางวันตลอดเวลาคือหลังคา ทำให้พื้นที่ส่วนนี้เป็นบริเวณที่มีการสะสมความร้อนมากที่สุด แต่ปริมาณการสะสมความร้อนจะมากหรือน้อยและใช้เวลาในการคายความร้อนเท่าไหร่นั้นขึ้นอยู่กับวัสดุที่มุงหลังคา เช่น หากมุงหลังคาด้วยกระเบื้องก็จะสะสมความร้อนได้ช้าและคายความร้อนได้ช้ากว่าหลังคาเมทัลชีท แต่ในขณะที่หลังคาเมทัลชีทสะสมความร้อนได้เร็วและคายได้เร็วกว่า แต่ก็ต้องแลกกับเสียงที่ดังกว่าปกติในเวลาที่ฝนตก ดังนั้นการที่ใช้เหล็กมาทำเป็นโครงสร้างหลังคาจึงไม่ใช่สาเหตุที่ทำให้บ้านร้อนขึ้นแต่อย่างใด


บ้านออกแบบโดย black pencils

3. การคายความร้อน 

ถึงแม้ว่าการนำเหล็กมาทำโครงสร้างบ้านจะไม่ใช่เหตุผลหลักต่อการสะสมความร้อนภายในบ้าน แต่ก็มีหลายกรณีที่เหล็กถูกนำมาใช้เป็นโครงสร้างและโชว์โครงสร้างในคราวเดียวกัน เช่นกรณีของเหล็ก H beam และ I beam ที่มักจะเห็นนำมาก่อสร้างเพื่อแสดงเส้นสายที่นิ่งเรียบของเสาและคานภายนอกอาคารอยู่บ่อยครั้งโดยเฉพาะบ้านสไตล์โมเดิร์น ซึ่งนอกจากข้อดีของเสาและคานเหล็ก H-Beam ที่ทำให้ได้แนวฉาก-มุมของอาคารที่เรียบร้อยมากกว่าโครงสร้างคอนกรีตแล้วนั้น แม้ว่าโครงสร้างเหล็กจะสะสมความร้อนเร็วแต่ก็สามารถคายความร้อนได้เร็วกว่าคอนกรีตหลายเท่าเช่นกัน ทำให้พื้นที่บริเวณภายนอกโดยรอบโครงสร้างเหล็กจึงไม่รู้สึกร้อนอบอ้าวยาวนานเท่ากับการใช้คอนกรีต


บ้านออกแบบโดย black pencils

4. สัดส่วนของโครงสร้างเหล็ก 

ถ้านับปริมาณโครงสร้างหลังคาและโครงสร้างอาคารที่ทำจากเหล็กเข้าด้วยกันแล้ว ปริมาณของเหล็กก็ยังน้อยกว่าวัสดุอื่นในอาคารอย่างมาก โดยเฉพาะบริเวณผนังของบ้านที่มักสร้างด้วยการก่ออิฐฉาบปูน และผนังนี้เองก็เปรียบเสมือนพื้นที่ของการสะสมความร้อนที่ดีแถมยังคายความร้อนได้ช้ามาก หรือในบางกรณีที่ใช้เสาทำจากเหล็กอยู่ภายในผนัง เสาเหล็กก็ไม่ได้ทำหน้าที่ดูดซับความร้อนโดยตรง เจ้าของบ้านสามารถแก้ปัญหาการสะสมความร้อนได้ด้วยการก่อผนังสองชั้นเพื่อให้มีช่องว่างระหว่างกำแพง (air gap) ทำให้ลดความร้อนเข้าสู่อาคารได้อีกวิธีหนึ่ง   


บ้านออกแบบโดย mee-d architect

5. เหล็กในโครงสร้างอื่น ๆ

อย่างที่ทราบกันว่าโครงสร้างของรถยนต์ที่เราขับกันอยู่ทุกวันนี้ก็ทำมาจากเหล็กเช่นเดียวกัน การจอดรถไว้กลางแสงแดดย่อมทำให้รถยนต์ร้อนขึ้นเป็นปกติ แต่ความร้อนที่เข้ามาในรถไม่ได้เกิดจากโครงสร้างของรถที่สร้างด้วยเหล็กเป็นสาเหตุหลัก แต่หากเกิดจากการที่ความร้อนเข้ามาทางกระจกที่ติดอยู่รอบคัน นั่นจึงเป็นเหตุผลที่รถยนต์ควรติดตั้งฟิล์มกันความร้อน ส่วนความร้อนที่สะสมอยู่โครงสร้างรถยนต์ก็สามารถคายได้เองอย่างรวดเร็วเวลาที่มีการขับขี่นั่นเอง