เหล็กรางน้ำกับการใช้ประโยชน์ในงานก่อสร้าง

ลักษณะหน้าตัดของเหล็กรางน้ำ หรือ Channel นั้นจะเป็นรูปตัวยู (U) ซึ่งจะมีส่วนเอว (Web) อยู่ชิดริมข้างหนึ่งระหว่างปีก (Flange) บนและล่าง ไม่ได้อยู่ตรงกึ่งกลางเหมือน H Beam ซึ่งในงานก่อสร้างเราสามารถนำเหล็กรางน้ำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายรูปแบบและยังเหมาะสำหรับการช่วยเสริมให้อาคารดูสวยงามลงตัวขึ้นอีกด้วย


“แม่บันได” ที่โชว์เส้นสาย

เหล็กรางน้ำมักจะถูกนำมาใช้เป็นแม่บันไดเพื่อโชว์ผิวเหล็กและให้เห็นความสวยงามของเส้นสายที่ต่อเนื่องไปจนถึงโครงสร้างพื้น ซึ่งเหมาะสำหรับงานที่ออกแบบให้แม่บันไดอยู่ด้านข้างเพื่อหันด้านที่เรียบเข้าสู่ตัวบันไดและหันปีกออกด้านนอก เพราะหากเลือกใช้หน้าตัดอื่น เช่น H-beam ปีกด้านในจะทำให้เสียพื้นที่ทางเดินไป และยังทำให้ตัวบันไดและพื้นชานพักดูเรียบเสมอกับหลังแม่บันไดอีกด้วย


“คาน” ตัวริมนอกของอาคาร

ในงานโครงสร้างเหล็ก เหล็กรางน้ำยังเหมาะสำหรับการใช้เป็นคานตัวริมนอกของอาคารโดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้เป็นเหล็ก H-beam เพราะคานตัวริมมีหน้าที่รับน้ำหนักจากพื้นเพียงแค่ฝั่งเดียว การใช้เหล็กรางน้ำจึงช่วยลดต้นทุนและน้ำหนักของโครงสร้างได้  โดยที่ยังแสดงเส้นขอบของตัวอาคารด้วยเส้นสายที่โมเดิร์นได้เช่นเดียวกับหน้าตัดแบบ H-beam อีกด้วย


“แปหลังคา” ในงานโครงสร้างขนาดใหญ่

เนื่องจากหน้าตัดของเหล็กรางน้ำมีความยาวของด้านลึกมากกว่าด้านกว้างเสมอและมีส่วนเอว( Web ) อยู่ชิดริมข้างหนึ่งระหว่างปีก ( Flange ) บนและล่าง ในแง่ของโครงสร้างทางวิศวกรรมเหล็กรางน้ำจึงเหมาะสำหรับการใช้เป็นโครงสร้างเพื่อรับแรงดัดที่มีแรงมากระทำไม่มาก เช่น โครงหลังคาโกดัง โรงงานในงานอุตสาหกรรม เหล็กรางน้ำจึงถูกนำมาใช้เป็นแปของหลังคาเพื่อความแข็งแรงในงานโครงสร้างขนาดใหญ่


โครง “façade” ตกแต่งอาคาร

นอกจากการนำมาใช้เพื่อเป็นโครงสร้างเสริมในรูปแบบต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น เหล็กรางน้ำยังเหมาะที่จะนำมาใช้เป็นส่วนประกอบเล็ก ๆ ในการตกแต่งอาคาร อย่างการนำมาใช้เป็นโครงของ façade เพื่อใช้ตกแต่งรูปด้านให้อาคารดูมีรายละเอียดที่สวยงามลงตัวด้วยเส้นสายที่ดูเรียบอย่างทันสมัยของเหล็ก และมีความคงทนแข็งแรงต่อการรับน้ำหนักวัสดุกรุผิวต่าง ๆ ในงานออกแบบอีกด้วย