9 ทริคควรรู้สร้างบ้านในพื้นที่แคบ

ด้วยความเจริญที่ขยายไปอย่างไม่สิ้นสุดส่งผลโดยตรงให้ราคาที่ดินในบ้านเราราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายครอบครัวมีที่ดินขนาดเล็กแต่ยังลังเลที่จะสร้างบ้าน เพราะข้อจำกัดของที่ดิน แต่หากจริงๆ แล้วที่ดินทุกผืนจะมีศักยภาพในแบบเฉพาะตัวซ่อนอยู่ พบกับ 9 ทริคควรรู้สร้างบ้านในพื้นที่แคบ ที่จะให้คุณมองเห็นความเป็นไปได้ในข้อจำกัดบนพื้นที่จำกัดได้ชัดเจนมากขึ้น


1. เช็คกฎหมายก่อน 

สิ่งสำคัญที่สุดก่อนออกแบบคือการเช็คกฎหมายอาคาร เพื่อให้ทราบขอบเขตในการออกแบบและก่อสร้างในที่ดิน เช่น ระยะร่นของอาคารรอบที่ดินหรือความสูงที่สามารถก่อสร้างได้ ซึ่งโดยทั่วไปเราจะเรียกว่า ‘กฎหมายควบคุมอาคารและผังเมือง’ แต่หากที่ดินของคุณอยู่ในเขตกทม. อย่าลืมเช็ค ‘ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องควบคุมอาคาร’ เพิ่มเติมด้วย


2. การขนส่งวัสดุ 

การก่อสร้างหน้างานจะเป็นไปได้ดี ส่วนหนึ่งอยู่ที่ความต่อเนื่องของการขนส่ง โดยสามารถลดเวลาและค่าใช้จ่ายได้ด้วยการออกแบบโครงสร้างด้วยวัสดุที่สามารถขนส่งได้คราวละมากๆ อย่างเหล็กรูปพรรณรีดร้อน นอกจากนั้นเหล็กยังเหมาะสำหรับการก่อสร้างในพื้นที่ที่เข้าถึงยากมากกว่าคอนกรีต เช่น บนพื้นที่สูงหรือทางทุรกันดาร เพราะสะดวกในการขนส่งกว่านั่นเอง


3. เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  

ปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างอาคารประเภทใด การออกแบบเพื่อรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในบริเวณนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญ ตั้งแต่การเลือกใช้วัสดุที่มีกระบวนการผลิตไม่ยุ่งยากซับซ้อนอย่างเช่น กระจกหรือเหล็กรูปพรรณรีดร้อน เพราะเมื่อนำมาใช้หน้างานก็สามารถก่อสร้างได้รวดเร็ว ไม่ทิ้งเศษฝุ่นเอาไว้ยังบริเวณก่อสร้างและพื้นที่โดยรอบ อีกทั้งเมื่อไม่ต้องการอาคารนั้นๆแล้ว วัสดุอย่างเหล็กยังสามารถนำกลับมาหลอมและหล่อขึ้นใหม่เพื่อใช้งานได้อีกครั้ง


4. พื้นที่หน้างาน 

แน่นอนว่าหากพื้นที่แคบมักส่งผลโดยตรงต่อการก่อสร้าง อย่างรถเทคอนกรีตที่นอกจากจะต้องเตรียมหน้างานสำหรับระยะถอยของรถแล้ว ยังต้องเผื่อพื้นที่สำหรับคนงานและอุปกรณ์ด้วย หากลองเปลี่ยนมาใช้เป็นเหล็กรูปพรรณรีดร้อน นำมาเป็นโครงสร้างแทน ก็จะสามารถขนย้ายได้สะดวกรวดเร็ว และใช้พื้นที่จัดเก็บหน้างานน้อยกว่างานคอนกรีตมาก


5. การจัดวางฟังก์ชั่นและเพิ่มพื้นที่ภายใน 

การออกแบบบ้านบนพื้นที่แคบนั้นสิ่งสำคัญคือ การลดความอึดอัดที่จะเกิดขึ้นในบ้านให้มากที่สุด ทำได้ด้วยการจัดแปลนแบบ ‘โอเพ่น แปลน’ (open plan) เพื่อลดการใช้ผนังในบ้าน เชื่อมพื้นที่ห้องต่างๆ ให้กลายเป็นห้องเดียวกัน แล้วแบ่งฟังก์ชั่นด้วยเฟอร์นิเจอร์ หรือถ้าอยากกั้นพื้นที่ก็เลือกใช้ม่านโปร่งหรือบานเฟี๊ยมกระจกเพื่อลดความอึดอัดก็ได้เช่นกัน และการใช้เหล็กรูปพรรณรีดร้อนเอง ก็ช่วยให้โครงสร้างของอาคาร (เสา – คาน) สามารถเล็กลงได้มากกว่าโครงสร้างคอนกรีต ฉะนั้นพื้นที่ภายในจึงดูโปร่ง โล่งสบายมากขึ้น แม้จะเล็กน้อยเพียงไม่กี่เซนติเมตรนี้ ก็มีผลกับพื้นที่ขนาดเล็กอย่างไม่น่าเชื่อ


6. ช่องเปิดก็สำคัญ  

การออกแบบขนาดและจำนวนช่องเปิดของบ้านในพื้นที่แคบนั้น เบื้องต้นถูกกำหนดมาจากกฎหมายการก่อสร้างอาคาร แต่การจะออกแบบบ้านในพื้นที่จำกัดให้อยู่สบายควรวางตำแหน่งช่องเปิดตามทิศทางลมผ่านและหลีกเลี่ยงทิศตะวันตกและใต้เพื่อกันความร้อนเข้าสู่บ้าน ทั้งนี้เพื่อช่วยให้บ้านถูกสุขลักษณะและช่วยระบายอากาศในบ้านไม่ให้อับชื้นแม้บ้านจะมีขนาดเล็กก็ตาม


7. ควบคุมระยะเวลาการก่อสร้างได้  

การก่อสร้างหน้างานหากใช้เวลาน้อยเท่าใด เท่ากับเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้นเท่านั้น สำคัญคือเรื่องวัสดุในการก่อสร้างที่นอกจากจะขนส่งสะดวกยังต้องก่อสร้างได้ง่ายและรวดเร็ว อย่างเช่นการใช้เหล็กรูปพรรณรีดร้อน เข้ามาเป็นส่วนประกอบของบ้าน เนื่องจากไม่ต้องรอเวลาเซ็ตตัวเหมือนคอนกรีต สามารถเชื่อมและประกอบได้อย่างรวดเร็วทำให้ปัจจัยความผิดพลาดลดลง คุมงานคุมเวลาได้มากขึ้น


8. ไม่ส่งผลกระทบต่อเพื่อนบ้าน 

เสียงและมลภาวะอันเกิดจากการก่อสร้าง โดยเฉพาะการก่อสร้างในพื้นที่แคบมักเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกกับเพื่อนบ้านเป็นประจำ อาจลองพิจารณาเหล็กรูปพรรณรีดร้อนมาเป็นโครงสร้างดู เนื่องจากโครงสร้างเหล็กน้ำหนักเบากว่าคอนกรีต ฐานรากจึงมีเสาเข็มน้อยกว่าโครงสร้างคอนกรีต รวมถึงเป็นการก่อสร้างระบบแห้ง ทำให้ลดปัญหาเสียงดังและมลภาวะที่จะรบกวนเพื่อนบ้านไปได้มาก


9. การเพิ่มพื้นที่ใช้สอยในพื้นที่จำกัด  

พื้นที่แคบก็ไม่จำเป็นที่พื้นที่ใช้สอยจะต้องน้อยตามไปด้วย โดยสามารถเพิ่มพื้นที่ใช้สอยได้ด้วยการเพิ่มความสูงให้บ้านนั่นเอง แต่การจะเพิ่มความสูงให้บ้านนั้นการใช้คอนกรีตหรือวิธีหล่อในที่มักมีวิธีการที่ยุ่งยากและเสียเวลากว่า ลองพิจาณาเหล็ก H Beam ที่มีคุณสมบัติสามารถทั้งได้ทำเสาและคาน เพราะคุณสมบัติของเหล็ก H Beam มีความยืดหยุ่น แข็งแรง รับน้ำหนักได้มากแต่ตัวโครงสร้างเองกลับมีน้ำหนักเบา ทำให้โครงสร้างที่เบาไม่เป็นภาระของฐานรากมากเกินไป